data-ad-format="autorelaxed">
พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่าขอให้ประชาชนอย่าวิตกเรื่องน้ำว่าจะไม่พอใช้ในช่วงฤดูแล้งนี้ แต่ขอให้ร่วมมือใช้อย่างประหยัดโดยเฉพาะการขอให้ช่วยลดการทำนารอบที่3หรือนาปรังรอบทีี่2ซึ่งกรมชลประทานได้มีการจัดสรรน้ำไว้รองรับทั้งฤดูแล้งและต้นฤดูฝนแล้ว
ทั้งนี้ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือพื้นที่แล้งซ้ำซากเช่นเขื่อนลำตระคอง และเขื่อนอื่นๆมีน้ำใช้การน้อย ฝนจากพายุฤดูร้อนเข้าเขื่อนไม่มากเกรงว่าจะมีไม่พอใช้ตลอดฤดูแล้งที่เหลืออยู่ ได้สั่งการให้กรมฝนหลวงและการบินเกษตร ขึ้นปฏิบัติการทำฝนต่อเนื่องหากสภาพอากาศอำนวยขอให้ประชาชนอย่าตระหนก ซึ่งเขื่อนลำตะคอง มีปริมาณน้ำใช้การเทียบจากปี59 ในเวลาเดียวกันมีน้ำ 68 ล้านลบ.ม. ขณะนี้มีน้ำ 63 ล้านลบ.ม. ซี่งต่างกันไม่มาก ส่วนเขื่อนลำพระเพลิง ปีก่อนมีน้ำ 56 ล้านลบ.ม.และปีนี้มีมากขึ้น 68 ล้านลบ.ม. จึงยืนยันว่าไม่น่าหวั่นวิตกเพราะมีน้ำเพียงพอใช้ตลอดฤดูแล้งแน่นอน
นายสุรสีห์ กิตติมณฑล อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร กล่าวว่ารมว.เกษตรฯให้เร่งปฏิบัติการเติมน้ำต้นทุนโดยล่าสุดปรับแผนทำฝนหลวงได้ย้ายหน่วยฝนหลวง จ.บุรีรัมย์ มาช่วยจ.นครราชสีมา เพื่อเร่งทำฝนหลวงเติมน้ำเขื่อนลำตะคองและลำพระเพลิง และศูนย์ฝนหลวงภาคอีสาน จ.อุดรธานี ทำฝนหลวง ช่วยพื้นที่เกษตร เพิ่มน้ำเขื่อนลำปาว ศูนย์ฝนหลวงภาคตะวันออก จ.จันทบุรี ทำฝนหลวงให้พื้นเกษตร ในจังหวัดใกล้เคียง พื้นที่รับน้ำเขื่อนคลองสียัด และอ่างเก็บน้ำประแสร์ เพิ่มปริมาณน้ำใช้ในนิคมอุตสาหกรรมภาคตะวันออก และศูนย์ฝนหลวงภาคใต้ หน่วยฯ หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ทำฝนช่วยพื้นที่เกษตรและพื้นที่ลุ่มรับน้ำเขื่อนปราณบุรี ทั้งนี้ได้การทำฝนหลวง ที่ผ่านมามีฝนตกรวม45 จว.เพิ่มน้ำเข้าเขื่อน 71 ล้านลบ.ม.ซึ่งได้ผลน่าพอใจ
นายทองเปลว กองจันทร์ รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่าจากที่มีพายุฤดูร้อนเกิดขึ้นในช่วงวันที่ 13-30 มี.ค. มีฝนตกมากขึ้นโดยเฉพาะตอนบนของประเทศมีน้ำไหนเข้า 34 เขื่อนหลัก รวม 362 ล้านลูกบาศก์เมตร(ลบ.ม. )โดยแยกเป็นภาคเหนือ 61 ล้านลบ.ม. ภาคอีสาน 99 ล้านลบ.ม.ภาคกลาง 23 ล้านลบ.ม.ภาคตะวันตก 34 ล้านลบ.ม. ภาคตะวันออก 15 ล้านลบ.ม.และภาคใต้ 131 ล้านลบ.ม.
สำหรับสถานการณ์น้ำทั่วประเทศขณะนี้ มีปริมาณน้ำต้นทุนจากเขื่อนทั่วประเทศ 43,915 ล้านลบ.ม.หรือ 58% เป็นน้ําใช้การได้ 20,096 ล้านลบ.ม.39% มากกว่าปีก่อน รวม 7,473 ล้านลบ.ม.
อย่างไรก็ตามการเพาะปลูกยังเป็นไปตามแผนจัดสรรน้ำในช่วงฤดูแล้ง กรมชลฯจะส่งน้ำเข้าพื้นที่เกษตรเริ่มเพาะปลูกนาปี วันที่ 1 พ.ค. ได้ส่งหนังสือถึงปลัดกระทรวงมหาดไทย และผู้ว่าราชการ 22 จว.ลุ่มเจ้าพระยา ให้หน่วยงานต่างๆช่วยกันเร่งชี้แจงชาวนางดทำนารอบสาม จากปัญหาชาวนาปลูกข้าวนาปรังรอบเกินเป้าหมายแผนข้าวครบวงจร กว่า3 ล้านไร่ ได้ใช้น้ำเกินแผน700 ล้านลบ.ม.เพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายส่งผลกระทบแผนน้ำ จึงลดการระบายน้ำจาก4 เขื่อน เหลือ 33 ล้านลบ.ม.ต่อวัน เขื่อนภูมิพล 9 ล้านลบ.ม. เขื่อนสิริกิติ์ 15 ล้านลบ.ม. เขื่อนแควน้อย 4.5 ล้านลบ.ม. และเขื่อนป่าสักฯ 4.5 ล้านลบ.ม.ตั้งแต่ 1 เม.ย.- 30 เม.ย.จากเดือนมี.ค.ระบายน้ำ 40-56 ล้านลบ.ม.ต่อวัน
นายทองเปลว กล่าวว่าวางแผนการบริหารจัดการน้ำลุ่มเจ้าพระยา ในช่วงเดือนเม.ย. 60 เนื่องจากได้มีข้าวรอเก็บเกี่ยวข้าวรอบ2 เป็นจำนวนมากและเพิ่มอย่างต่อเนื่อง ได้ปรับแผนการรับน้ำเข้าพื้นที่ตอนบนของลุ่มเจ้าพระยาใหญ่ตั้งแต่ จ.นครสวรรค์ ขึ้นไป ในอัตรา 9.5 ล้านลบ.ม.ต่อวัน ส่งน้ำเข้าพื้นที่ระบบชลประทานลุ่มต่ำรองรับน้ำหลาก สำหรับการเพาะปลูกข้าวนาปี 2560/61 รอบที่1 โครงการส่งน้ำยม-น่าน โครงการส่งน้ำ พลายชุมพล และโครงการส่งน้ำเขื่อนนเรศวร จำนวน 2.65 แสนไร่ โครงการพัฒนาเกษตรพิษณุโลก โครงการส่งน้ำท่อทองแดง และชลประทานกำแพงเพชร รับน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคและรักษาระบบนิเวศเป็นครั้งคราว ในส่วนตอนล่างลุ่มเจ้าพระยาใหญ่ ตั้งแต่ นครสวรรค์ ลงมา ในอัตรา 23.5 ล้านลบ.ม.ต่อวัน
source: posttoday.com/biz/gov/488172