data-ad-format="autorelaxed">
พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า การวิเคราะห์พื้นที่ปฏิบัติการในการทำฝนหลวงปี 2560 แบ่งเป็น 2 ส่วนสำคัญ คือ
1. พื้นที่ที่มีความแห้งแล้ง ซึ่งได้หารือกับส่วนที่เกี่ยวข้องแล้ว พิจารณาจากทั้งน้ำอุปโภคบริโภค รักษาระบบนิเวศน์ พื้นที่การเกษตร โดยพื้นที่ในเขตชลประทานจะเน้นให้มีปริมาณน้ำต้นทุนเพียงพอ ขณะที่พื้นที่นอกเขตชลประทาน มี 105 อำเภอ ที่น้ำต้นทุนอาจจะไม่เพียงพอ ซึ่งกระทรวงฯ มี 6 มาตรการ 29 โครงการ พร้อมแผนเผชิญเหตุ เตรียมแก้ปัญหาในทันที
2.พื้นที่ที่เกิดปัญหาหมอกควัน กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นเจ้าภาพหลัก ก็จะขึ้นปฏิบัติการฝนหลวงในทันทีที่อากาศเอื้ออำนวย และ ไม่กระทบพื้นที่เกษตรกรรมที่กำลังเก็บเกี่ยวอยู่ โดยมีปริมาณหมอกควันที่เฝ้าระวังในพื้นที่ภาคเหนือ 9 จังหวัด คือ เชียงราย เชียงใหม่ ลำปาง ลำพูน แม่ฮ่องสอน น่าน แพร่ พะเยา และ ตาก
สำหรับแผนการปฏิบัติปี 2560 แบ่งเป็น 2 ช่วง คือ ช่วงมีนาคม – พฤษภาคม เน้นช่วยเหลือบรรเทาหมอกควัน และ ไฟป่าในพื้นที่ภาคเหนือ การเพิ่มความชุ่มชื้นที่ประสบภัยแล้ง และเติมน้ำในเขื่อนโดยเฉพาะที่มีน้ำต้นทุนน้อย อาทิ เขื่อนลำตะคอง เขื่อนลำพระเพลิง และช่วงเดือนมิถุนายน -ตุลาคม เน้นเติมน้ำต้นทุนในเขื่อนที่มีน้ำน้อย และ พื้นที่ฝนทิ้งช่วง
source: matichon.co.th/news/485446