data-ad-format="autorelaxed">
นับถอยหลังเหลือเวลาอีกไม่ถึง 3 สัปดาห์จะสิ้นสุดฤดูฝน(ฤดูฝนของไทยแบ่งตามการเพาะปลูกเริ่ม 1พ.ค.-31 ต.ค.ของทุกปี) แต่ในช่วงนี้เป็นประจำของทุกปีที่ในเดือนกันยายนถึงตุลาคมมักจะมีฝนตกชุก และจะมีปริมาณน้ำมาก หลายคนเริ่มห่วงและยังหลอนกับมหาอุทกภัยปี 2554 “ฐานเศรษฐกิจ” ฉบับนี้สัมภาษณ์พิเศษ “ณรงค์ ลีนานนท์” รองอธิบดีฝ่ายก่อสร้าง กรมชลประทาน ถึงสถานการณ์น้ำ รวมถึงการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ต่างๆ ที่กรมชลฯรับผิดชอบ ตลอดจนแผนงานและงบประมาณการสร้างแหล่งกักเก็บน้ำใหม่ๆ ในปีงบประมาณ 2560
ยันเอาอยู่-เร่งพร่องน้ำรับฝนชุก
“ณรงค์” กล่าวว่า จากที่กรมอุตุนิยมวิทยาและสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร คาดการณ์ว่าในช่วงระหว่างวันที่ 14-15 ตุลาคม 2559 จะมีฝนตกชุกกระจายในพื้นที่ภาคกลางตอนล่างและภาคตะวันออก อาจจะส่งผลให้ปริมาณน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยามีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ปัจจุบันเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ มีปริมาตรน้ำในเขื่อนอยู่ที่ 902 ล้านลูกบาศก์เมตร จากความจุประมาณ 960 ล้านลูกบาศก์เมตร จึงมีความจำเป็นที่จะต้องปล่อยน้ำให้ไหลผ่านเขื่อนพระราม 6 ในเกณฑ์ 600-700 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ซึ่งจะไม่กระทบต่อพื้นที่ด้านท้ายเขื่อนพระราม 6 ในเขตอำเภอท่าเรือ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ก่อนจะไหลไปรวมกับแม่น้ำเจ้าพระยา ปริมาณน้ำที่อำเภอบางไทร อยู่ในเกณฑ์ประมาณ 2,114 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ซึ่งเป็นปริมาณน้ำในเกณฑ์ปกติ และจะไม่ทำให้เกิดน้ำล้นคันกั้นน้ำเข้าไปท่วมในเขตชุมชนหรือพื้นที่เศรษฐกิจบริเวณจังหวัดปทุมธานี นนทบุรีและกรุงเทพฯ อย่างแน่นอน
แห่ปลูกข้าวแล้ว 16 ล้านไร่
“ในปีนี้ปริมาณน้ำฝนโดยเฉลี่ยของภาคกลางมากกว่าเกณฑ์เฉลี่ยประมาณ 5% แต่ถ้าเทียบกับทั่วประเทศฝนภาคกลางตกชุกมากกว่าเกณฑ์เฉลี่ยเทียบทั้งประเทศประมาณ 3-4 % เท่านั้น ไม่ได้มากนัก ส่วนจังหวัดที่ท่วมก็เป็นพื้นที่เสียหายเดิม ได้แก่ อุทัยธานี ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา ลพบุรีและ สุพรรณบุรี ซึ่งทางกรมได้เตือนล่วงหน้าหลายวันแล้วว่าน้ำจะเพิ่มสูงขึ้นอีกเล็กน้อย แต่บริเวณดังกล่าวเป็นชุมชน ไม่ใช่พื้นที่การเกษตร เรียกว่ายังไม่เสียหายจากการระบายในรอบนี้ ขณะที่แผนเพาะปลูกพืชในเขตชลประทานทั่วประเทศ ในช่วงฤดูฝนปี 2559 (1 พ.ค.-31 ธ.ค.59) รวม 16.62 ล้านไร่ แบ่งเป็น ข้าวนาปี พื้นที่ 15.93 ล้านไร่ ปัจจุบันปลูกไปแล้ว 14.77 ล้านไร่ คิดเป็น 92.1% ส่วนพืชไร่-พืชผัก มีแผนปลูก 0.69 ล้านไร่ ปลูกไปแล้ว 0.35 ล้านไร่ คิดเป็น 51.56%”
อย่างไรก็ดีจากที่มีฝนตกชุกในส่วนภาคเหนือตอนบน เหนือตอนล่าง ในบริเวณโครงการยม-น่าน มีการปลูกข้าวประมาณ 2.7 แสนไร่ คาดจะมีความเสียหายกว่า 6 หมื่นไร่ ส่วนด้านล่างยังไม่เสียหาย ปัจจุบันพายุแอรี่ ที่อยู่บริเวณใกล้ฮ่องกง ได้สลายเป็นดีเปรสชันไปแล้ว เรียกว่าหมดกำลังลงใน 1-2 วัน
จับตาพายุลูกใหม่ก่อตัว
“ณรงค์” กล่าวว่า ล่าสุดมีการก่อตัวของพายุอีก 1 ลูก ในทะเลหมู่เกาะฟิลิปปินส์ คาดอีกหลายวันกว่าจะทราบว่าเป็นพายุหรือไม่ และจะเข้าไทยหรือไม่ขณะนี้คอยฟังข่าวจากกรมอุตุนิยมวิทยาเพราะยังไม่ชัดเจนนัก ที่สำคัญเหลือเวลาอีกประมาณ 2 สัปดาห์จะสิ้นสุดฤดูฝน คาดการณ์ในภาพรวม 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา ได้แก่ ภูมิพล สิริกิติ์ ป่าสักชลสิทธิ์ และแควน้อยบำรุงแดน จะมีน้ำใช้การได้ 9 พัน-1.1 หมื่นล้านลูกบาศก์เมตร ถือว่าเป็นปริมาณน้ำสูงสุดในรอบ 3 ปี
“ในเบื้องต้นมีแผนจะให้พื้นที่ลุ่มต่ำ อาทิ อ.กงไกรลาศ ของจ.สุโขทัย อ.บางระกำ จ.พิษณุโลก และพระนครศรีอยุธยา เป็นต้น ให้ปลูกข้าวก่อนเดือนเมษายน เก็บเกี่ยวให้แล้วเสร็จในเดือนสิงหาคม หลังจากนั้นจะใช้พื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่รับน้ำในช่วงเดือนกันยายน-ตุลาคม ที่มีฝนตกชุกและมีน้ำหลาก ส่วนจะให้มีการปลูกข้าวนาปรังหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับคณะกรรมการ ซึ่งปีหน้าฤดูแล้งจะมีน้ำเพียงพอในการบริหารจัดการได้อย่างเต็มที่ ไม่ว่าจะเป็นน้ำใช้เพื่อเกษตรกรรม อุตสาหกรรม อุปโภคบริโภค และรักษาระบบนิเวศ”
4.9 หมื่นล.เพิ่มแหล่งน้ำ
สำหรับในปีงบประมาณ 2560 กรมชลประทานได้รับการจัดสรรงบประมาณจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์จำนวน 4.9 หมื่นล้านบาท (จากปีงบ 2559 ได้งบประมาณ 4.8 หมื่นล้านบาท) ซึ่งมีแผนงานที่จะดำเนินโครงการพัฒนาแหล่งน้ำที่สำคัญ อาทิ 1. โครงการพัฒนาลุ่มน้ำห้วยหลวงตอนล่าง จังหวัดหนองคาย ซึ่งเป็นความร่วมมือด้านวิชาการระหว่างรัฐต่อรัฐ หรือจีทูจี ระหว่างไทยกับสาธารณรัฐเกาหลี วงเงิน 2.1 หมื่นล้านบาท ระยะเวลาดำเนินโครงการ 9 ปี (2560-2569) สามารถเพิ่มพื้นที่ชลประทานได้ 319,195 ไร่ 2.โครงการอ่างเก็บน้ำน้ำปี้อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดพะเยา วงเงิน 3,981 ล้านบาท ระยะเวลาดำเนินโครงการ 6 ปี (ปี 2559-2564) เพื่อส่งน้ำให้พื้นที่ชลประทาน 2.8 หมื่นไร่ และ 3.โครงการประตูระบายน้ำศรีสองรัก จังหวัดเลย อยู่ระหว่างดำเนินการมีส่วนร่วมของประชาชน วงเงินโครงการ 5,000 ล้านบาท อยู่ในเขตอำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย เพิ่มพื้นที่ชลประทาน 7.25 หมื่นไร่ ระยะเวลาโครงการ 5 ปี (คาดก่อสร้างในปี 2561-2565)
นอกจากนี้ยังมีโครงการชลประทานขนาดกลางและขนาดเล็ก ในพื้นที่ 500-200 ไร่ กว่า 100 โครงการทั่วประเทศ ใช้งบประมาณกว่า 2,000 ล้านบาท จะสร้างตามแบบแผนที่เกษตร(Agri-Map) ซึ่งเป็นนโยบายของพล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ กล่าวคือ หากเป็นนาข้าว ทางกรมจะปล่อยน้ำไปตามคลอง แต่ถ้าเป็นพืชผัก ไม้สวน หรือพืชไร่ ใช้น้ำน้อย จะต่อใช้การต่อท่อไปให้ ซึ่งการจัดการในแบบนี้จะง่ายเพราะแต่ละจังหวัดมีแผนการบริหารจัดการในแบบนี้อยู่แล้ว ดังนั้นสิ่งที่สำคัญจะต้องทำความเข้าใจกับเกษตรกร เพื่อที่จะทำให้การจัดการโซนนิ่งเป็นไปตามนโยบายและเป้าหมาย ปัจจุบันพื้นที่ชลประทานมีประมาณ 30 ล้านไร่
วอเตอร์ฟุตพรินต์กีดกันตัวใหม่
“ทางสหภาพยุโรป กำลังจะมีการกีดกันการค้ารูปแบบใหม่ โดยใช้ วอร์เตอร์ฟุตพรินต์( water footprint) ซึ่งเป็นตัวชี้วัดปริมาณการใช้น้ำทั้งทางตรงและทางอ้อมเพื่อการใช้น้ำอย่างยั่งยืน โดยเริ่มตั้งแต่กระบวนการผลิตกระทั่งสินค้าไปถึงมือผู้บริโภค ซึ่งมีข้อกำหนดการใช้น้ำในการผลิตสินค้าเช่น มีการกำหนดปริมาณการใช้น้ำสำหรับการผลิตพืชและปศุสัตว์แต่ละชนิดไว้ เช่นการผลิตข้าวโพด 1 กิโลกรัมมีมาตรฐานการใช้น้ำ 0.01 ลิตร แต่ถ้าของไทยอาจใช้ถึง 3 ลิตรเป็นต้น ส่วนข้าว ผัก ผลไม้อื่นๆ ก็จะกำหนดค่าวอเตอร์ฟุตพรินต์ที่ต่างกัน โดยข้อมูลวอเตอร์ฟุตพรินต์บนฉลากสินค้าจะสร้างทางเลือกให้ผู้บริโภคในการเลือกซื้อสินค้า หากวันนี้เราไม่เตรียมการรองรับจะซ้ำรอยปัญหาประมงได้”
source: thansettakij.com/2016/10/14/105421