data-ad-format="autorelaxed">
ยกระดับเกษตรกร เข้าสู่ยุค 4.0
กลุ่มพาณิชย์จังหวัดภาคเหนือตอนล่าง 2 เด้งสนองนโยบาย One Roof เจ้ากระทรวง ยกระดับเกษตรกร ชาวนา-ชาวสวนสู่ยุค 4.0 เดินหน้าพัฒนาตลาดข้าวภาคเหนือตอนล่างเป็นตลาดข้าวปลอดภัย คุณภาพมาตรฐานสากล และสร้างมูลค่าเพิ่ม หนุนสร้างนักการตลาดข้าวมืออาชีพ พร้อมลิงค์สวนผลไม้สู่ท่องเที่ยวเชิงเกษตร
นายประธาน นรรัตน์ พาณิชย์จังหวัดนครสวรรค์หัวหน้ากลุ่มพาณิชย์จังหวัดภาคเหนือตอนล่าง2 (นครสวรรค์ กำแพงเพชร พิจิตร อุทัยธานี) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่าเพื่อสนองนโยบายนางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ที่ต้องการให้มีการรวมศูนย์การทำงานให้มาอยู่ภายใต้การทำงานของพาณิชย์จังหวัดหรือ One Roof ที่เพียงแห่งเดียว โดยต้องการให้พาณิชย์จังหวัดเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจภูมิภาค ทำงานให้สอดคล้องกับนโยบายพาณิชย์ 4.0 โดยเฉพาะการประเมินสถานการณ์ข้าวว่าจะมีวิธีการอย่างไรที่สามารถช่วยเหลือเกษตรกร รวมถึงดูแลราคาข้าวได้อย่างทันสถานการณ์นั้น
ล่าสุดกลุ่มพาณิชย์ภาคเหนือตอนล่าง2 ซึ่งเป็นแหล่งผลิตข้าวที่สำคัญของประเทศ มีพื้นที่เพาะปลูกข้าวนาปีฤดูกาลผลิต ปี 2559/2560 ประมาณ 4.82 ล้านไร่ และคาดว่าจะมีผลผลิตประมาณ 3.18 ล้านตันข้าวเปลือก ถือว่าเป็นผลผลิตมากเป็นอันดับ 1 ของประเทศ และยังเป็นศูนย์กลางธุรกิจข้าวที่สำคัญของประเทศอีกด้วย เช่น ข้าวขาว ข้าวหอมมะลิ และข้าวชุมชน (ข้าวไรซ์เบอร์รี่ ข้าวหอมนิล) ถือเป็นความได้เปรียบที่มีพันธุ์ข้าวที่หลากหลาย ดังนั้นทางกลุ่ม จึงได้กำหนดแนวทางการพัฒนาเกษตรกรสู่เกษตร 4.0 โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากโครงการพัฒนาจังหวัดในปีงบประมาณ 2560 ดำเนินโครงการส่งเสริมตลาดข้าวปลอดภัย และบรรจุโครงการของกลุ่มอยู่ในแผนพัฒนากลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนล่าง 2 ในปีงบประมาณ 2561
ทั้งนี้แผนการพัฒนาเกษตรกรสู่4.0 ประกอบด้วย การพัฒนาการผลิตเพื่อให้ได้ผลผลิตข้าวที่มีคุณภาพตามมาตรฐานสากล โดยร่วมมือกับศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวนครสวรรค์พัฒนาระบบการบริหารจัดการด้านคุณภาพตามแนวทางการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีและเหมาะสม (GAP) เพื่อให้ได้มาตรฐานข้าวปลอดภัย , การสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าข้าว โดยปรับเปลี่ยนจากการขายสินค้าโภคภัณฑ์เป็นการขายข้าวที่เป็นยา เป็นอาหารเพื่อสุขภาพ เป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร โดยร่วมมือกับสถาบันวิจัยต่าง ๆ และมูลนิธิสถาบันส่งเสริมสินค้าเกษตรนวัตกรรมในการนำผลงานวิจัยที่สามารถใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์มาสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าข้าวรวมถึงสร้างความหลากหลายในสินค้าข้าว และร่วมมือกับสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดในการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ และร่วมมือกับหอการค้าจังหวัดในการใช้ Brand เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม ซึ่งได้รับการสนับสนุนงบประมาณตามแผนพัฒนาจังหวัดในปีงบประมาณ 2560 ภายใต้โครงการส่งเสริมการใช้ตราสัญลักษณ์ผลิตภัณฑ์จังหวัดนครสวรรค์
นอกจากนี้การปรับบทบาทกลุ่มเกษตรกรให้เป็นนักการตลาดมืออาชีพ โดยการฝึกอบรมให้ความรู้โดยเฉพาะการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศในการทำตลาดอี-คอมเมิร์ซ โดยจะขอรับการสนับสนุนวิทยากรจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้ารวมไปถึงการสร้างการรับรู้ด้วยเครือข่ายความร่วมมือกับภาคเอกชนผู้ประกอบการ โดยนำผู้ประกอบการเข้าถึงแหล่งผลิต การจัดกิจกรรมส่งเสริมการตลาด ได้แก่ การจัดงานแสดงและจำหน่ายสินค้า เป็นต้น
นอกจากสินค้าข้าวแล้ว กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนล่าง 2 ยังมีสินค้าในกลุ่มอาหารที่สำคัญ ได้แก่ ผลไม้ (มะม่วง ส้มโอ กล้วยไข่) ที่สามารถพัฒนาในทำนองเดียวกับสินค้าข้าว ซึ่งจะได้จัดทำโครงการบรรจุไว้ในแผนพัฒนากลุ่มจังหวัด โดยจะมีการเชื่อมโยงกับการท่องเที่ยวมรดกโลกจากจังหวัดสุโขทัย –กำแพงเพชรเข้าสู่การท่องเที่ยวเชิงเกษตรต่อไป
” การเข้าสู่เศรษฐกิจ 4.0 เป็นสิ่งที่ต้องได้รับการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในระยะ 5 ปีแรก ถือเป็นระยะเวลาในการเตรียมความพร้อม ปรับเปลี่ยนพัฒนาสินค้าให้มีความแข็งแกร่ง ตามยุทธศาสตร์กระทรวงพาณิชย์และยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี โดยกระทรวงได้เตรียมจัดทำโปรแกรมพัฒนาพาณิชย์จังหวัดพลิกโฉมให้มีบทบาทนำและเป็นที่ปรึกษาของหน่วยงานภาครัฐและเอกชน”
source: thansettakij.com/2016/10/04/102782