data-ad-format="autorelaxed">
รับมือน้ำท่วม เหนือ อีสาน
กรมอุตุฯสั่งเฝ้าระวังพายุขึ้นเกาะไหหลำ หวั่นภาคเหนือ-อีสานน้ำท่วมฉับพลัน ด้าน “ฉัตรชัย” ลงพื้นที่พิษณุโลก รับมือน้ำท่วม ห่วงน้ำยมล้น พร้อมวางแผนรับมือปีหน้า ปรับเปลี่ยนเวลาเพาะปลูกหนีน้ำหลาก ปรับปรุงสะพานไม่ให้กีดขวางทางน้ำ พร้อมปรับแผนระบบชลประทาน
นายวันชัย ศักดิ์อุดมไชย อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ต้นเดือนตุลาคมจะมีพายุมาจากทางเกาะไหหลำ จะส่งผลทำให้ประเทศไทยบริเวณภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือหรือภาคอีสานมีฝนตกหนัก อาจจะส่งผลกระทบทำให้มีน้ำท่วมในหลายจังหวัด ทางกรมกำลังจับตาพายุลูกนี้อยู่ ว่าจะส่งผลกระทบไทยมากน้อยเพียงใด
ด้าน พล.อ. ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมการป้องกัน/ช่วยเหลือน้ำหลากจากแม่น้ำยม ในพื้นที่ จ.สุโขทัย และ จ.พิษณุโลก ณ ต.ชุมแสงสงคราม อ.บางระกำ จ.พิษณุโลก ( 20 ก.ย.59) ว่า นายกรัฐมนตรีมีความห่วงใยสถานการณ์น้ำหลาก จึงได้มอบหมายให้ลงพื้นที่ติดตามและบูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมการแก้ปัญหาทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ซึ่งในปีที่ผ่านมาเกิดน้ำหลากที่อ.ศรีสัชนาลัย ถึง 2 ครั้ง แต่แม่น้ำยม อ.เมือง จ.สุโขทัย สามารถรับน้ำได้ประมาณ 550 ลูกบาศก์เมตร/วินาที ซึ่งทั้ง 2 ครั้งที่ผ่านมาสามารถผันน้ำส่วนเกินสู่แม่น้ำน่านผ่านที่ลุ่มต่ำ คือ อ.บางระกำ จ.พิษณุโลก โดยไม่มีพื้นที่ได้รับความเสียหาย
ส่วนการคาดการณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยา พบว่า จะมีร่องความกดอากาศต่ำพาดผ่านพื้นที่บริเวณภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จะทำให้มีฝนตกหนักในพื้นที่ภาคเหนือตอนล่าง โดยในส่วนของแม่น้ำยมคาดว่าฝนที่ตกใน จ.พะเยา แพร่ และสุโขทัย จะมีน้ำหลากประมาณ 1,000 ลูกบาศก์เมตร/วินาที ถึงแม่น้ำยมช่วง อ.ศรีสัชนาลัย จ.สุโขทัย ประมาณวันที่ 22 – 23 กันยายน ที่จะถึงนี้ จึงได้มีการประชุมเตรียมการป้องกันน้ำหลากให้พร้อมก่อนวันที่ 21 กันยายน โดยมอบให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันบูรณาการ ได้แก่ การซ่อมแนวคันกั้นน้ำ อ.เมือง จ.สุโขทัย ให้สามารถรับน้ำได้ การป้องกันพื้นที่เกษตรกรรมที่ยังไม่เก็บเกี่ยว โดยระดมรถตักเสริมคันกั้นน้ำ รวมถึงการประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างความเข้าใจแก่ประชาชนด้วย
สำหรับการดำเนินการแก้ไขปัญหาในระยะยาว เพื่อให้สามารถรองรับน้ำหลากจาก อ.ศรีสัชนาลัย ได้แก่ 1) การปรับเปลี่ยนการเพาะปลูก โดยให้เริ่มเพาะปลูกตั้งแต่เดือน เมษายนและเก็บเกี่ยวให้แล้วเสร็จก่อนเดือนสิงหาคม ซึ่งจะทำเป็นบันทึกความเข้าใจ (MOU) ระหว่างผู้ว่าราชการจังหวัด หน่วยงานในกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รวมถึงผู้แทนกลุ่มเกษตรกรในพื้นที่ รวมพื้นที่ลุ่มต่ำทั้งหมด 244,820 ไร่ ใช้น้ำรวม 155 ล้านลูกบาศก์เมตร 2) กรมทางหลวงและการรถไฟแห่งประเทศไทย จะดำเนินการปรับปรุงสะพานเพื่อไม่ให้กีดขวางทางน้ำในคลองยม-น่าน สะพาน จำนวน 4 แห่ง เพื่อให้น้ำสามารถไหลได้จาก 88 ลูกบาศก์เมตร./วินาที เป็น 200 ลูกบาศก์เมตร/วินาที
3) กรมชลประทานจะใช้งบประมาณและการปรับแผนงานในปี 2560 ดำเนินการก่อสร้างคลองชักน้ำแม่น้ำยมฝั่งขวา (คลองสุชน-คลองตะโม่) เข้าสู่แก้มลิงซึ่งอยู่ที่ดอน จำนวน 3 แห่ง คือ บึงตะแครง บึงระมาณ และบึงขี้แร้ง และ 4) หน่วยงานอื่น ๆ ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์จะมีการบูรณาการร่วมกัน เช่น กรมประมง และกรมปศุสัตว์ เป็นต้น
“ได้เน้นย้ำเรื่องเครื่องมือแจ้งเตือนต่าง ๆ ต้องมีความพร้อมในการใช้งาน และให้ส่วนที่เกี่ยวข้อง ติดตามสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง เพื่อที่จะสามารถเตรียมการป้องกันได้ โดยขอความร่วมมือจากทุกภาคส่วนด้วย”
source: thansettakij.com/2016/09/23/99939