data-ad-format="autorelaxed">
ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงคำๆ นี้ เราได้ยินกันมานานจนคุ้นหู..แต่จะมีสักเท่าไหร่กันที่เข้าใจจริง?
ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เป็นแนวการดำรงชีวิตอยู่ด้วยการปฏิบัติตนในทางสายกลาง โดยมีพื้นฐานมาจากวิถีชีวิตดั้งเดิมของสังคมไทย สามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้ตลอดเวลา และเป็นการมองโลกเชิงระบบที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา มุ่งเน้นการรอดพ้นจากภัยและวิกฤติ เพื่อความมั่นคงและความยั่งยืนของการพัฒนา ซึ่งความพอเพียงหมายถึง ความพอประมาณ ความมีเหตุผล รวมถึงความจำเป็นที่จะต้องมีระบบภูมิคุ้มกันในตัวที่ดี และต้องประกอบไปด้วยสองเงื่อนไข คือ ความรู้ และคุณธรรม
“บ้านดอนตะโหนด อำเภอค่ายบางระจัน จังหวัดสิงห์บุรี” เป็นอีกหมู่บ้านหนึ่งที่น้อมนำปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาปรับใช้จนคนในชุมชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ไม่มีหนี้สินนอกระบบ พึ่งพาตนเองได้ โดยนายเอกศักดิ์ ทองคำ ผู้ใหญ่บ้านดอนตะโหนด เล่าให้ฟังว่า หมู่บ้านดอนตะโหนดเป็นหมู่บ้านเล็ก ๆ มีจำนวนครัวเรือน 74 ครัวเรือน ซึ่งกว่าที่จะมาเป็นหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง กรมการพัฒนาชุมชน โดยสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดสิงห์บุรี และสำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอค่ายบางระจัน ได้เข้ามาช่วยเหลือหมู่บ้าน ตั้งแต่ ปี 2537 จากโครงการแก้ไขปัญหาความยากจน หรือเรียกว่า กข.คจ. ดำเนินการในการแก้ไขปัญหาความยากจนให้แก่ชาวบ้านในชุมชน และเริ่มสนับสนุนให้เกิดการจัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตในปี 2538 จนปัจจุบันนี้เรามีทุนสะสมจำนวนกว่า 5 ล้านบาท เป็นทุนที่ชุมชนออมกันเอง และในส่วนของหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง เริ่มดำเนินการเมื่อปี 2552 โดยพัฒนากรจากสำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอค่ายบางระจัน ได้เข้ามาส่งเสริมสนับสนุนเรื่องปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง มีการเรียนรู้ด้วยตัวเองเรื่องรายรับรายจ่าย จดบันทึกบัญชีครัวเรือน เรียนรู้ทฤษฎีโอ่ง การจัดทำแผนชุมชน มาดูปัญหาของหมู่บ้านต้องการอะไร มีการทบทวนศักยภาพชุมชน ตลอดจนแนวทางการพัฒนาเป็นอย่างไรได้บ้าง เมื่อสำนักงานพัฒนาชุมชนเข้ามาแล้ว หน่วยงานอื่น ๆ ก็ตามมา อาทิ เกษตร กศน. ประมง พัฒนาที่ดิน และ ธกส. ช่วยทำให้หมู่บ้านมีงบประมาณจัดสร้างสถานที่ มีเครื่องมือ เครื่องจักรต่าง ๆ และมีสภาพชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้นจนถึงปัจจุบัน
นอกจากนี้ หมู่บ้านยังมีโรงสีข้าวชุมชน ซึ่งเกิดจากแนวคิดของชาวบ้านที่มีอาชีพการเกษตรทำไร่ทำนา อยากจะให้คนปลูกข้าวเก็บข้าวเปลือกไว้สีเป็นข้าวสารไว้กินเอง ไม่ต้องไปซื้อข้าวสารจากโรงสี จึงเกิดเป็นโรงสีชุมชนขึ้นมาไว้บริการในหมู่บ้าน และนอกหมู่บ้าน ต่อยอดจากโรงสีชุมชนก็พัฒนาเป็นกลุ่มข้าวปลอดสารพิษ หรือเกษตรอินทรีย์ ไม่ใช้สารเคมีในการกำจัดศัตรูพืชต่าง ๆ ในปัจจุบันเราเป็นรัฐวิสาหกิจชุมชนที่สีข้าวออกจำหน่าย โดยมีข้าวไรซ์เบอรี่ ข้าวหอมมะลิ 105 ข้าวหอมมะลิแดง ข้าวหอมปทุม
นอกจากนี้ยังมีกลุ่มผักปลอดสารพิษที่สมาชิกส่งออกจำหน่ายทั้งในชุมชน และส่งให้ตัวแทนเข้าไปจำหน่ายในจังหวัด และกรุงเทพมหานคร จนกระทั่งในปี 2553 หมู่บ้านได้เข้าประกวดโครงการเชิดชูเกียรติ ได้รับโล่รางวัลพระราชทานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
จากการเรียนรู้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ตอนนี้เราพยายามที่จะพึ่งตนเองให้มากที่สุด ปลูกข้าวแล้วก็สีข้าวกินเอง เรื่องของโครงสร้างพื้นฐาน เรื่องของทุนชุมชน เงินทุนการทำเกษตรในการลงทุนต่างๆ จะใช้ทุนที่มีอยู่ในหมู่บ้าน จนปัจจุบันนี้เราพึ่งตนเองได้ระดับหนึ่งดีกว่าเมื่อก่อน และชาวบ้านเกิดความรักความสามัคคีเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน ในอนาคตเราหวังว่าจะเป็นหมู่บ้านเกษตรปลอดสารพิษ เพื่อให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร อาจเป็นที่พักโฮมสเตย์ ฟาร์มสเตย์ ให้กับผู้บริโภคที่กินผักในเมือง เข้ามาเยี่ยมชม
เรียกได้ว่า “หมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงบ้านดอนตะโหนด” เป็นชุมชนที่ประสบความสำเร็จ จากการเรียนรู้ และเข้าใจในทฤษฎีปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง จนถึงการนำไปปรับใช้จนคนในชุมชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นจากการแนะนำของกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย
ขอบคุณข้อมูลจาก กรมการพัฒนาชุมชน