data-ad-format="autorelaxed">
ระบบตรวจสอบเพื่อก้าวไปสู่การพัฒนา
ในการเข้าไปส่งเสริมการพัฒนาชุมชน จำเป็นต้องมีแผนในการรองรับปัญหาต่างๆ ที่มีความสลับซับซ้อน และเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ซึ่งการแก้ปัญหาจำเป็นต้องมีความรอบคอบ มองถึงผลกระทบรอบด้าน ต้องอาศัยความรอบรู้ และความร่วมมือร่วมใจจากทุกฝ่าย เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ร่วมกัน ทั้งกระบวนการความคิด ร่วมทำ การสรุปบทเรียน ซึ่งจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อทุกคนยอมรับซึ่งกันและกัน และการรวมตัวของของคนในชุมชนซึ่งมาจากหลากหลายครอบครัว ต่างมุมมอง ต่างความคิด ทำให้เกิดทัศนคติที่หลากหลายซึ่งจะมีคุณค่ามากเมื่อเรานำสิ่งนั้นมาแชร์กัน เพราะองค์ความรู้ และประสบการณ์ของแต่ละคนคือการเสริมพลังซึ่งกันและกัน สร้างโอกาสให้ทุกคนสามารถเรียนรู้และพัฒนาตนเองได้อย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ยังต้องสร้างการบริหารจัดการร่วมกัน เพื่อสร้างความเข้มแข็งของชุมชนฐานราก ให้ชุมชนท้องถิ่นมีสิทธิ หน้าที่ และบทบาทในการจัดการทรัพยากรสาธารณะมากขึ้น ทำให้ชุมชนจะต้องมี “แผนชุมชน” โดยคนในชุมชนได้มาร่วมกันคิด ร่วมกำหนดแนวทางและกิจกรรมการพัฒนาของชุมชนโดยยึดหลักการพึ่งพาตนเองลดการพึ่งพิงภายนอกด้วยการคำนึงถึงศักยภาพทรัพยากรภูมิปัญญาวิถีชีวิตวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อมในท้องถิ่นเป็นหลักซึ่งบางกิจกรรมที่ชุมชนไม่สามารถทำเองได้ก็สามารถขอรับการสนับสนุนจากหน่วยงานภายนอกได้โดยชุมชนเสนอแผนชุมชนเข้าเป็นแผนงาน/โครงการของราชการได้ แต่ทั้งนี้ “แผนชุมชน” ซึ่งกรมการพัฒนาชุมชน ได้ดำเนินการส่งเสริมกระบวนการจัดทำแผนชุมชนในระดับหมู่บ้าน และตำบล มาตั้งแต่ปี ๒๕๔๖ พร้อมทั้งได้มีการประเมินคุณภาพแผนเพื่อให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหรือหน่วยงานภาคียอมรับเห็นความสำคัญแล้วนำไปสู่การวางแผนพัฒนาหมู่บ้าน/ชุมชนต่อไป
กรมการพัฒนาชุมชน จึงได้เริ่มส่งเสริมระบบมาตรฐานแผนชุมชน ตั้งแต่ปี ๒๕๕๑ โดยร่วมกับ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ผู้นำชุมชนและภาคี การพัฒนาออกแบบระบบการตรวจสอบรับรองตัวชี้วัด/เกณฑ์ เพื่อมอบให้จังหวัดใช้ตรวจสอบรับรอง โดยได้ทดสอบตัวชี้วัด/เกณฑ์ครบทั้งทุกภูมิภาค และปรับแก้ไข เพื่อให้เหมาะสมกับภูมิสังคมในแต่ละพื้นที่ โดยได้กำหนดเกณฑ์เพื่อรับรองมาตรฐานแผนชุมชน อันประกอบด้วย
๑. การนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ส่งเสริมให้เกิดการพึ่งตนเองมีกิจกรรมที่มีลักษณะเป็นการช่วยเหลือซึ่งกันและกันของคนในชุมชน รวมทั้งช่วยเหลือชุมชนอื่น มีกิจกรรมส่งเสริมให้คนในหมู่บ้านเก็บออมเงินในรูปแบบต่างๆ มีภูมิคุ้มกันชุมชน มีภูมิปัญญาชาวบ้าน และมีการอนุรักษ์ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของชุมชน
๒. การมีส่วนร่วมของคนในหมู่บ้าน/ชุมชน การมีส่วนร่วมของหน่วยงานภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ องค์กรเอกชน
๓. กระบวนการเรียนรู้ อย่างเช่น มีการใช้เวทีประชาคมในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างคนในหมู่บ้าน และถ่ายทอดความรู้ของปราชญ์ชาวบ้าน มีการทบทวน จัดการความรู้กระบวนการจัดทำแผนชุมชนของ ชุมชน เพื่อปรับปรุงให้แผนมีประสิทธิภาพ
๔. การใช้ประโยชน์ ซึ่งจะพิจารณาจำนวนกิจกรรมตามแผนชุมชนที่สามารถนำมาปฏิบัติได้จริง
๕. รูปเล่มของแผนชุมชน คือ มีข้อมูลแสดงให้เห็นถึงศักยภาพของชุมชน หรือสภาพปัญหาที่ชุมชน ประสบอยู่ รวมถึงมีข้อมูลแสดงแนวทางการแก้ไข การพัฒนาของหมู่บ้าน มีกิจกรรมเพื่อแก้ไขปัญหาและพัฒนาหมู่บ้าน และมีการปรับปรุงแผนชุมชนอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง
สำหรับวิธีการดำเนินการรับรองมาตรฐานแผนชุมชน ซึ่งทางจังหวัดจะมอบหมายคณะกรรมการสนับสนุนการขับเคลื่อน การจัดทำแผนชุมชนระดับจังหวัด ทำหน้าที่คณะกรรมการรับรองมาตรฐานแผนชุมชนจังหวัด โดยคณะกรรมการรับรองมาตรฐานแผนชุมชนจังหวัด แต่งตั้งคณะทำงานประเมินมาตรฐานแผนชุมชนจังหวัด ออกประเมินมาตรฐานแผนชุมชนตามที่หมู่บ้าน/ชุมชน สมัครเข้ารับการรับรอง และเสนอผลการประเมินมาตรฐานแผนชุมชนให้คณะกรรมการรับรองมาตรฐานแผนชุมชนจังหวัดพิจารณาและรับรองมาตรฐาน หลังจากนั้นจังหวัดจึงจัดทำประกาศจังหวัดรับรองมาตรฐานแผนชุมชน โดยแผนชุมชนที่ผ่านการรับรองมาตรฐานจะมีระยะเวลาความเป็นมาตรฐาน 2 ปี นับจากวันที่ประกาศ
“ระบบรับรองมาตรฐานแผนชุมชน” นับว่าเป็นภารกิจสำคัญที่กรมการพัฒนาชุมชนได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า หมู่บ้านหรือชุมชนใดก็ตามที่มีแผนชุมชนที่เข้าสู่ระบบรับรองมาตรฐานแผนชุมชนแล้ว ถือว่าแผนชุมชนดังกล่าวได้ถูกยอมารับและนำไปใช้เป็นแนวทางในการบริหารจัดการชุมชนอย่างมีประสิทธิผลนำไปสู่การแก้ไขปัญหาตามความต้องการของชุมชนอย่างแท้จริง
ขอบคุณข้อมูลจาก กรมพัฒนาชุมชน