data-ad-format="autorelaxed">
ตามที่คณะกรรมการกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร ได้มีการประชุม ครั้งที่ 2/2559 วันที่ 13 พฤษภาคม 2559 เห็นชอบขออนุมัติใช้งบกลางเพื่อใช้แก้ไขปัญหาหนี้เร่งด่วนของเกษตรกร จำนวน 3 พันล้านบาท ซึ่งต้องเร่งเตรียมเรื่องนำเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรีภายในเดือนพฤษภาคม 2559
นายวัชระพันธุ์ จันทรขจร เลขาธิการสำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร (กฟก.) เปิดเผยว่า จากกรณีที่ กฟก. โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในขณะนั้น (นายปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา) ได้เสนอรองนายกรัฐมนตรี (ม.ร.ว.ปรีดียาธร เทวกุล) ประธานกรรมการกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร ในขณะนั้น เรื่องขออนุมัติใช้งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เพื่อใช้ในการแก้ไขปัญหาหนี้ของเกษตรกร จำนวน 3 พันล้านบาท ซึ่งหลังจากนั้นกรรมการ กฟก. ได้หมดวาระลง จึงรอให้มีคณะกรรมการ กฟก. ครบถ้วนก่อน แล้วค่อยนำเรื่องเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการ กฟก. ก่อนนำเสนอ ครม. จากนั้นคณะกรรมการรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ได้พิจารณาเรื่องการกำหนดกรอบงบประมาณให้กองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร เพื่อแก้ไขปัญหาหนี้เร่งด่วนให้แก่เกษตรกร มีมติมอบให้รองนายกรัฐมนตรี (ม.ร.ว.ปรีดียาธร เทวกุล) ในฐานะประธานกรรมการกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร เร่งรัดให้จัดการเลือกตั้งคณะกรรมการกองทุนฟื้นฟูฯ ให้แล้วเสร็จภายในเดือนมิถุนายน หลังจากนั้นคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2558 รับทราบมติคณะกรรมการรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ เรื่อง การกำหนดกรอบงบประมาณให้กองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร เพื่อแก้ไขปัญหาหนี้เร่งด่วนให้แก่เกษตรกร ซึ่งขณะนี้ กฟก.มีบอร์ดครบทั้ง 3 คณะ ได้แก่ คณะกรรมการกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร คณะกรรมการบริหารกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร และคณะกรรมการจัดการหนี้ของเกษตรกร ครบถ้วนตามกฎหมายแล้ว
จากการประชุมคณะกรรมการกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรในครั้งนี้ นายธีรภัทร ประยูรสิทธิ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะกรรมการกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร ร่วมแถลงข่าวในครั้งนี้ด้วย โดยที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบเสนอคณะรัฐมนตรี เพื่อขออนุมัติใช้งบกลางเพื่อใช้แก้ไขปัญหาหนี้เร่งด่วนของเกษตรกร จำนวน 3 พันล้านบาท พร้อมทั้งได้ตรวจสอบคุณสมบัติของเกษตรกรสมาชิก วัตถุประสงค์การกู้ยืม สถานะหนี้ มูลหนี้ และหลักประกัน กับสถานบันการเงินเจ้าหนี้เพื่อให้ถูกต้องตามระเบียบ กฎหมาย เพื่อเตรียมการจัดการหนี้ให้เกษตรกร รวม 19,494 ราย เป็นเงิน 3 พันล้านบาท หลังจากนี้ สำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร จะเร่งดำเนินการดังกล่าวเสนอ ครม. พิจารณาอนุมัติต่อไป นอกจากนี้ คณะกรรมการกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร ได้มีมติเห็นชอบรายชื่อเกษตรกรสมาชิกที่ขอขึ้นทะเบียนเกษตรกร กรณีลูกหนี้ ธ.ก.ส. และ สหกรณ์ ระหว่างเดือนมิถุนายน 2557– เดือนมีนาคม 2559 จำนวน 73 จังหวัด จำนวน 9,490 ราย จำนวน 19,440 บัญชี จำนวนเงิน 2,229,899.50 บาท ซึ่งเกษตรกรจำนวนดังกล่าวจะได้รับการจัดการหนี้ตามมาตรา 37/3 (1) และระเบียบ ประกาศ มติที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งเห็นชอบแผนการใช้จ่ายงบประมาณประจำปี 2559 ซึ่งจะทำให้การใช้จ่ายเงินงบประมาณของสำนักงานกองทุนฟื้นฟูฯ ทั้งในด้านการฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร การแก้ไขปัญหาหนี้ของเกษตรกรเป็นไปด้วยความคล่องตัว โดยมีกรอบแนวทางในการดำเนินงานอย่างถูกต้อง
ขอบคุณข้อมูลจาก สำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร(กฟก.)