data-ad-format="autorelaxed">
รัฐบาล พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีนโยบายชัดเจนในการลดความเหลื่อมล้ำในสังคม โดยมุ่งสร้างความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจฐานราก เพื่อเป็นฐานในการพัฒนาประเทศในภาพรวมผ่านกิจกรรม/โครงการต่างๆ โดยหนึ่งหน่วยงานที่มีภารกิจขับเคลื่อนนโยบายไปสู่การปฏิบัติ คือ กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย ซึ่งตลอดระยะเวลา 6 เดือนที่ผ่านมา (ตุลาคม 2558 – มีนาคม 2559) มีผลการปฏิบัติที่เป็นรูปธรรมที่ชัดเจนใน 7 ประเด็นหลัก ประกอบด้วย
1. ผลิตภัณฑ์ชุมชน OTOP ตอบโจทย์เศรษฐกิจฐานราก
1.1 OTOP ตลาดนายก (คลองผดุงกรุงเกษม) ขนาดของงานใกล้เคียง OTOP จังหวัด แต่ปรับปรุงแบบใหม่แยกเป็นโซนให้โดดเด่น และผสมผสานจนลงตัว สร้างชื่อเสียงให้กรมฯ และได้ยอดการจำหน่ายสูงถึง 74 ล้านบาท (จากยอดเฉลี่ยจัดงาน 20 ล้านบาท) ทั้งให้เป็นต้นแบบขยายผล รูปแบบการจัดงาน OTOP ทุกจังหวัด
1.2 OTOP CITY ปรับงานแบบพลิกโฉมให้ทันสมัยเป็น OTOP NEXT 2.0 มีแฟนพันธ์แท้เพิ่มขึ้นทั้งไฮโซ และเยาวชนรุ่นใหม่ รวมสถิติคนเข้าชมงานมากถึง 508,807 คน สร้างรายได้มากเป็นประวัติการณ์ 1,004.8 ล้านบาท
1.3 ยกระดับ OTOP เน้น 1-3 ดาว ให้ขายได้เพื่อช่วยสมาชิกใหม่ให้มีรายได้มากขึ้นและไม่ทิ้ง OTOP 4-5 ดาว ที่ต้องนำไปสู่ OTOP Brand name
1.4 ครั้งแรกกับ OTOP ขึ้นเครื่องบิน ร่วมกับการบินไทย และ King Power ยกระดับนำสินค้าที่ผ่านการพัฒนาแล้วขายบนเครื่องบิน 128 รายการ เริ่มเปิดตัวในวันที่ 1 พฤษภาคม 2559 และเปิดขายร้าน OTOP ที่สนามบินสุวรรณภูมิ วันที่ 1 กรกฎาคม 2559 ผลิตภัณฑ์จากภูมิปัญญาไทย บินไกลไปทั่วโลก
2. บริหารจัดการร้านประชารัฐสุขใจ Shop ในสถานีบริการน้ำมัน ปตท. ทั่วประเทศ จำนวน 148 ร้านค้า อีกช่องทางหนึ่งของการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ OTOP อย่างถาวร ประมาณการรายได้เฉลี่ย ปีละ 100 ล้านบาท
3. ก้าวไปข้างหน้าพัฒนาบทบาทสตรี รับโอนงานกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี จากสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี มาบริหารเองโดยตรง ต้องขับเคลื่อนกองทุนที่มีสมาชิกถึง 10,208,960 ล้านคน และมีงบประมาณอยู่ 7,988 ล้านบาท ให้เกิดประโยชน์และผลสัมฤทธิ์ช่วยเหลือสตรีอย่างแท้จริง
4. ขยายผลเพิ่มหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงอย่างทวีคูณและเป็นรูปธรรมถึง 23,589 หมู่บ้าน โดยสร้างแผนชุมชนและพัฒนาหมู่บ้าน โดยประสานขอใช้งบจากสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี จำนวน 471 ล้านบาท
5. ปรับการทำงานของกรมในแนวใหม่ โดยทำงานร่วมกับเอกชนรายใหญ่ ในงานพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากและประชารัฐ เป้าหมายเพื่อ “สร้างรายได้ให้ชุมชน ประชาชนมีความสุขอย่างยั่งยืน” โดยจัดตั้งบริษัทประชารัฐรักสามัคคี จำกัด ในรูปแบบวิสาหกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise) ขึ้น และสร้างชุมชนที่เข้มแข็งในทุกจังหวัดและส่วนกลาง
6. พัฒนากรทันสมัย ร่วมมือสถาบันปัญญาภิวัฒน์ เติมองค์ความรู้ให้กับพัฒนาการอำเภอ และพัฒนากรทุกจังหวัด โดยจัดทำหลักสูตรเฉพาะเพื่อปรับทิศทางการพัฒนาของพัฒนากร ให้มุ่งเน้นช่วยเหลือเศรษฐกิจฐานรากของประชาชนและการทำงานให้มีลักษณะ Area Base รวมถึงการจัดสรรเบี้ยเลี้ยงพัฒนากรทุกคนและนักวิชาการ จาก 9 วัน เพิ่มเป็น 12 วัน เป็นเงิน 2,880 บาท ต่อเดือน
7. สร้างการบูรณาการร่วมกับกรมอื่นๆ โดยรับเป็นเจ้าภาพหลักใน Agenda สำคัญของรัฐบาล ในเรื่องการพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก เน้นให้กรมการพัฒนาชุมชนได้รับงบประมาณแบบก้าวกระโดด ในปีงบประมาณ 2560 เพิ่มขึ้นมาเป็น 7,789,948,400 ล้านบาท เพิ่มจากปี 2559 มากถึง 50.34% เน้นให้สามารถขยายขอบเขตงานของกรมฯ ในการช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ให้กระจายตัวอย่างกว้างขวางและครอบคลุมมากขึ้น
การขับเคลื่อนงานอย่างทุ่มเทและเอาจริงเอาจังของกรมการพัฒนาชุมชน ภายใต้การนำของอธิบดีอภิชาติ โตดิลกเวชช์ ส่งผลอย่างเป็นรูปธรรม และหลายกิจกรรมดำเนินไปอย่างต่อเนื่องเพื่อนำความสุขคืนสู่ประชาชนตามเป้าหมายของรัฐบาล
ขอบคุณข้อมูลจาก กรมการพัฒนาชุมชน