วันที่ 23 กรกฎาคม มีการประชุมคณะอนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำ จาก 10 หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยมี นายทองเปลว กองจันทร์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารจัดการน้ำและอุทกวิทยา กรมชลประทาน เป็นประธานการประชุม เพื่อร่วมประเมินสถานการณ์น้ำของประเทศ
โดย นายทองเปลว เปิดเผยหลังการประชุมว่า กรมอุตุนิยมวิทยาได้รายงานสภาวะฝนว่า ขณะนี้ร่องมรสุมในภาคเหนือของไทย ยังเคลื่อนตัวขึ้นลงทำให้มีฝนต่อเนื่องไปจนถึงเดือนสิงหาคม แต่อาจไม่มากเท่าสัปดาห์ที่ผ่านมา ขึ้นอยู่กับร่องมรสุมว่าจะแช่อยู่ในไทยนานหรือไม่ ถ้านานก็ได้ฝนมากขึ้น ขณะที่ปริมาณน้ำในลำน้ำต่างๆ ยังค่อนข้างน้อย ทั้งในแม่น้ำ ปิง ยมและน่าน ส่วนแม่น้ำโขงระดับน้ำดีขึ้น ปริมาณน้ำสูงขึ้นตั้งแต่ จ.เชียงราย ถึง จ.มุกดาหาร
สำหรับปริมาณภาพรวมน้ำไหลเข้าเขื่อนหลัก 4 แห่งของลุ่มน้ำเจ้าพระยา ถือว่าดีขึ้น มีน้ำไหลเข้าเฉลี่ยวันละประมาณ 10 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) เมื่อเทียบกับการระบายน้ำทั้ง 4 เขื่อนวันละ 19 ล้าน ลบ.ม. ถือว่าขาดทุนน้อยลง ส่วนปริมาณน้ำท่าในแม่น้ำเจ้าพระยาที่ จ.นครสวรรค์ มีน้ำไหลผ่านมากขึ้น จากเดิม 149 ลบ.ม.ต่อวินาที เพิ่มเป็น 220 ลบ.ม.ต่อวินาที แสดงว่าฝนดีขึ้นและชาวนาสูบน้ำเข้านาน้อยลง
สภาพพื้นที่การเพาะปลูกในลุ่มน้ำเจ้าพระยา กรมชลฯได้ตรวจสอบเชิงลึกระดับพื้นที่แล้ว พบว่าพื้นที่เกษตรแบ่งตามลำดับความสำคัญจากมากไปหาน้อย 4 กลุ่มพบว่า กลุ่มที่1.นาข้าวที่กำลังตั้งท้อง มีทั้งสิ้น1.36 ล้านไร่ 2.สวนผลไม้ประมาณ 270,000 ไร่ 3.ข้าวอายุระหว่าง 6-8 สัปดาห์1.25 ล้านไร่ และ4.ข้าวอายุน้อยกว่า 6 สัปดาห์ประมาณ 175,000ไร่ ผู้ว่าราชการจังหวัดทั้ง22 จังหวัดในลุ่มเจ้าพระยาได้รับรองขอปันน้ำให้แก่นาข้าวที่กำลังตั้งท้องรวม 1.21 ล้านไร่ จากนาข้าวตั้งท้องทั้งหมด 1.36 ล้านไร่ ส่วนจ.กำแพงเพชร ได้รับฝนดีจึงไม่ต้องการขอปันน้ำส่งปช่วย
“ทั้งนี้ พื้นที่นาข้าวตั้งท้อง1.21ล้านไร่ ที่ขอปันน้ำจากกรมชลฯ โดยแบ่งเป็นนาข้าวเหนือในพื้นที่เหนือ จ.นครสวรรค์ ขึ้นไปประมาณ 460,000 ไร่ และใต้ จ.นครสวรรค์ ลงมา 750,000 ไร่ กระจายตัวอยู่ใน จ.พระนครศรีอยุธยา สิงห์บุรี อ่างทอง ปทุมธานี และบริเวณรอบนอกของกรุงเทพฯซึ่งปัจจุบัน กรมชลฯได้ปันน้ำจากการส่งน้ำทั้งระบบวันละประมาณ 19 ล้าน ลบ.ม. เพื่อให้การเกษตร วันละ 5 ล้าน ลบ.ม. โดยส่งน้ำเข้าคลองต่างๆ ตามพื้นที่นาข้าวตั้งท้อง หากในอนาคตฝนไม่ตก ปริมาณน้ำน้อยลง ก็จะลดการปันน้ำเพื่อการเกษตรตามสัดส่วน แต่หากฝนตกเพิ่มขึ้น เกษตรกรก็จะใช้น้ำฝน และลดการขอปันน้ำไปเอง”นายทองเปลว กล่าว
ที่ จ.มหาสารคาม นายกิตติพงศ์ โรจน์วิรัตน์ หัวหน้าฝ่ายจัดสรรน้ำและบำรุงโครงการชลประทานจังหวัดมหาสารคาม กล่าวว่าจากปริมาณฝนที่ตกลงมาอย่างต่อ ส่งผลให้มีปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำทั้ง17แห่ง โดยเฉพาะน้ำในแม่น้ำชี มีปริมาณเพิ่มสูงขึ้นกว่า 2 เมตรโดยน้ำในแม่น้ำชีที่ไหลผ่านจ.มหาสารคาม ระดับน้ำอยู่ที่137.45 เมตรจากระดับน้ำน้ำทะเลปานกลาง ยังคงต่ำกว่าตลิ่ง 6.36 เมตร ยังคงสามารถรองรับน้ำได้อีกมาก ขณะที่ปริมาณฝน สะสมยังต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐาน ต้องรอดูปริมาณฝนที่ตกลงมาว่า จะมีจำนวนมากหรือน้อย ชลประทานจะได้วางแผนบริหารจัดการน้ำเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชนต่อไป
ที่ จ.ลพบุรี เช้าวันเดียวกัน นายปรัทญา เปปะตัง นายอำเภอท่าวุ้ง จ.ลพบุรี พร้อมด้วยชาวนาในพื้นที่ ต.บางงา ต.เขาสมอคอน ลงพื้นที่บริเวณคลองชัยนาท-อยุธยา หรือคอลมหาราช หลังชลประทานได้เปิดประตูน้ำปากคลองเจ้าพระยา เข้าสู่คลองชัยนาท-อยุธยา เพื่อช่วยชาวนาของต.บางงา อ.ท่าวุ้ง ที่ข้าวกำลังแห้งเหี่ยวยืนต้นตายจำนวน16,000ไร่ ขณะนี้ปริมาณน้ำได้ไหลเข้ามาถึงคลอง7ซ้ายแล้ว ทำให้ชาวนาต่างนำเครื่องสูบน้ำเร่งมาติดตั้งพร้อมสูบน้ำเข้านาของตัวเองกันตั้งแต่เช้าทำให้ขณะนี้มีน้ำเข้านาบางส่วนแล้ว ทำให้ต้นข้าวน่าจะรอดตายอย่างแน่นอน
นายเสวย มีหิรัญ ชาวนาในต.บางงา อ.ท่าวุ้งได้ฝากขอบคุณรัฐบาล ผู้ว่าราชการจังหวัดและขอบคุณทางชลประทานที่เปิดประตูน้ำปากคลองเจ้าพระยาส่งน้ำเข้าสู่คลองชัยนาท-อยุธยา หรือคลองมหาราช ทำให้ชาวนาได้สูบน้ำเข้านาทันเวลาก่อนข้าวจะตายทำให้ชาวนาต่างดีใจกันทั่วหน้า ถือว่ารัฐบาลได้คืนความสุขให้กับชาวนาอย่างแท้จริง
ที่ จ.แม่ฮ่องสอน นายจำรัส ตุ้ยดง นายช่างหัวหน้าสถานีวัดระดับน้ำปายบ้านท่าโป่งแดง กรมชลประทาน ต.ผาบ่อง อ.เมือง จ.แม่ฮ่องสอน กล่าวถึงสถานการณ์ปริมาณน้ำในแม่น้ำปายว่า ระดับน้ำในแม่น้ำปายได้เพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ถึง1.79 เมตร เป็นผลจากเกิดฝนตกบริเวณพื้นที่ต้นน้ำทั้งในเขต อ.ปาย และ อ.ปางมะผ้า หากยังคงมีฝนตกอย่างต่อเนื่องจะทำให้ระดับน้ำในแม่น้ำปายเพิ่มสูงขึ้นถึงระดับ3.50 เมตร อาจจะส่งผลกระทบต่อพื้นที่การเกษตรและบ้านเรือน ก็ขึ้นอยู่ที่ปริมาณฝนที่ตกบริเวณพื้นที่ป่าต้นน้ำเป็นสำคัญ
นายเพิ่มวิทยา กันทะทรง ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย(ปภ.)จังหวัดแม่ฮ่องสอน กล่าวว่าจากที่กรมอุตุนิยมวิทยาระบุจะมีฝนตกอย่างต่อเนื่องจนถึงหนักมากช่วงเดือนสิงหาคมจึงประกาศเตือนให้ราษฎรที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ลุ่มใกล้เชิงเขา และบริเวณปากลำห้วยสายต่างๆระมัดระวังน้ำป่าไหลหลากเฉียบพลันและดินโคลนถล่ม
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ริมแม่น้ำโขง ในวัดป่าเทพวิมุติ ต.หอคำ อ.เมือง จ.บึงกาฬ ตัวแทน
เครือข่ายภาคประชาชนลุ่มน้ำโขงจากจังหวัดเชียงรายจนถึงอุบลราชธานีในนาม “เครือข่ายสภาประชาชนลุ่มน้ำโขง 8 จังหวัด” ร่วมแถลงจุดยืนต่อสถานการณ์ความเปลี่ยนแปลงและผลกระทบคุกคามต่อแม่น้ำโขงในโครงการพัฒนาต่างๆ ทั้งเขื่อน การผันน้ำเขตเศรษฐกิจพิเศษ รวมถึงการอนุรักษ์ระบบนิเวศข้ามพรหมแดน
น.ส.จินตนา เกษรสมบัติ ตัวแทนสภาองค์กรชุมชนบึงกาฬ กล่าวว่าตลอดนับตั้งแต่มีการสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำโขงตอนบนในจีนเกือบ20 ปีบัดนี้สร้างเสร็จไปแล้วถึง6 เขื่อนซึ่งความเปลี่ยนแปลงแม่น้ำโขง เกิดความเสียหายจากน้ำมือมนุษย์จากนโยบายของรัฐประกาศเขตเศรษฐกิจพิเศษ ใน 8 จังหวัดริมโขง ที่ส่งเสริมให้ภาคเอกชนเข้ามาใช้ทรัพยากรแม่น้ำโขงโดยปราศจากความรับผิดชอบ พวกเราที่อาศัยริมน้ำโขงจากเชียงราย ลงมาถึงอุบลราชธานี ได้เห็นความเปลี่ยนแปลงของแม่น้ำโขง การผันน้ำแม่น้ำโขง เพื่อแก้ปัญหาภัยแล้ง เป็นการปัดฝุ่โครงการเก่า ที่เคยศึกษาไว้นานแล้ว ทั้งแนวทางการผัน น้ำโขง กก อิง น่าน แนวคิด ผันน้ำ โขง เลย ชี มูล จำเป็นจะต้องศึกษาผลกระทบให้รอบคอบ พิจารณาการใช้น้ำในพื้นที่ อีกทั้ง แม่น้ำโขงใช้ร่วมกันกับประเทศเพื่อนบ้าน การผันน้ำข้ามลุ่มน้ำ จะต้องผ่านกระบวนการตามข้อตกลงแม่น้ำโขง พ.ศ.2538 ระหว่าง ลาว ไทย กัมพูชา เวียดนาม พวกเราขอยืนยันในสิทธิชุมชนในการจัดการทรัพยากรรัฐมีหน้าที่ปกป้องสิทธิให้แก่พลเมืองและขอเรียกร้องให้รัฐบาลไทยตระหนักถึงปัญหาแม่น้ำโขงด้วย
ข้อมูลจาก naewna.com/local/170265