นายหทัย อู่ไทย เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) เปิดเผยว่า สมอ.ได้เพิ่มความเข้มงวดในการตรวจจับสินค้าอุตสาหกรรมที่ไม่ได้มาตรฐาน หรือไม่มีตรามาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) โดยเฉพาะในกลุ่มวัสดุก่อสร้าง, กลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ และกลุ่มของเล่นเด็ก รวมไปถึงผลิตภัณฑ์หมวกกันน็อก เพราะสินค้าเหล่านี้กระทบต่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนอย่างรุนแรง ล่าสุด ในรอบ 7 เดือนแรก ของปีงบประมาณ 2558 (ต.ค.57-พ.ค.58) ได้จับกุมผู้ประกอบการไปแล้ว 102 ราย ส่วนใหญ่ 90% เป็นร้านจำหน่าย ส่วนที่เป็นโรงงานผลิตมีประมาณ 5-6% รวมทั้งยังได้ร่วมกับกรมศุลกากรในการตรวจจับสินค้านำเข้า หากพบสินค้าที่ไม่ได้มาตรฐาน ก็จะสืบไปตามจับจนถึงโกดังและผู้นำเข้ารายใหญ่ เพื่อปราบปรามไปจนถึงต้นตอ
“สินค้าที่ไม่ได้มาตรฐานแม้จะมีมูลค่ารวมไม่กี่ล้านบาท แต่สร้างความเสียหายอย่างรุนแรง เช่น ซื้ออุปกรณ์ไฟฟ้าราคาไม่กี่สิบบาท แต่หากเกิดเพลิงไหม้ ก็มีความเสียหายกว่าร้อยล้านบาท และอาจถึงขั้นเสียชีวิต”
นายศักดิ์ชัย ศรีบุญซื่อ เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) กล่าวว่า มกอช.ได้เร่งปรับปรุงมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารของไทย โดยได้เตรียมที่จะออกมาตรฐานใน 10 ด้าน ได้แก่ 1.เมล็ดถั่วลิสง จะมีมาตรฐานปริมาณอะฟลาทอกซิน 2.หลักเกณฑ์ปฏิบัติสำหรับกระบวนการรมผลไม้สดด้วยก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ 3.การปฏิบัติที่ดีสำหรับศูนย์รวบรวมน้ำนมดิบ 4.การปฏิบัติทางการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำที่ดีสำหรับฟาร์มเพาะลูกกุ้งทะเลปลอดโรค 5.การปฏิบัติที่ดีในการขนส่งซากสัตว์และเนื้อสัตว์ 6.การปฏิบัติที่ดีสำหรับการผลิตเชื้อเห็ด 7.ข้าวอินทรีย์ 8.การปฏิบัติที่ดีสำหรับโรงสีข้าว 9.สินค้าเกษตรแช่เยือกแข็ง และ 10.การปฏิบัติทางสุขลักษณะที่ดีสำหรับท่าเทียบเรือ สะพานปลา แพปลาและตลาดกลางซื้อขายสัตว์น้ำ
“มาตรฐานทั้ง 10 ด้านนี้ จะต้องนำเสนอต่อองค์การการค้าโลก (ดับเบิลยูทีโอ) เพื่อให้ประเทศสมาชิกได้ตรวจสอบท้วงติง ซึ่งล่าสุดได้เสนอเข้าดับเบิลยูทีโอไปแล้ว 2 มาตรฐาน คือ ถั่วลิสงและการรมผลไม้สด ขณะนี้อยู่ระหว่างการรอประกาศในราชกิจจานุเบกษา ภายในปี 2558 และจะมีผลบังคับใช้เป็นกฎหมายต่อไป ซึ่งหากไทยสามารถยกระดับทั้ง 10 รายการให้ได้ตามมาตรฐานแล้ว ก็จะช่วยให้ผู้ซื้อมั่นใจและมียอดส่งออกที่เพิ่มขึ้น”
ข้อมูลจาก thairath.co.th/content/504317