กรมส่งเสริมการเกษตรได้เตรียมการเพื่อรองรับการส่งเสริมการเกษตรในลักษณะ แปลงใหญ่โดยได้นำวิธีการทำงานรูปแบบ MRCF system ขับเคลื่อนการดำเนินงานด้วย
นายปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา เปิดเผยว่า สถานการณ์การผลิตสินค้าเกษตรในปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและมีการแข่งขันสูงทั้งในด้านปริมาณ คุณภาพ และต้นทุนการผลิตที่สูง ทำให้เกษตรกรรายย่อยประสบปัญหาในการผลิตและจำหน่ายสินค้าเกษตร ตลอดจนโอกาสการเข้าถึงข้อมูลแหล่งทุน ทรัพยากรและการตลาดได้น้อย
และจากการที่เกษตรกรรายย่อยต่างคนต่างผลิต ทำให้ยากต่อการจัดการผลผลิตให้มีประสิทธิภาพและได้ผลผลิตที่มีคุณภาพสอดคล้องกับความต้องการของตลาด เพื่อให้สามารถแก้ไขปัญหาดังกล่าว กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จึงได้มีนโยบายในเรื่องการจัดทำแปลงเกษตรขนาดใหญ่โดยให้เกษตรกรรายย่อยมีการรวมกลุ่มและรวมพื้นที่การผลิตเป็นแปลงขนาดใหญ่ ที่มีผู้จัดการพื้นที่เป็นผู้บริหารจัดการ ตั้งแต่การวางแผนการผลิตตลอดห่วงโซ่อุปทาน การสร้างกระบวนการเรียนรู้ให้เกษตรกรมีความสามารถในการจัดการผลิตสินค้าเกษตรจนถึงการตลาดที่มีมาตรฐานเช่นเดียวกับฟาร์มขนาดใหญ่
ซึ่งจะส่งผลให้เกษตรกรรายย่อยมีอำนาจการต่อรองในการจัดหาปัจจัยการผลิตและการจำหน่ายผลผลิต สามารถผลิตสินค้าที่มีคุณภาพได้ในต้นทุนที่ต่ำลง และมีรายได้เพิ่มขึ้น โดยยึดหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง
ซึ่งความคืบหน้าของเรื่องนี้นายโอฬาร พิทักษ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เปิดเผยว่า การส่งเสริมการเกษตรแปลงใหญ่ เป็นการส่งเสริมการเกษตรที่ยึดพื้นที่เป็นหลักในการดำเนินงานในลักษณะบูรณาการระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยมีผู้จัดการพื้นที่เป็นผู้บริหารจัดการทุกกิจกรรมตลอดห่วงโซ่อุปทาน โดยมีวัตถุประสงค์หลัก ๆ 2 ประการ คือ 1) เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต โดยส่งเสริมให้เกษตรกรรายย่อยมีความเข้มแข็ง สามารถบริหารจัดการการผลิตและการตลาดร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่นเดียวกับฟาร์มขนาดใหญ่ และ 2) เพื่อพัฒนากระบวนการทำงานส่งเสริมการเกษตรให้นักส่งเสริมการเกษตรเป็นผู้จัดการพื้นที่ โดยการบูรณาการของทุกภาคส่วนในพื้นที่ ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ ศักยภาพของพื้นที่ และตอบสนองต่อความต้องการของเกษตรกร
ซึ่งการดำเนินงานดังกล่าว กรมส่งเสริมการเกษตรได้เตรียมการเพื่อรองรับการส่งเสริมการเกษตรในลักษณะแปลงใหญ่โดยได้นำวิธีการทำงานรูปแบบ MRCF system ขับเคลื่อนการดำเนินงานด้วย โดยดำเนินการตั้งแต่ช่วงเดือนมีนาคม–กันยายน 2558 มีเป้าหมายทั้ง 77 จังหวัดทั่วประเทศ ในพื้นที่นำร่อง 219 จุด ดำเนินการในพืชหลายชนิดอาทิ ข้าว ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มันสำปะหลัง ทุเรียน ลำไย มะม่วง มังคุด เงาะ ส้มโอ มะพร้าวน้ำหอม สับปะรด ปาล์มน้ำมัน และผัก โดยในช่วงวันที่ 6-7 เมษายน 2558 ที่ผ่านมากรมฯ ได้เชิญเกษตรจังหวัดทั่วประเทศมาร่วมสัมมนาเพื่อความเข้าใจในทิศทางเดียวกันต่อการดำเนินโครงการส่งเสริมการเกษตรในรูปแบบแปลงใหญ่ ณ โรงแรมเอบีน่า เฮาส์ กทม.
ซึ่งเป็นที่คาดกันว่า จากการดำเนินการส่งเสริมการเกษตรแปลงใหญ่นี้ เกษตรกรรายย่อยจะมีความเข้มแข็ง และสามารถบริหารจัดการการผลิตให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด และมีต้นทุนการผลิตที่ลดลง ขณะที่คุณภาพผลผลิตสูงขึ้น อันจะส่งผลให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น พร้อมทั้งมีการรวมกลุ่มในการผลิตและการตลาดอย่างเข้มแข็ง สามารถบริหารจัดการการผลิตและการตลาดร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพเช่นเดียวกับฟาร์มขนาดใหญ่
รวมถึงมีรูปแบบการทำงานในการส่งเสริมการเกษตรแบบบูรณาการในพื้นที่ที่มีการบริหารจัดการในลักษณะแปลงใหญ่ที่เหมาะสมกับสภาพแต่ละพื้นที่ โดยมีเจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตรทำหน้าที่เป็นผู้จัดการพื้นที่.
จาก dailynews.co.th