อนุรักษ์ นกมงคล เสี่ยงสูญพันธุ์
หลายคนอาจไม่รู้ว่า นกกระดาษตัวเล็กๆ ที่นิยมพับกันทั่วโลกนั้น เลียนแบบมาจากรูปร่างของ "นกกระเรียน" นกมงคลที่สาบสูญจากประ.
data-ad-format="autorelaxed">
อนุรักษ์'นกมงคล'เสี่ยงสูญพันธุ์
หลายคนอาจไม่รู้ว่า นกกระดาษตัวเล็กๆ ที่นิยมพับกันทั่วโลกนั้น เลียนแบบมาจากรูปร่างของ "นกกระเรียน" นกมงคลที่สาบสูญจากประเทศไทยไปเมื่อ 30 ปีก่อน !!
การพับนกกระเรียน เริ่มต้นจาก ด.ญ.ซะดะโกะ ที่ป่วยเป็นโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวจากการรับรังสีระเบิดนิวเคลียร์ฮิโรชิมาเมื่อปี 2488 หนูน้อยวัย 11 ขวบเชื่อตำนานการพับนกกระเรียนว่า หากพับนกครบ 1,000 ตัวจะหายป่วย แต่เธอพับได้แค่ 644 ตัวก็เสียชีวิตไปเสียก่อน หลังจากนั้นเพื่อน ๆ จึงช่วยกันพับนกกระเรียนจนครบ 1,000 ตัวไปใส่ไว้ในโลงศพ จนกลายเป็นประเพณีพับนกกระเรียนเสริมดวงสุขภาพสืบต่อกันมาจนถึงปัจจุบัน
ขณะที่ ตำนานรักอมตะของจีนมักใช้ “นกกระเรียน” เป็นสัญลักษณ์ของชีวิตคู่นิรันดร และท่าเต้นร่ายรำถวายจักรพรรดิในอดีตเลียนแบบมาจากท่าเกี้ยวพาราสีของนกกระเรียนเช่นกัน ส่วนชาวอินเดียจะยกย่องนับถือหวงแหนนกกระเรียนอย่างมาก หากเจอห้ามฆ่าหรือทำร้าย เนื่องจากเป็นนกคู่รักที่ซื่อสัตย์ต่อกัน ถือเป็นตัวอย่างอันดีแก่มนุษย์
สาเหตุที่คนทั่วโลกนับถือยกย่อง “นกกระเรียน” เป็น "นกมงคล” เนื่องจากความสามารถพิเศษทำลายสถิติที่สุดของนกทั้งปวง คือ “อายุมากที่สุด” “บินได้สูงที่สุด” และ “ร้องเสียงดังสุด” จากสถิติพบว่าตัวที่อายุยืนสุดคือ 83 ปี ส่วนสถิติที่บินสูงสุดคือ 9,753 เมตรจากระดับน้ำทะเล
ทั้งนี้ ทั่วโลกมีนกกระเรียนอยู่ 15 สายพันธุ์ และตกอยู่ในสภาวะใกล้สูญพันธุ์ 8 ชนิด ส่วนเมืองไทยมีนกกระเรียนเป็นสัตว์ท้องถิ่นอยู่ 1 สายพันธุ์ คือ “นกกระเรียนซารัส” (Eastern Sarus Crane) ซึ่งพบทั้งในพม่า ลาว เวียดนาม ฟิลิปปินส์ อินเดีย และออสเตรเลีย แต่ปัจจุบัน ไม่มีผู้พบนกกระเรียนตามธรรมชาติในเมืองไทยมานานกว่า 30 ปีแล้ว และเชื่อว่าทั่วโลกเหลือนกกระเรียนซารัสไม่เกิน 500-1,500 ตัว
"รอน ซีรี่" อาจารย์นักข่าวชื่อดังจากหนังสือพิมพ์วิสคอนซินสเตรทเจอร์นัล พา “คม ชัด ลึก” ลงพื้นที่อนุรักษ์นกที่มีชื่อเสียงจากการเสาะหานกกระเรียนทั้งหมด 15 สายพันธุ์มาเลี้ยงดูพร้อมทำวิจัยเพื่อหาทางให้สามารถอยู่ร่วมกับมนุษย์ได้ในอนาคต “ดร.เจ๊บ บาร์เซน” ผอ.มูลนิธินกกระเรียนนานาชาติ (International Crane Foundation : ICF) เมืองบาราบู รัฐวิสคอนซิน สหรัฐอเมริกา เล่าว่า สิ่งสำคัญที่สุดในตอนนี้คือการช่วยกันหาวิธีให้เกษตรกรไม่รังเกียจนก พวกเขาต้องกำจัดมันเพราะมักกินข้าวโพดในไร่สร้างความเสียหายจำนวนมาก โดยเฉพาะนกกระเรียนท้องถิ่นพันธุ์แซนฮิล มันหายไปจำนวนมากเมื่อ 30 ปีที่แล้วพบเพียง 2,800 ตัวเท่านั้น แต่ตอนนี้เพิ่มเป็น 1.1 หมื่นตัว เพราะได้ใช้วิธีไฮเทคช่วย
“เราทำมาหลายวิธีไม่ได้ผล กระทั่งลองใช้สารเคมีบางชนิดผสมลงไปในเมล็ดข้าวโพด แล้วให้ชาวสวนทดลองปลูก ปรากฏว่านกกระเรียนไม่มากินเมล็ดเหล่านี้ เพราะมีกลิ่นกับรสชาติที่มันไม่ชอบ มันหันไปกินแมลงในไร่ข้าวโพดแทน ชาวสวนรู้สึกแฮปปี้กับมัน ไม่ไล่ยิงเหมือนแต่ก่อน และเมล็ดข้าวโพดที่เติบโตขึ้นก็ตรวจไม่พบว่ามีสารเคมีหลงเหลืออยู่ ต้นทุนเพิ่มแค่ไร่ละ 72 บาทเท่านั้น”
“ดร.เจ๊บ” ยังเป็นหนึ่งในนักวิจัยศึกษาปัญหานกกระเรียนสูญพันธุ์ในเมืองไทย วิเคราะห์ถึงนกกระเรียนที่สูญพันธุ์ไปในเมืองไทยว่า เกิดจากพื้นที่ชุ่มน้ำในเมืองไทยซึ่งเป็นแหล่งอาหารสำคัญของนกถูกทำลายไปจำนวนมาก ยิ่งไปกว่านั้นยังมีปัญหาเรื่องการลักลอบค้าสัตว์ป่าหายาก นกกระเรียนถูกจับไปขายให้สวนสัตว์ในหลายประเทศ
สำหรับภายในพื้นที่เพาะเลี้ยงของไอซีเอฟนั้น มีการสร้างบ้านขนาดใหญ่ไว้ตรงกลางแล้วแบ่งรั้วเป็นสัดส่วนยื่นออกไป เพื่อให้นกกระเรียนทั้ง 15 สายพันธุ์จากทั่วโลกอยู่ใกล้กันแต่ไม่เห็นหน้ากัน มีการแยกพื้นที่เพาะตัวอ่อนและส่วนหนองบึงขนาดเล็ก ให้นกเปลี่ยนบรรยากาศออกไปหาอาหารกินเองตามธรรมชาติได้ด้วย ส่วนใหญ่จะเน้นให้กินอาหารสำเร็จรูปมากกว่าเพื่อให้ได้สารอาหารครบถ้วน
ปัจจุบัน ไทยกับมูลนิธิอนุรักษ์นกกระเรียนสากลร่วมทำ “โครงการนำนกกระเรียนคืนถิ่น” มาตั้งแต่ปี 2527 ทูลเกล้าฯ ถวายลูกนกกระเรียนพันธุ์ซารัสจากอเมริกา 6 ตัว แด่สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และส่งให้เพิ่มอีก 6 ตัว ในปี 2532 โดยเลี้ยงไว้ในศูนย์เพาะเลี้ยงสัตว์ป่าเขาเขียว ปัจจุบันสามารถเพาะพันธุ์เพิ่มได้มากกว่า 100 ตัว และพยายามที่ปล่อยนกกระเรียนกลับคืนสู่ธรรมชาติเพื่อให้ไปขยายพันธุ์เพิ่มเติม
“ทรงกลด ภู่ทอง” หัวหน้าสถานีเพาะเลี้ยงนกน้ำบางพระ จ.ชลบุรี ให้ข้อมูลว่ามีการเพาะเลี้ยงและขยายพันธุ์นกกระเรียนมา 25 ปีแล้ว ปัจจุบันมีนกกระเรียนทั้งหมด 24 ตัว พยายามฝึกและทดลองปล่อยคืนสู่ธรรมชาติทุกปี นกกระเรียนที่เคยได้จากอเมริกาตอนนี้มีชีวิตอยู่ 3-4 ตัว ไม่ได้ขยายพันธุ์ต่อ เนื่องจากพันธุ์ที่ได้ไม่ใช่สายพันธุ์ที่มีอยู่ในไทยแต่มาจากออสเตรเลีย สำหรับวิธีการขยายพันธุ์นั้น สามารถใช้ได้ 2 วิธีคือ 1.จับคู่ผสมพันธุ์ตามธรรมชาติ 2.การใช้เทคโนโลยีไฮเทคช่วย คือ “วิธีผสมเทียม” รีดน้ำเชื้อจากตัวผู้ฉีดเข้าตัวเมีย วิธีนี้รวดเร็วสามารถเพิ่มจำนวนนกได้ แต่ต้องฝึกนกให้ชินและทำประจำต่อเนื่องทุกปี แต่สถานีใช้วิธีจับคู่ธรรมชาติมากกว่าจะได้ลูกนกเฉลี่ย 4-8 ตัวต่อปี
ส่วนปัจจัยที่ทำให้นกมงคลเสี่ยงสูญพันธุ์ไปจากโลกนั้น ผู้เชี่ยวชาญนกข้างต้นอธิบายว่า เกิดจากปัจจัยหลัก คือ 1.ด้านกายภาพ เพราะเป็นนกขนาดใหญ่หากินเป็นฝูง นิสัยไม่กลัวคนทำให้ถูกล่าได้ง่าย ประกอบกับพื้นที่ชุ่มน้ำและแหล่งอาหารอื่นๆ ถูกทำลาย 2.ด้านชีวภาพ นกกระเรียนเป็นสัตว์ที่มีอายุยืน เฉลี่ยราว 70-80 ปี มีคู่ผัวเดียว-เมียเดียวตลอดชีวิต กว่าจะผสมพันธุ์ก็อายุ 4 ปีขึ้นไป
“มีอีกปัจจัยหนึ่งที่ผมไม่อยากพูดถึง คือ เรื่องแก๊งลักลอบค้านกกระเรียนใต้ดิน เพราะจะทำให้ประเทศไทยเสียชื่อเสียง บอกได้แค่ว่ายังมีอยู่แน่นอน แต่นกกระเรียนสูญพันธุ์ไปจากเมืองไทยนานแล้ว ส่วนใหญ่ต้องไปลักลอบเอามาจาก เขมรและลาว” ผู้เชี่ยวชาญด้านนกฯ กล่าวทิ้งท้าย
--------------------
นกกระเรียนเป็น 1 ใน 15 บัญชีรายชื่อสัตว์ป่าสงวนตาม พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า 2535
ปี 2488 มีบันทึกนกกระเรียน 8-40 ตัวบินผ่านเชียงใหม่ และทะเลสาบสงขลา
ปี 2507 พบนกกระเรียน 4 ตัวที่วัดไผ่ล้อม จ.ปทุมธานี
ปี 2528 นกกระเรียน 4 ตัว ที่ จ.ศรีสะเกษ
และจากนั้นก็ไม่เคยมีรายงานการพบอีกเลย....
ข้อมูลจาก http://www.sarakadee.com
อ้างอิง:www.komchadluek.net
อ่านเรื่องนี้แล้ว : 15540 คน
£
ความคิดเห็นจากผู้อ่าน:
เลือกหมวด :
แสดงเนื้อหารวมจากทุกหมวด,
สินค้าเกษตร, ไอเดียและเทคโนโลยีเกษตร, รวม VDO เด่นจาก FK, นาข้าว, เศรษฐกิจเกษตร, ภาพถ่ายเกษตร, ไร่อ้อย, มันสำปะหลัง, ยางพารา, ปาล์มน้ำมัน, ไร่ข้าวโพด, ผักและการปลูกผัก, การปลูกพืช, ไม้ผล ไม้ยืนต้น, เกษตรน่ารู้, สมุนไพร, ไม้มงคล, พุทธศึกษา, FK Talk, สุขภาพ, การใช้ SUN กับพืชต่างๆ, แอพฯด้านเกษตร, ไม้ดอก ไม้ประดับ, องค์กรด้านเกษตร, ซื้อขายที่ดิน, ห้องปศุสัตว์, ประมง, เกษตรกรตัวอย่าง, ฟาร์มเกษตรพาเที่ยว, FK Freestyle, Agri live update, ออแกนิกส์, จักรกล, อุปกรณ์การเกษตร, ไร่กาแฟ,