data-ad-format="autorelaxed">
'ตลาดกลาง'ธุรกิจไม้ยางพาราครบวงจร เกษตรฯเปิด 'ตลาดกลาง' ไม้ยางพารา เชื่อมเกษตรกร-โรงงานสู่ธุรกิจครบวงจร หลังประสบความสำเร็จในการทำตลาดกลางยางพารา เป็นประเทศแรกในโลก สถาบันวิจัยยาง กรมวิชาการเกษตรก็ได้รุกคืบการทำตลาดกลางไม้ยางพารา หวังให้ก้าวสู่ธุรกิจยางพาราแบบครบวงจร โดยได้ฤกษ์เปิดอย่างเป็นทางการ ในวันพฤหัสที่ 19 กรกฎาคม 2555 ที่ จ.สุราษฎร์ธานี พร้อมเปิดประมูลไม้ยางเป็นครั้งแรก มุ่งเชื่อมโยงเกษตรกร-โรงงานแปรรูปกว่า 400 แห่ง ขยายโอกาสทางการค้า หลังแนวโน้มอุตสาหกรรมไม้ยางเติบโตต่อเนื่อง
พนัส แพชนะ ผู้อำนวยการสำนักงานตลาดกลางยางพาราสุราษฎร์ธานี กรมวิชาการเกษตรเผยรายละเอียดการเปิดตลาดกลางไม้ยางพารา ว่าจะเริ่มเปิดให้บริการประมูลซื้อขายไม้ยางครั้งแรกในวันที่ 19-20 กรกฎาคม 2555 นี้ โดยรูปแบบการซื้อขายใช้การประมูลผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์หรืออินเตอร์เน็ต คล้ายคลึงกับการประมูลยางแผ่นดิบในตลาดกลางยางพาราทั้ง 6 แห่ง เบื้องต้นมีสวนยางเก่าของเกษตรกรและภาครัฐเข้าร่วมประมูล จำนวน 20 สวน พื้นที่พร้อมตัดโค่นประมาณ 1,000 ไร่ มีต้นยางกว่า 60,000 ต้น ในช่วงแรกนี้ตลาดกลางไม้ยางฯ มีแผนเปิดประมูลไม้ยางพาราสัปดาห์ละครั้ง คือ ช่วงบ่ายของทุกวันพฤหัสบดี เมื่อระบบตลาดเข้าที่และมีปริมาณไม้ยางเข้าร่วมประมูลมากขึ้น จะเปิดประมูล 2-3 ครั้ง/สัปดาห์ ซึ่งคาดว่าจะมีไม้ยางเข้ามาซื้อขายในตลาดกลาง ประมาณ 30,000-50,000 ตัน/เดือน
“ไม้ยางเป็นผลพลอยได้จากการปลูกยางพารา ซึ่งตลาดมีความต้องการใช้เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะจีนมีการนำเข้าไม้ยางจากไทยมากถึง 90 % ทำให้อุตสาหกรรมไม้ยางเติบโตอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ราคาไม้ยางอยู่ในเกณฑ์สูง ขณะนี้ราคาซื้อขาย ณ โรงงานอยู่ที่ 2.30-2.80 บาท/กิโลกรัม ขึ้นอยู่กับปริมาณไม้ คุณภาพไม้ และการขนส่ง เป็นต้น ส่วนใหญ่ซื้อขายผ่านพ่อค้าคนกลางหรือนายหน้า เกษตรกรมักถูกกดราคารับซื้อ” ผู้อำนวยการสำนักงานตลาดกลางยางพาราสุราษฎร์ธานีกล่าว
พนัสกล่าวด้วยว่า มั่นใจว่าการเปิดตลาดกลางไม้ยางจะช่วยผลักดันให้ราคาไม้ยางเพิ่มขึ้น ที่สำคัญยังทำให้เกษตรกรพึงพอใจในการขายไม้ยางและมีรายได้เพิ่มมากขึ้น ขณะเดียวกันผู้ประกอบการไม่ต้องวิ่งหาซื้อไม้ยาง สามารถกำหนดเวลาที่แน่นอนในการตัดโค่นไม้ยางป้อนเข้าสู่โรงงานแปรรูปได้ตามต้องการ ซึ่งจะได้รับความเป็นธรรมทั้งผู้ขายและผู้ซื้อ
ด้าน จิรากร โกศัยเสวี อธิบดีกรมวิชาการเกษตร มองว่าปัจจุบันอุตสาหกรรมไม้ยางพาราของไทยมีแนวโน้มเติบโตเพิ่มมากขึ้น ส่งผลดีต่อเกษตรกรที่จะมีรายได้เพิ่มขึ้นจากการจำหน่ายไม้ยาง ซึ่งคาดว่า แต่ละปีเกษตรกรมีการโค่นต้นยางเก่าเพื่อปลูกแทน ประมาณ 240,000 ไร่ มีปริมาณไม้ยางป้อนเข้าสู่โรงงานแปรรูปปีละกว่า 6 ล้านลูกบาศก์เมตร ส่วนใหญ่นำไปผลิตเป็นเฟอร์นิเจอร์ เครื่องเรือน เครื่องใช้ แผ่นใยไม้อัด และแปรรูปเพื่อการส่งออก เช่น ไม้หน้า 3 ไม้หน้า 5 และแผ่นชิ้นไม้อัด ซึ่งสามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับประเทศสูงถึง 100,000 ล้านบาท/ปี
ที่ผ่านมา การจำหน่ายไม้ยางของเกษตรกรมักถูกเอาเปรียบเรื่องราคาจากนายหน้าที่เข้ามาประเมินราคาในแปลง ขณะเดียวกันโรงงานแปรรูปไม้ยางไม่ทราบแหล่งที่ตั้งสวนยางที่จะตัดโค่น กรมวิชาการเกษตรจึงได้มอบหมายให้สถาบันวิจัยยางจัดตั้งตลาดกลางไม้ยางพาราขึ้นที่ตลาดกลางยางพาราสุราษฎร์ธานี จังหวัดสุราษฎร์ธานี เพื่อเป็นตัวกลางเชื่อมโยงระหว่างผู้ขายกับผู้ซื้อไม้ยาง เป็นการสร้างทางเลือกให้กับเกษตรกรผู้ขายไม้ยางและกลุ่มเกษตรกร รวมทั้งสร้างความเป็นธรรมในการประเมินมูลค่าไม้ในแปลงเกษตรกร และเป็นแหล่งข้อมูลข่าวสารการซื้อขายไม้ยางให้กับกลุ่มอุตสาหกรรมไม้ยางหรือโรงงานแปรรูปไม้ยางที่มีกว่า 400 โรงงานทั่วประเทศ
หากมีความสนใจจะขายไม้ยางกับตลาดกลางไม้ยางพารา สามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานตลาดกลางยางพาราสุราษฎร์ธานี โทร. 0-7721-1459 หรือ www.rubberthaiwoodauction.com
อ้างอิง:www.komchadluek.net