data-ad-format="autorelaxed">
เตรียมรับสถานการณ์ “ลำไย” ภาคเหนือกระทรวงเกษตรฯ ประมาณการว่า ปี 2555 นี้ จะมีผลผลิตลำไยจาก 8 จังหวัดภาคเหนือออกสู่ตลาดมากกว่าปีที่ผ่านมา โดยคาดว่า จะมีผลผลิตลำไยจากจังหวัดเชียงใหม่ ประมาณ 182,515 ตัน เชียงราย 49,260 ตัน ลำปาง 6,626 ตัน ลำพูน 173,716 ตัน แพร่ 2,947 ตัน พะเยา 29,041 ตัน น่าน 6,429 ตัน และตาก 6,148 ตัน ในช่วงเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม จะออกกระจุกตัวมากที่สุด ประมาณ 380,520 ตัน คิดเป็นร้อยละ 80.84 ซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกับผลผลิตผลไม้ของภาคใต้ออกสู่ตลาด ...หากสภาวะเศรษฐกิจมีการชะลอตัวต่อเนื่อง อาจเกิดปัญหาผลผลิตลำไยล้นตลาดและราคาตกต่ำได้ ทำให้เกษตรกรผู้ปลูกลำไยในพื้นที่ภาคเหนือได้รับความเดือดร้อน …
นายกมล เกษมศุข รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า กระทรวงเกษตรฯจึงได้เร่งกำหนดแผนรองรับปัญหาดังกล่าว โดยจัดทำ “โครงการป้องกันแก้ไขปัญหาลำไย ปี 2555” เพื่อเร่งระบายผลผลิตออกนอกแหล่งผลิตและดูดซับปริมาณผลผลิตให้เข้าสู่ธุรกิจแปรรูปลำไย ซึ่งจะช่วยรักษาระดับราคาลำไยไม่ให้ตกต่ำมากเกินไป และช่วยบรรเทาความเดือดร้อนให้กับชาวสวนลำไย
เบื้องต้นได้เตรียมแผนบริหารจัดการผลผลิตลำไย 8 จังหวัดภาคเหนือ ภายใต้ 3 มาตรการหลัก คือ
1. มาตรการเร่งรัดกระจายผลผลิตภายในประเทศ 2. มาตรการส่งเสริมการแปรรูป และ 3. มาตรการประชา สัมพันธ์และส่งเสริมการบริโภคลำไย โดยจะดำเนินการในระหว่างเดือนกรกฎาคม-กันยายน 2555 มีเป้าหมายรองรับผลผลิตลำไย จำนวน 121,950 ตัน ส่วนที่เหลือจะให้เป็นไปตามกลไกตลาดปกติ ซึ่งภาครัฐจะไม่มีการแทรกแซงตลาด
มาตรการเร่งรัดกระจายผลผลิตภายในประเทศ มีเป้าหมาย จำนวน 30,900 ตัน โดยโครงการฯ จะสนับสนุนเงินจ่ายขาดเพื่อเป็นค่าขนส่งและค่าการตลาดเหมาจ่ายให้แก่สถาบันเกษตรกร ทั้งวิสาหกิจชุมชน กลุ่มเกษตรกร สหกรณ์ รวมถึงองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่เข้าร่วมโครงการฯ อัตรา 2.50 บาทต่อกิโลกรัม (ค่าขนส่ง 1.50 บาท และค่าการตลาดเหมาจ่าย 1 บาท) เพื่อให้รวบรวมและกระจายผลผลิตลำไยออกนอกแหล่งผลิต 7 จังหวัด สู่ตลาดปลายทางทั่วประเทศ วงเงินรวม 77.25 ล้านบาท
ส่วน มาตรการส่งเสริมการแปรรูป มีเป้าหมาย จำนวน 91,050 ตัน โดยจะสนับสนุนเงินชดเชยดอกเบี้ยร้อยละ 3 ต่อปี ให้แก่สถาบันเกษตรกร ทั้งวิสาหกิจชุมชน กลุ่มเกษตรกร และสหกรณ์ เพื่อกู้ยืมเงินจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ธนาคารกรุงไทย จำกัด และเอสเอ็มอี (SME) ไว้ใช้ในการแปรรูปลำไย 2 รูปแบบ คือ 1. แปรรูปลำไยสดเป็นลำไยอบแห้งทั้งเปลือก 2. แปรรูปเป็นลำไยอบแห้งเนื้อสีทอง และมาตรการประชาสัมพันธ์และส่งเสริมการบริโภคลำไย โครงการฯ ได้มีแผนเร่งจัดงานประชาสัมพันธ์ส่งเสริมและกระตุ้นให้มีการบริโภคลำไยภายในประเทศเพิ่มมากขึ้น เป้าหมาย จำนวน 6 ครั้ง
ขณะนี้กรมส่งเสริมการเกษตรได้ประสานงานให้ทุกจังหวัดเตรียมดำเนินการในมาตรการต่าง ๆ ได้ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม–30 กันยายน 2555 ซึ่งทั้ง 3 มาตรการนี้จะสามารถรองรับผลผลิตลำไยส่วนเกิน และช่วยระบายสินค้าลำไยออกนอกแหล่งผลิตไปสู่ตลาดทั่วประเทศได้ค่อนข้างรวดเร็ว และดูดซับผลผลิตเข้าสู่ธุรกิจแปรรูปในช่วงที่ลำไยออกสู่ตลาดเป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ยังช่วยเพิ่มมูลค่าสินค้าได้อีกทางหนึ่ง
....ขอเชิญผู้บริโภคทั่วประเทศช่วยกันอุดหนุนลำไยจาก 7 จังหวัดภาคเหนือ ซึ่งจะช่วยสร้างขวัญกำลังใจให้กับเกษตรกร ถึงเวลาที่คนไทยต้องช่วยเหลือกันอีกครั้งแล้ว.
อ้างอิง:www.dailynews.co.th