data-ad-format="autorelaxed">
Modern Farm เป็นระบบการปลูกอ้อยแบบใหม่ที่ทันสมัย ที่กลุ่มมิตรผลได้พัฒนาขึ้น เพื่อเพิ่มปริมาณผลผลิตอ้อยให้มากขึ้น สร้างผลผลิตอ้อยได้เต็มพื้นที่ โดยใช้ปริมาณการปลูกอ้อยเท่าเดิม แต่ให้ผลผลิตอ้อยที่มากกว่า รวมถึงสามารถรักษาตออ้อยให้มีคุณภาพเหมือนดั่งตอนปลูกอ้อยใหม่ในครั้งแรก นอกจากนั้น ยังลดปริมาณความสิ้นเปลืองน้ำมันด้วยการปรับสภาพพื้นที่ไร่ตัดให้มีสภาพเหมาะสมกับรถตัดอ้อยขนาดใหญ่ที่จะเข้าไปทำงานในไร่/มนัส ช่วยบำรุง(เรื่อง-ภาพ)
ระบบการปลูกอ้อยดังกล่าว ได้เริ่มดำเนินการในพื้นที่ไร่อ้อยของโรงงานน้ำตาลมิตรผล อำเภอด่านช้าง จังหวัดสุพรรณบุรี เป็นแห่งแรก
คุณวิชรัตน์ บุปผาพันธุ์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มงานอ้อย บริษัท น้ำตาลมิตรผล ร่วมนำคณะสื่อมวลชนในเครือ บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) เข้าชมการจัดการแปลงปลูกอ้อยด้วยระบบใหม่ Modern Farm ของ บริษัท น้ำตาลมิตรผล ที่ไร่ด่านช้าง อำเภอด่านช้าง จังหวัดสุพรรณ ทั้งนี้ได้ร่วมกับคณะสื่อมวลชนในการชมสาธิตวิธีการปลูกอ้อยด้วยท่อนพันธุ์อ้อยสดในไร่ด่านช้าง รวมถึงวิธีการบำรุงต้นอ้อย ขณะอายุ 3 เดือน ด้วย
คุณกิมเพชร สุขแสง ผู้ช่วยผู้จัดการ 3 ไร่อ้อยด่านช้าง บริษัท น้ำตาลมิตรผล กล่าวว่า ไร่ด่านช้างมีเนื้อที่มากกว่า 18,000 ไร่ โดยได้นำการจัดรูปแบบฟาร์มมาใช้กับการผลิตอ้อยแนวใหม่ ด้วยการนำเทคโนโลยีการผลิตอ้อยแบบใหม่มาเป็นส่วนหนึ่งของการจัดรูปแบบแปลงปลูกให้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ ส่วนสายพันธุ์อ้อยที่ปลูก เน้นใช้อ้อยพันธุ์ขอนแก่น 3 เป็นสายพันธุ์หลัก
“ด้วยการจัดรูปแบบแปลงปลูกอ้อยนั้นมีความสำคัญต่อปริมาณผลผลิต รวมถึงการประหยัดค่าใช้จ่ายภายในไร่อ้อยเป็นอย่างมาก กลุ่มมิตรผลได้นำวิธีการจัดการแปลงปลูกอ้อยจากออสเตรเลีย เข้ามาปรับใช้ ภายใต้หลักคิดที่เน้นการต่อยอดว่า ทำอย่างไรให้ตออ้อยที่ปลูกลงไปนั้น สามารถไว้ตอได้นาน แล้วผลผลิตไม่ลดลง”
ระบบ Modern Farm เริ่มต้นมาอย่างไร
คุณกิมเพชร กล่าวว่า การจัดรูปแบบแปลงปลูกแบบโมเดิร์นฟาร์มนั้น เริ่มต้นมาจากกลุ่มมิตรผลได้ศึกษาผลงานวิจัยการปลูกอ้อยของประเทศออสเตรเลียที่พบปัญหาว่า เมื่อ 30 ปีที่แล้วนั้น ออสเตรเลียมีการใช้ระยะร่องปลูกอ้อย ขนาด 1.60 เมตร แล้วใช้วิธีเดิมในการปลูกอ้อย ก่อนจะเปลี่ยนมาเป็นร่องปลูก ขนาด 1.80 เมตร ซึ่งช่วยลดความเสียหายของตออ้อยได้ดีมาก ยิ่งเสริมด้วยการลดการไถพรวนดินด้วยแล้ว ยิ่งทำให้สามารถประหยัดเวลาในการทำกิจกรรมภายในไร่ได้มากขึ้น
ระบบโมเดิร์นฟาร์มที่มิตรผลนำมาปรับใช้นั้นคือการทำแปลงปลูกอ้อยให้มีความยาว 400-500 เมตร เพื่อช่วยประหยัดเวลาในการกลับหัวรถตัด ที่ไร่ด่านช้างจึงได้มีการรื้อแปลงปลูกอ้อยแล้วจัดรูปแบบแปลงใหม่ทั้งหมด หากเป็นรูปแบบเดิมเมื่อรถตัดวิ่งออกไปได้ ประมาณ 20-30 เมตร ก็จะชนกับหัวแปลงปลูก แล้วต้องกลับรถใหม่อีก แต่ในปัจจุบันที่แปลงปลูกมีความยาว 400-500 เมตร ย่อมทำให้รถตัดอ้อยสามารถตัดได้ยาวขึ้น ไม่ต้องเสียเวลากลับหัวรถ ซึ่งก่อนเริ่มทำโมเดิร์นฟาร์มนั้น ที่ไร่ด่านช้างต้องใช้เวลาตัดอ้อยถึง 12 ชั่วโมง แต่ตัดจริงแค่ 9 ชั่วโมง ส่วนอีก 2 ชั่วโมงนั้น ใช้ในการกลับหัวรถตัด
หากต้องการใช้รถตัดอ้อยให้มีประสิทธิภาพสูงสุด ต้องมีร่องแปลงปลูกที่ยาว ซึ่งสามารถที่จะประหยัดระยะเวลาการตัดลงได้หากมีร่องที่สั้นก็เปลืองระยะเวลาการทำงาน อีกทั้งยังสิ้นเปลืองน้ำมันโดยใช่เหตุอีกด้วย
อีกส่วนหนึ่งคือ ผลผลิตอ้อยที่ได้ต่อไร่ต้องสูง เมื่อรถอ้อยตัดไปแล้วใช้น้ำมันเท่ากัน แต่หากมีปริมาณอ้อยที่มากเมื่อนำมารวมต้นทุนกันแล้ว ก็จะได้ปริมาณอ้อยที่คุ้มทุนและคุ้มค่าน้ำมัน
ในส่วนของหัวงานที่ใช้กลับรถจะต้องมี เนื่องจาก Headland (พื้นที่ใช้กลับรถ) เป็นส่วนสำคัญต่อรถตัดอ้อยเป็นอย่างมาก มิฉะนั้น หากรถตัดอ้อยจะกลับหัวรถ รถตัดอ้อยก็จะไปตัดซอยอ้อยในแปลง ทำให้เสียเวลาแล้วยังสิ้นเปลืองน้ำมันโดยใช่เหตุ แต่ถ้ามีหัวงานก็สามารถกลับรถได้ทันที
ระยะร่องปลูกนี้ก็มีความสำคัญเช่นเดียวกัน หากใช้ระยะร่อง 1.45 เมตร ที่เกษตรกรนิยมใช้อยู่ในปัจจุบันจะทำให้รถไปเหยียบตออ้อยแล้วยังทำให้ตออ้อยเก็บไว้ได้น้อยปี ผลผลิตที่เป็นอ้อยตอลดลงเร็วมาก แต่เมื่อเปลี่ยนมาเป็น 1.85 อ้อยใหม่ก็ได้ปริมาณเท่ากัน เมื่อเปลี่ยนมาเป็นอ้อยตอแล้วผลผลิตที่ได้ก็จะมีปริมาณที่สูงกว่า เพราะล้อรถจะไม่มาเหยียบตรงนั้น
คุณกิมเพชร กล่าวต่อไปว่า การเตรียมแปลงปลูกนั้นก็มีส่วนสำคัญที่จะช่วยให้อ้อยสามารถเจริญเติบโตได้ดี ที่ไร่ด่านช้าง ได้มีการใช้ระบบ GPS เข้ามาควบคุมการทำร่องเพื่อกำหนดขนาดของร่องได้ทันที ที่ไร่ด่านช้างแห่งนี้มีการกำหนดขนาดร่องปลูกเอาไว้ที่ 1.85 เมตร โดยที่ร่องปลูกนั้นจะมีการทำรอยเส้นไว้ ซึ่งสามารถทำให้คนปลูกสามารถดูแนวระยะปลูกได้ง่าย
ส่วนเครื่องมือที่ใช้ไถหน้าดินเตรียมแปลงปลูกนั้นมีความพิเศษเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะส่วนของใบมีดจะมีลักษณะกึ่งตัวแอล ทำมุม 90 องศา ซึ่งจะช่วยให้สามารถฟันดินได้ป่นกว่าใบมีดรูปแบบอื่น เมื่อไถพรวนดินแล้วสามารถปลูกได้ทันที ไวกว่าวิธีที่ต้องมาไถแล้วเริ่มทำหน้าดินใหม่ แต่วิธีนี้สามารถเริ่มปลูกได้ทันที
นอกจากนี้แล้ว ยังมีการใช้ Ripper (คราดดินติดรถไถ) เข้าไปเสริมในการช่วยทำให้ดินร่วนซุยขึ้น ถ้าในช่วงที่มีความชื้น Ripper จะดึงความชื้นขึ้นมาจากดิน ทำให้ในเวลาปลูกอ้อยไม่ต้องใช้น้ำในการรดแปลงปลูก ส่วนลูกกลิ้งที่ไถมาพร้อมกับรถไถพรวนนั้นจะทำให้ร่องแปลงปลูกเรียบ แล้วยังช่วยเก็บความชื้นให้อยู่ในดินที่ไถพรวนได้นาน
Modern Farm มีหลักปฎิบัติอย่างไร
คุณกิมเพชร กล่าวว่า สำหรับโมเดิร์นฟาร์มนั้น มีหลักใหญ่อยู่ 4 ประการ ด้วยกันคือ
หนึ่ง ต้องมีการเว้นพื้นที่พักบำรุงดินด้วยการไม่ปลูกพืชเชิงเดี่ยว ใช้ใบอ้อยคลุมดินหรือเมื่อรถตัดมาตัดอ้อยสดเข้าโรงงานแล้วเอาใบอ้อยคลุมดินไว้ ก็จะช่วยจัดเก็บความชื้นเอาไว้ได้นาน ซึ่งจะลดการใช้สารปุ๋ยเคมีลงได้ด้วยการใช้ใบอ้อยคลุมดินแทน
สอง ลดการไถพรวนบดอัดหน้าดิน หรือ Control Traffic ไม่ให้ล้อรถขึ้นไปเหยียบบนพื้นที่ที่จะใช้ปลูกอ้อย เพราะฉะนั้น การจะใช้ control traffic ให้ได้ผลนั้น มิตรผลใช้ระบบ GPS (อุปกรณ์ระบุตำแหน่ง) ติดกับรถไถและรถตัดอ้อยเพื่อคอนโทรลไม่ให้ล้อรถขึ้นไปเหยียบบนแปลงปลูกอ้อย
สาม การจัดรูปแบบแปลงปลูกที่ไร่ด่านช้าง มีการวางขนาดร่องปลูกไว้ที่ 1.85 เมตร โดยเว้นระยะให้รถจักรกลหนักที่จะเข้าไปทำงานภายในไร่สามารถผ่านไปได้โดยไม่ทำความเสียหายให้กับตออ้อยที่ปลูกไว้
สี่ ปลูกพืชบำรุงดิน ไม่ปลูกอ้อยซ้ำกันทุกปี แต่ปลูกพืชตระกูลถั่วปีเว้นปี เช่น ถั่วเหลือง หรือถั่วเขียว เพื่อหยุดพักหน้าดินและให้อาหารเสริมแก่ดินในบริเวณไร่อ้อยเพิ่มปริมาณอินทรียวัตถุภายในดินอีก ทั้งยังเป็นการตัดวงจรแมลงศัตรูพืชที่อยู่ในบริเวณไร่อ้อย
คุณกิมเพชร กล่าวต่อไปว่า ส่วนระยะร่องคันดินที่ใช้ในการปลูกอ้อยควรมีระยะการยกหน้าดินให้มีความสูงประมาณ 15-20 เซนติเมตร ซึ่งเป็นระยะปลูกที่เหมาะสม ต้นอ้อยสามารถเจริญเติบโตได้ดี หากทำครบ 4 เสาหลักนี้แล้ว โอกาสความยั่งยืนของการปลูกอ้อยและผลผลิตอ้อยต่อไร่นั้นจะมีมากขึ้น เนื่องจากมีการบำรุงดินพร้อมกับลดการไถพรวนดินทำให้จุลินทรีย์ในดินไม่ตายไป
ปลูกอ้อยด้วย ระบบ Modern Farm
คุณกิมเพชร กล่าวว่า รถปลูกอ้อยที่ใช้สำหรับปลูกอ้อยในรูปแบบโมเดิร์นฟาร์มนั้น มีอุปกรณ์การปลูกที่ประกอบไปด้วยเครื่องปลูกแบบแนวนอน จานปลูกมีลักษณะเป็นดิสก์ฝังลงไปในหน้าดิน ซึ่งในสมัยก่อนนั้นมีการใช้เครื่องปลูกแบบหัวหมู ทำให้ความชื้นภายในดินลดลง จานดิสก์ที่ใช้นี้ก็เป็นรูปแบบ 2 ร่องคู่ ห่างกัน 50 เซนติเมตร โดยภายใน 1 เมตร นั้น จะได้ท่อนพันธุ์อ้อย 6 ท่อนพันธุ์ เฉลี่ยท่อนพันธุ์ละสองข้อตาก็จะได้อ้อยจำนวน 12 ข้อตา ต่อการงอก
องค์ประกอบที่สองเป็นส่วนของท่อนพันธุ์อ้อยที่อยู่บนรถสาลี่ลาก ซึ่งจะประกอบไปด้วยแผงกันและที่ยืนซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นอุปกรณ์ที่ช่วยกันคนงานที่เสียบต้นพันธุ์อ้อยไม่ให้หล่นลงไป
วิธีการปลูกอ้อยที่ฝังลงไปในดินแบบจานดิสก์จะทำให้ดินเกิดแผลเล็กๆทำให้ความชื้นในดินที่อยู่ด้านล่างจากการเตรียมดินด้วยริปเปอร์ (Ripper) ลากไปนั้นจะขึ้นมาหาท่อนพันธุ์ที่ปลูก จากนั้นใช้ลูกกลิ้งที่ติดกับรถปลูกอ้อยกลบหน้าดินเพื่อกันไม่ไห้ความชื้นขึ้นไปกับอากาศ ซึ่งขั้นตอนการปลูกนี้ก็มีการใช้ GPS ชี้กำหนดแนวร่องปลูก เพื่อ Control traffic ลดการบดอัดหน้าดินลง
สำหรับการปลูกอ้อยด้วยรถปลูกนั้น จะทำงานด้วยระบบไฮดรอลิกทั้งหมด ดังนั้น การทำงานก็จะใช้วิธีเปิดระบบไฮดรอลิกเพื่อให้ท่อนพันธุ์ที่ปลูกลงไปในดินมีความสม่ำเสมอเท่ากันทุกท่อน ซึ่งท่อนพันธุ์ที่ปลูกลงไปจะมีขนาดความยาวอยู่ที่ 37 เซนติเมตร
โดยเฉลี่ยท่อนพันธุ์ที่คำนวณแล้วจาก 12 หน่อ ต่อ 1 ไร่ จะได้อ้อย ประมาณ 20,000 ลำ ปุ๋ยที่ใส่รองพื้นระหว่างปลูกอ้อยนี้เพื่อช่วยให้อ้อยสามารถเลี้ยงตัวเองได้ ประมาณ 3 เดือน โดยใส่ปุ๋ยฟอสฟอรัสเพื่อบำรุงรากของต้นอ้อยไปพร้อมกันด้วย
คุณกิมเพชร กล่าวเสริมอีกว่า ปัญหาหลักที่พบระหว่างปลูกอ้อยลงแปลงนั้นคือ การโหลดอ้อยเข้ามาในสาลี่ ซึ่งที่ผ่านมายังไม่ได้ทำโมเดิร์นฟาร์ม ต้องใช้เวลาโหลดอ้อย ประมาณ 35 นาที แต่ขณะนี้ได้มีการเสริมชุดโหลดท่อนพันธุ์อ้อยมาให้ในสาลี่สำรอง เมื่อหมดสาลี่หลักก็สามารถเปลี่ยนสาลี่แล้วปลูกต่อได้ทันที
ข้อดีของการทำแปลงปลูกอ้อยแบบโมเดิร์นฟาร์มคือ การลดแรงงานคน อีกทั้งสามารถลดค่าใช้จ่ายด้านแรงงานที่ขาดแคลนลงได้ โดยหากใช้ระบบโมเดิร์นฟาร์มเข้ามาจัดการกับแปลงปลูกอ้อยสามารถใช้คนงานปลูกอ้อยแค่ 2 ถึง 4 คน เท่านั้น จากเดิมที่ต้องใช้คนงานปลูกอ้อย 6 ถึง 8 คน แล้วยังต้องใช้เครื่องมือขนาดใหญ่เพื่อลากท่อนพันธุ์ ทำให้สิ้นเปลืองปริมาณน้ำมันไปอีกด้วย
บำรุงอ้อยใหม่ เมื่ออายุครบ 3 เดือน
คุณฐิติ กมลปิตุพงค์ ผู้จัดการด้านไร่และเครื่องมือเกษตรภาคกลาง กล่าวว่า การใส่ปุ๋ยอ้อยจะใส่หลังจากการปลูกอ้อยใหม่ได้ประมาณ 3 เดือน โดยใส่ระหว่างร่อง แต่ถ้าเป็นอ้อยตอจะใส่หลังจากตัดอ้อย หรือเมื่ออ้อยมีอายุประมาณ 1 เดือน ไปแล้ว
สำหรับรถที่ใช้ใส่ปุ๋ยนั้น จะใช้ความเร็วอยู่ที่ 5 กิโลเมตร ต่อชั่วโมง ซึ่งสามารถใส่ปุ๋ยอ้อยได้ไม่ต่ำกว่า 100 ไร่ ต่อ 1 วัน แต่ถ้าเป็นรถใส่ปุ๋ยแบบเดิม จะอยู่ที่ 20 ไร่ ต่อ 1 วัน ซึ่งรถใส่ปุ๋ยที่ไร่ด่านช้างใช้อยู่นี้ สามารถใส่ปุ๋ยอ้อยได้ถึง 3 แถว ต่อ 1 ครั้ง
ระหว่างล้อรถมีช่องสำหรับขับปุ๋ยให้ลงไปในร่องดิน แล้วใช้ตัวแพ็กความชื้นคอยบดอัดหน้าดินอีกทีหนึ่ง เพื่อให้ปุ๋ยสามารถละลายในดินได้เร็ว รวมถึงรักษาความชื้นภายในดินด้วย ถังขนาดใหญ่จะใส่เป็นสูตรปุ๋ยหลัก N-P-K ส่วนถังขนาดเล็กด้านล่างก็จะเป็นธาตุอาหารเสริมสังกะสี โบรอน นอกจากธาตุอาหารหลักแล้ว ยังรวมถึงยาฆ่าแมลงที่รบกวนอ้อย
ด้วยเครื่องใส่ปุ๋ยขนาดใหญ่จะเหมาะสำหรับแปลงปลูกอ้อยขนาดใหญ่ที่มีร่องยาว ถือเป็นการลดต้นทุนการใช้น้ำมันแล้วทำให้คนขับมีชั่วโมงการทำงานต่อวันมากขึ้น ส่วนวิธีการโหลดปุ๋ยจะใช้รถเฮี้ยบยกปุ๋ยมาใส่บนรถหว่านปุ๋ย เมื่อปุ๋ยหมดก็ไม่ต้องเสียเวลายกปุ๋ยโดยคนงาน เปรียบเทียบการโหลดปุ๋ยปัจจุบัน ใช้เวลาแค่ 25 นาที ในการโหลดปุ๋ย 50 กิโลกรัม ทำให้ประหยัดเวลาไปอีก 10 นาที
คุณฐิติ กล่าวต่ออีกว่า การตัดอ้อยและการขนส่งถือเป็นหัวใจสำคัญในการทำไร่อ้อยให้เกิดกำไรและความยั่งยืนในการทำอาชีพนี้ เนื่องจากปัญหาการขาดแคลนแรงงาน รวมถึงในปีหน้านี้จะเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ทำให้ยิ่งขาดแคลนคนงานมากขึ้นเรื่อยๆ
โดยในปัจจุบันชาวไร่ส่วนใหญ่ใช้แรงงานคนทำงานซึ่งที่มีอยู่คุณภาพไม่ค่อยสูงเท่าไหร่จ่ายเงินมาก แต่อ้อยที่ได้ขาดแคลนคุณภาพ หากเกษตรกรนำวิธีการจัดการแปลงปลูกเป็นรูปแบบโมเดิร์นฟาร์ม ย่อมทำให้สามารถเพิ่มผลผลิตอ้อยให้มากขึ้นได้ รวมถึงช่วยลดปัญหาการขาดแคลนคนงานตัดอ้อยลงได้
ตัดอ้อยด้วยวิธีใหม่ ลดการบดอัดหน้าดิน
คุณฐิติ กล่าวว่า ที่ไร่ด่านช้าง ใช้รถตัดอ้อยแบบท่อนที่มีแรงม้า ประมาณ 325 แรงม้า ตัดอ้อยสดวิ่งไปพร้อมกับรถกระเช้าบรรทุกอ้อยที่ลากโดยรถแทรกเตอร์ ซึ่งสามารถช่วยแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงานตัดอ้อยลงได้
เกษตรกรส่วนใหญ่ในอำเภอด่านช้างที่กลุ่มมิตรผลเข้าไปส่งเสริมแนะนำวิธีการตัดอ้อยพบว่า นิยมเผาอ้อยก่อนแล้วจึงตัด เพื่อลดระยะเวลาในการตัดอ้อยลง โดยใช้แรงงานจากภาคอีสานเข้ามาตัดอ้อยอีก ทั้งเถ้าแก่ที่เหมาตัดอ้อยจะใช้รถสิบล้อเข้าไปรอรับอ้อย ทำให้เกิดการเหยียบย่ำหน้าดินขึ้น
แต่ด้วยการจัดรูปแบบแปลงปลูกแบบโมเดิร์นฟาร์มที่ยึดการคอนโทรลรถด้วยGPS ทำให้รถตัดมีการเหยียบย่ำตรงรอยรถเท่านั้น ที่ไร่ด่านช้างใช้รถกระเช้าบรรทุกอ้อยลากโดยรถแทรกเตอร์คู่ไปกับรถตัดอ้อย ขนาด 6-8 ตัน ซึ่งมีกึ่งกลางศูนย์ล้ออยู่ที่ 1.85 เมตร เช่นเดียวกันกับขนาดร่องปลูกอ้อย ล้อรถจึงเหยียบดินเฉพาะบริเวณรอยที่เหยียบประจำเท่านั้น ไม่มาเหยียบบนร่องปลูกอ้อยที่มีรากอ้อยอยู่
การจัดรูปแบบแปลงปลูกเป็นสิ่งสำคัญอีกอย่างหนึ่งที่ช่วยให้การตัดอ้อยสามารถทำได้ง่ายด้วยการทำร่องปลูกให้มีขนาดยาวตามแปลงปลูก ประมาณ 400-500 เมตร ทำให้รถตัดหรือรถเทรลเลอร์บรรทุกอ้อยไม่ต้องเสียเวลารวมถึงน้ำมันในการกลับรถมาก นอกจากนั้น การจัดรูปแบบการขนส่งจะช่วยแก้ปัญหาการเกิดดินดานจากการเหยียบย่ำด้วยรถชนิดต่างๆ ที่เข้าไปทำกิจกรรมภายในไร่อ้อยที่จะทำให้ผลผลิตอ้อยลดลงไป 30-40% ได้
คุณฐิติ กล่าวต่อไปว่า สำหรับระบบการขนส่งอ้อยสดไปยังโรงงานหีบอ้อยใช้รถ Semi Trailer ที่ได้จัดให้รถจอดไว้บริเวณส่วนหัวของแปลงปลูก ซึ่ง Semi Trailer 1 คัน สามารถบรรทุกอ้อยได้ถึง 35 ตัน ทำให้ไม่สิ้นเปลืองต้นทุนในการเตรียมรถขนส่งอ้อยสดไปยังโรงหีบอ้อย
มิตรผลโมเดิร์นฟาร์มที่จัดรูปแปลงใหม่เพื่อให้รถตัดสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุดมีระบบการขนส่งที่ช่วยลดความเสี่ยงในการทำลายผลผลิตในแปลงอ้อยตั้งแต่กระบวนการเตรียมดิน บำรุงรักษาอ้อยรวมถึงขั้นตอนการเก็บเกี่ยวผลผลิตอ้อยสดและการขนส่งอ้อยสดไปยังโรงงานหีบอ้อยของมิตรผลเองซึ่งช่วยลดต้นทุนการจัดการไร่อ้อยได้ดีมากอีกทั้งยังเป็นต้นแบบให้กับผู้ผลิตอ้อยรายเล็กและรายกลางได้เข้ามาศึกษาต่อไป
คุณฐิติ กล่าวเสริมว่า ในปัจจุบันมีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการ MitrPhol Modern Farm To Farmer กับมิตรผล ในปี พ.ศ. 2557 แล้วกว่า 1002.96 ไร่ โดยเป็นเกษตรกรปลูกอ้อยในจังหวัดสุพรรณบุรีและในเขตอำเภอด่านช้างเอง ซึ่งมิตรผลได้ใช้ทีมงานเข้าไปให้ความรู้แก่เกษตรกรถึงในไร่ของเกษตรกรเกี่ยวกับการจัดรูปแบบแปลงปลูกอ้อยแบบโมเดิร์นฟาร์มและสนับสนุนอุปกรณ์จักรกลหนักที่ใช้สำหรับการปลูกอ้อยเป็นต้น
โดยมิตรผลหวังส่งเสริมให้เกษตรกรที่มีแปลงปลูกอ้อยอยู่ในบริเวณเดียวกันรวมกลุ่มกัน เพื่อเชื่อมแปลงให้มีขนาดใหญ่ก่อนจะใช้ระบบโมเดิร์นฟาร์มเข้าไปจัดการกับรูปแบบแปลงปลูก ซึ่งมิตรผลพร้อมที่จะสนับสนุนรถตัดอ้อยหรืออุปกรณ์หนักภายในไร่ให้กับกลุ่มเกษตรกรที่ต้องการปลูกอ้อยด้วยรูปแบบโมเดิร์นฟาร์มต่อไป
source: matichon.co.th