data-ad-format="autorelaxed">
ปลูกอ้อยออร์แกนิก
หนุ่มวิศวะวัย 35 ปีดีกรีปริญญาโท จากสกลนคร ตามฝันให้เป็นจริง พลิกตัวเองเป็นเกษตรกรปลูกอ้อยออร์แกนิก ยึดหลักเกษตรอินทรีย์ สร้างกำไรปีละ 5 ล้าน
ผู้สื่อข่าวจังหวัดสกลนคร เดินทางไปพบกับ นายเฉลิมชัย รัฐศาสตร์วาริน อายุ 35 ปี หรือ จิมมี่ ซึ่งเป็นผู้ประสบผลสำเร็จจากอาชีพเกษตรกรปลูกอ้อย โดยมีดีกรีจบวิศวกรโยธา จากมหาวิทยาลัยขอนแก่น และออกมาเป็นผู้รับเหมาก่อสร้างทั่วไป สร้างหอพัก บ้านหรือตึกแถว มีรายได้เป็นอย่างดี จนสามารถเก็บเงินได้ก้อนหนึ่ง
ทั้งนี้ด้วยความรักในอาชีพเกษตรกรรม มีความใฝ่ฝันว่าสักวันหนึ่งตนจะทำงานด้านการเกษตร ให้เป็นที่ยอมรับของคนในครอบครัว สามารถเลี้ยงดูพ่อ-แม่ ได้อย่างมีความสุข จึงตัดสินใจลงทุนทำไร่อ้อย โดยเริ่มต้นเมื่อปี พ.ศ.2552 เพราะอ้อย เป็นพืชที่ดูแลง่าย เป็นที่ต้องการของท้องตลาดและราคาไม่ผันผวนมากนัก เมื่อเทียบกับราคายาง ข้าว หรือมันสำปะหลัง ที่ราคาขึ้น-ลง แบบคาดเดาได้ยาก
เฉลิมชัย เล่าว่า การปลูกอ้อยครั้งแรกเริ่มจากพื้นที่ของตนเองก่อน และเช่าพื้นที่รอบๆ กว่า 200 ไร่ แต่ก็ผิดหวังเพราะอ้อยเจริญเติบโตไม่ทั่วถึง บางพื้นที่ก็ไม่โต บางที่พื้นที่ก็โต ทำให้ขาดทุนย่อยยับ แต่ตนก็ไม่ย่อท้อ เอาความล้มเหลวที่ได้รับมาเป็นบทเรียน
โดยในปีถัดไปจึงเริ่มออกไปหาความรู้จากเกษตรกรที่ปลูกอ้อยมืออาชีพ ไม่นานก็สามารถทำได้สร้างกำไรจากการขายอ้อย และนำรายได้ส่วนนั้นมาขยายเนื้อที่ปลูกอ้อย จนปัจจุบันตนปลูกอ้อยมากกว่า 1,000 ไร่ กำไรปีหนึ่งตกประมาณ 5 ล้าน ซึ่งตนลงมือขับรถไถเอง ปลูกเอง สร้างอาชีพให้กับคนในชุมชน กว่า 200 คน
สำหรับวิสัยทัศน์ในการปลูกอ้อยที่ดีนั้นประกอบด้วย การปรับปรุงดิน และสภาพพื้นที่ให้เหมาะสมกับการปลูกอ้อย ความชื้นต้องพอเพียง พันธุ์อ้อยต้องเหมาะสม กับพื้นที่เพาะปลูก การเตรียมดินที่ดีคือการไถพรวนดินให้พร้อม และเลือกปลูกในที่ดอนน้ำไม่ขัง ควรปลูกอ้อยในเวลาที่เหมาะสม คือตั้งแต่เดือนตุลาคมไปจนถึงเดือนธันวาคม
นายเฉลิมชัย รัฐศาสตร์วาริน อายุ 35 ปี หรือ จิมมี่ ซึ่งเป็นผู้ประสบผลสำเร็จจากอาชีพเกษตรกรปลูกอ้อย มีดีกรีจบวิศวกรโยธา จาก ม.ขอนแก่น
"จำนวนลำต่อไร่เหมาะสม คือมีจำนวนลำต่อไร่ ไม่ต่ำกว่า 10,000 ลำต่อไร่ ธาตุอาหารสมดุล และใส่ถูกวิธี วัชพืชไม่มีรบกวนปราศจากโรคแมลง จะพึ่งพาสารเคมีให้น้อยที่สุด ตามแบบเกษตรอินทรีย์ หากมีเพลี้ยก็จะปล่อยตั๊กแตนออกปราบ แก้ไขโดยใช้ธรรมชาติ ไม่พึ่งยาฆ่าหญ้าหรือยาฆ่าแมลง สำหรับกำไรต่อไร่แล้วเฉลี่ยอยู่ที่ 7,000-10,000 บาทต่อไร่ต่อปี ลงทุนมากแค่ปีแรกที่ปลูก เพราะจะต้องเตรียมดินและพันธุ์อ้อย 10-12 เดือนก็ สามารถตัดขายได้ แต่ในปีถัดไปจะใช่ทุนน้อยลงเพราะอ้อยสามารถตัดต่อเนื่องได้ โดยไม่ต้องปลูกใหม่นานถึง 3-4 ฤดู โดยราคาอ้อยในปี 58 อยู่ที่ตัน ละ 1,250 บาท แต่ในปี 59 นี้มีแนวโน้มที่สูงขึ้นอาจอยู่ที่ตันละ 1,500 บาท ประกอบกับปลายปี 59 จังหวัดสกลนครมีแนวโน้มที่จะก่อสร้าง โรงงานน้ำตาลมาตรฐานสากลขนาดใหญ่ที่ อ.กุสุมาลย์ ยิ่งจะทำให้การซื้อขายอ้อยสะดวกสบายมากขึ้นอีกด้วย"
เฉลิมชัย กล่าวอีกว่า อาชีพเกษตรกร คือชีพที่เป็นกระดูกสันหลังของชาติ เพราะเกษตรกรคือผู้ผลิตอาหารให้คนกิน เช่น ข้าว แป้ง เนื้อสัตว์ กะปิ น้ำตาล น้ำปลา ฯ ล้วนเป็นอาหารให้คนบริโภคทั้งสิ้น ตนจบวิศวกรมา สามารถออกแบบคิดคำนวณก่อสร้างถนนหนทาง และความเจริญแก่สังคม มีคนยกย่อง อาชีพครู แพทย์ พยาบาล ทหารตำรวจมีคนยกย่อง แต่สังคมไทยน้อยนักที่จะยกย่องอาชีพเกษตรกรรม ทั้งที่เป็นอาชีพหลักที่สร้างรายได้ให้กับประเทศเป็นอันดับหนึ่ง
ผมไม่เสียดายที่จะหันมาทำการเกษตร เพราะทุกอาชีพมีเกียรติ มีคุณค่าและสามารถสร้างประโยชน์ให้กับคนในสังคมได้เทียบเท่ากัน แตกต่างแต่เพียงบริบทการทำงานเท่านั้น และมันก็สร้างอาชีพ สร้างรายได้ สร้างความสุขให้ผมและคนในครอบครัว หรือชุมชนได้เช่นกัน"
source: thairath.co.th/content/727475