data-ad-format="autorelaxed">
ราคานํ้าตาลโลก
จับตาน้ำตาลทรายดิบในตลาดโลกไต่ระดับเหนือ 20 เซ็นต์ต่อปอนด์เป็นครั้งแรกในรอบ 3-4 ปี ต้นเหตุมาจาก 3 ปัจจัยใหญ่ ตั้งแต่กองทุนและนักเก็งกำไรเข้ามาลงทุนในตลาดน้ำตาลเพิ่มขึ้นมากที่สุดในรอบ8ปี โดยถือตั๋วซื้อสุทธิล่วงหน้ามากถึง 16 ล้านตันน้ำตาล จ้องเทขายเมื่อราคาดี ขณะที่ผลผลิตทั่วโลกลดลง สวนทางการบริโภคโต อีกทั้งค่าเงินเรียวของบราซิลแข็งค่าดันราคาพุ่ง ด้านบริษัทผู้ส่งออก เผยตัวเลขเพื่อนบ้านนำเข้าจากไทย7เดือนแรกเจาะรายประเทศเพิ่มขึ้น โรงงานน้ำตาลบอกขาขึ้นอีกครั้ง ส่งผลรายได้สูงขึ้น
นายสุรัตน์ ธาดาชวสกุล ผู้จัดการทั่วไป บริษัท อ้อยและน้ำตาลไทย จำกัด (อนท.) เปิดเผย”ฐานเศรษฐกิจ”ถึงสถานการณ์ราคาน้ำตาลทรายดิบที่ซื้อขายล่วงในตลาดโลกขณะนี้ว่า ยืนอยู่ระดับราคาดีต่อเนื่องโดยราคา ณ วันที่ 9 สิงหาคมที่ผ่านมา พบว่า ราคาน้ำตาลที่ซื้อขายล่วงหน้าเดือนตุลาคมปี2559 อยู่ที่ 20.39 เซ็นต์ต่อปอนด์ ราคาเดือนมีนาคมปี2560 อยู่ที่ 20.82 เซ็นต่อปอนด์ โดยเฉลี่ยแล้วราคาอยู่ในระดับเหนือ 20 เซ็นต์ต่อปอนด์ จากที่ราคาน้ำตาลทรายดิบช่วงเดือนมีนาคมถึงตุลาคมปี 2558 ยืนอยู่ที่ 10-14 เซ็นต์ต่อปอนด์ และช่วงเดือนกุมภาพันธ์2559 ลงมาอยู่ที่ประมาณ 13 เซ็นต์ต่อปอนด์ ทั้งนี้ราคาน้ำตาลทรายดิบ หากยืนอยู่ที่ราคา20เซ็นต์ต่อปอนด์เมื่อคำนวณเป็นเงินบาทราคาจะอยู่ที่ 15.43 บาทต่อกิโลกรัมตามอัตราแลกเปลี่ยนที่ 35 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ
ทั้งนี้การเคลื่อนไหวของราคาน้ำตาลทรายดิบที่ค่อยๆขยับตัวขึ้นมาอยู่เหนือระดับ 20 เซ็นต์ต่อปอนด์มีสาเหตุหลักมาจาก 3 ปัจจัยใหญ่ โดยปัจจัยแรกมาจากที่ มีกลุ่มกองทุนและนักเก็งกำไรต่างๆ เข้ามาลงทุนในตลาดน้ำตาลเพิ่มขึ้นมากที่สุดในรอบ8ปี โดยถือตั๋วซื้อสุทธิล่วงหน้าเมื่อต้นเดือนกรกฎาคม 2559 มากถึง16 ล้านตันน้ำตาล เปรียบเทียบกับเมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2551ที่ถือตั๋วซื้อสุทธิโดยกองทุนต่างๆและจากบรรดานักเก็งกำไรอยู่ที่ 10-11 ล้านตันน้ำตาล ซึ่งในขณะนั้นถือว่าสูงมากแล้ว ทำให้บรรดานักเก็งกำไรประเมินต่อว่า ราคาจะไต่ระดับสูงขึ้นต่อเนื่องและพร้อมเทขายเมื่อราคาดี ทำให้มีเม็ดเงินเข้าสู่ตลาดน้ำตาลจำนวนมากในขณะนี้
ปัจจัยที่ 2 ผลผลิตน้ำตาลทั่วโลกลดลง ซึ่งสวนทางการบริโภคที่กลับพุ่งสูงขึ้น โดยอ้างอิงข้อมูลจาก F.O.LICHT บริษัทที่วิเคราะห์เกี่ยวกับดุลยภาพน้ำตาลโลกของเยอรมนี ที่ระบุไว้เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2559 ว่า 2 ปีติดต่อกันที่ผลผลิตน้ำตาลทั่วโลกลดลงอย่างต่อเนื่อง ดูจากปีฤดูการผลิต 2557/2558 ที่ทั้งโลกมีกำลังผลิตน้ำตาลรวมกันอยู่ที่ 181.28 ล้านตันน้ำตาล ปี2558/2559 ผลผลิตน้ำตาลลดลงมาอยู่ที่ 173.66 ล้านตันน้ำตาล ก่อนที่ปี 2559/2560 จะอยู่ที่ 174.76 ล้านตันน้ำตาล เพิ่มขึ้นมาเล็กน้อย เปรียบเทียบกับการบริโภคน้ำตาลของโลกพบว่าปี 2557/2558 อยู่ที่ 178.78 ล้านตัน พอมาปี 2558/2559 ทั้งโลกบริโภคน้ำตาลอยู่ที่ 180.97 ล้านตัน เมื่อเทียบกับปริมาณการผลิตรวมในปีเดียวกันจะเห็นว่าน้ำตาลในตลาดโลกขาดอยู่ราว 7.31 ล้านตันต่อปี ปี2559/2560 การบริโภคน้ำตาลเพิ่มเป็น 183.55 ล้านตัน เทียบกับปริมาณผลิตในปีดังกล่าว ทำให้มีน้ำตาลขาดอยู่ราว 8.79 ล้านตัน
ผู้จัดการทั่วไป บริษัท อนท.อธิบายต่อถึงสาเหตุในปัจจัยที่สองว่า การที่ผลผลิตน้ำตาลลดลง เกิดจากที่ทั่วโลกเผชิญภาวะภัยแล้งติดต่อกัน 2 ปีทำให้อินเดีย จีน และไทย ได้รับผลกระทบจากผลผลิตอ้อยที่ลดลง อีกทั้งบางประเทศโดยเฉพาะจีน นอกจากเกิดภาวะแห้งแล้งแล้ว ยังหันไปปลูกพืชอื่นที่ให้ผลตอบแทนดีกว่าอ้อย ในขณะที่ความต้องการใช้น้ำตาลในตลาดโลกก็เพิ่มขึ้นทุกปี โดยเติบโตราว 2% ต่อปี
“โดยเฉพาะจีนที่เมื่อ 2 ปีก่อนผลิตน้ำตาลได้ 10.5 ล้านตันน้ำตาล พอปี 2558/2559 การผลิตน้ำตาลของจีนลดลงเหลือ 8.7 ล้านตัน ขณะที่ความต้องการใช้มีมากถึง 15 ล้านตัน ทำให้จีนต้องนำเข้าน้ำตาลจากไทย บราซิล และคิวบามากขึ้น รวมถึงฤดูการผลิตปี 2558/2559 บราซิลนำอ้อยไปผลิตเอทานอลมากขึ้น หลังจากที่ราคาน้ำตาลในตลาดโลกตกต่ำลง”
ส่วนปัจจัยที่ 3 การที่ขณะนี้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่า จึงทำให้ค่าเงินเรียวของบราซิลแข็งค่า ในฐานะผู้ส่งออกน้ำตาลลำดับที่ 1 ของโลก เมื่อค่าเรียวแข็งค่า จึงยิ่งส่งผลดีต่อตลาดน้ำตาลทำให้ราคาน้ำตาลในตลาดโลกสูงขึ้นต่อเนื่อง
นายวิรัตน์ ตั้งข้อสังเกตอีกว่า ช่วงปลายปีนี้ต่อเนื่องถึงปี 2560 อาจจะได้เห็นราคาน้ำตาลไต่ระดับสูงกว่าราคาปัจจุบัน ถ้าหากผลผลิตน้ำตาลจากไทย และอินเดีย น้อยกว่าที่ประมาณการณ์ไว้ โดยก่อนหน้านี้ไทยคาดการณ์ว่าจะมีปริมาณอ้อยฤดูการผลิตปี 2559/2560 ประมาณ 90 ล้านตันอ้อย และมีกำลังผลิตน้ำตาลอยู่ที่ 9.2 ล้านตันน้ำตาล ส่วนอินเดียที่คาดการณ์ว่าจะผลิตน้ำตาลได้ 23.5-24 ล้านตันน้ำตาล ถ้าทั้ง 2 ประเทศทำได้น้อยกว่าที่ตั้งเป้าไว้ ก็จะมีส่วนทำให้ราคาน้ำตาลในตลาดโลกพุ่งสูงขึ้นอีก เนื่องจากอินเดียเป็นทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภครายใหญ่ ขณะที่ไทยเป็นผู้ส่งออกน้ำตาลรายใหญ่เป็นลำดับที่ 2 ของโลกรองจากบราซิล
สอดคล้องกับที่นายภิรมย์ศักดิ์ สาสุนีย์ ผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ค้าผลผลิตน้ำตาล จำกัด กล่าวยอมรับว่าจากปัญหาภัยแล้งที่ทำให้ปริมาณอ้อยในประเทศผู้ผลิตสำคัญอย่างจีน อินเดีย ไทย บราซิล ได้รับผลกระทบมีผลผลิตอ้อยลดลง ทำให้นักเก็งกำไรเข้ามาลงทุนในอุตสาหกรรมน้ำตาลจำนวนมากแบบที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน อีกทั้งหลายประเทศมีความต้องการบริโภคน้ำตาลสูงขึ้น ในขณะที่กำลังผลิตน้ำตาลในตลาดโลกยังขาดอยู่ 8-9 ล้านตัน ดูจากสถิติการนำเข้าน้ำตาลจากประเทศเพื่อนบ้านของไทยที่ในช่วงมกราคมถึงเดือนกรกฎาคม2559 เปรียบเทียบช่วงเดียวกันกับปีที่ผ่านมาเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะอินโดนีเซีย เมียนมา กัมพูชาและฟิลิปปินส์ (ดูตารางประกอบ) โดยการนำเข้าที่เพิ่มขึ้นนี้ส่วนหนึ่งก็เกิดจากแรงผลักดันด้านภาษีที่ประเทศในกลุ่มอาเซียนได้รับสิทธิพิเศษทางภาษีอากรนำเข้าในกลุ่มอาเซียนด้วยกันทำให้เพดานภาษีนำเข้าระหว่างกันลดลง
ด้านโรงงานน้ำตาล นายชลัช ชินธรรมมิตร์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายพัฒนาธุรกิจ บริษัท น้ำตาลขอนแก่น จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ขณะนี้ราคาน้ำตาลทรายดิบในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้นมาก มาอยู่ในระดับประมาณ 20-21 เซ็นต์ต่อปอนด์ ซึ่งถือว่าสูงจากราคาเฉลี่ยช่วงปีก่อนอยู่ในระดับ 15 เซ็นต์ต่อปอนด์ ซึ่งมีปัจจัยมาจากปริมาณน้ำตาลของโลกปรับตัวลดลงมาก ที่มีสาเหตุมาจากมีผู้ผลิตบางรายไม่สามารถรับภาระต้นทุนจากราคาน้ำตาลทรายตกต่ำในช่วงที่ผ่านมาได้ จึงหยุดดำเนินการ ทำให้ปริมาณน้ำตาลบางส่วนหายไปจากตลาด
จากสถานการณ์ดังกล่าวถือว่า เป็นการกลับมาฟื้นตัวหรือขาขึ้นของอุตสาหกรรมน้ำตาลอีกครั้ง และคาดว่าจะต่อเนื่องไปอีก 2-3 ปี ซึ่งจะส่งผลให้รายได้ของผู้ประกอบการโรงงานน้ำตาลปรับตัวสูงขึ้นด้วยในช่วงปีหน้า(ฤดูการผลิต 2559/2560 ที่จะเริ่มเปิดหีบอ้อยเดือนพ.ย.นี้) หลังจากที่ปีนี้ (ฤดูการผลิตปี 2558/2559)ได้ทำราคาซื้อขายล่วงหน้าไปหมดแล้ว ส่วนจะมีรายได้เพิ่มขึ้นมากน้อยแค่ไหนนั้น คงจะต้องติดตามปริมาณอ้อยที่จะเข้าหีบด้วยว่า จะลดลงหรือเพิ่มขึ้นอย่างไร ซึ่งเบื้องต้นประเมินว่าปริมาณอ้อยน่าจะลดลง 5-10 % จากสถานการณ์ภัยแล้งในช่วงที่ผ่านมาจากที่ก่อนหน้านั้นมีปริมาณอ้อยสูง 100-107 ล้านตันอ้อย อาจลดลงเหลือ 90 ล้านตันอ้อย
นอกจากนี้ราคาน้ำตาลที่สูงขึ้นดังกล่าว จะส่งผลให้ชาวไร่อ้อยมีรายได้สูงขึ้นตามไปด้วย โดยประเมินว่าราคาอ้อยในฤดูที่จะถึงปี 2559/2560 น่าจะปรับตัวอยู่ที่ระดับ 1,100 บาทต่อตัน
ส่วนราคาน้ำตาลทรายดิบในตลาดโลกมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นไปถึงระดับ 25-30 เซ็นต์ต่อปอนด์ หรือไม่นั้น คาดว่าคงไม่น่าเป็นไปได้ เพราะราคาที่เป็นอยู่ในปัจจุบันถือว่ามีการปรับตัวค่อนข้างแรงแล้ว นอกจากจะมีปัจจัยพิเศษ หรือสถานการณ์ภัยธรรมชาติที่รุนแรง เช่น น้ำท่วม ภัยแล้ง ที่เกิดขึ้นกับประเทศผู้ผลิตน้ำตาลรายใหญ่ ก็อาจจะทำให้มีโอกาสที่ราคาน้ำตาลจะวิ่งขึ้นไปได้
source: thansettakij.com/2016/08/16/84792