data-ad-format="autorelaxed">
‘เคทิส’หนุนเปลี่ยนนาข้าวนครสวรรค์เป็นไร่อ้อย-ตั้งเป้า4ล้านไร่
นายสุพจน์ หวังปรีดาเลิศกุล ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการและผู้จัดการโรงงาน บริษัท เกษตรไทย อินเตอร์เนชั่นแนล ชูการ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ กลุ่มเคทิส กล่าวว่าว่า บริษัทฯลงนามในบันทึกความร่วมมือ (เอ็มโอยู) กับภาครัฐ และภาคเกษตรกร ในจังหวัดนครสวรรค์ สร้างเครือข่ายประชารัฐ ตามนโยบายรัฐบาล เปลี่ยนนาข้าวเป็นไร่อ้อยมีเป้าหมายในการเพิ่มพื้นที่ปลูกอ้อยอีกประมาณ 10,000 ไร่ คิดเป็นผลผลิตอ้อยเข้าหีบประมาณ 1 แสนตันอ้อย โดยอ้อยทั้งหมดกลุ่มเคทิส จะรับซื้อทั้งหมด ในบันทึกข้อตกลงนี้จะขับเคลื่อนและสนับสนุนการจัดโซนนิ่งในพื้นที่อำเภอบรรพตพิสัย และอำเภอพยุหะคีรี ซึ่งมีโรงงานน้ำตาลของกลุ่มเคทิสอยู่
“เพื่อขับเคลื่อนนโยบายการจัดโซนนิ่งพื้นที่เกษตรกรรมให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม มีพื้นที่ปลูกข้าวที่พร้อมจะเปลี่ยนมาปลูกอ้อยในจังหวัดนครสวรรค์มากกว่า 4 ล้านไร่ ภาครัฐจะให้การสนับสนุนข้อมูล กลุ่มเคทิส ช่วยส่งเสริมให้คำแนะนำด้านการเพาะปลูกอ้อย และเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการแล้วเห็นผลจะช่วยรณรงค์ต่อเนื่องไปยังผู้ที่ยังลังเลในการปรับเปลี่ยน”
นายสุพจน์ กล่าวอีกว่า ปัจจุบันกลุ่มเคทิสรับซื้ออ้อยจากชาวไร่อ้อยประมาณ 20,000 ครัวเรือน เป็นพื้นที่ปลูกอ้อยประมาณ 7 แสนกว่าไร่ มีผลผลิตอ้อยเข้าหีบในปี 2558-2559 ประมาณ7.5 ล้านตันอ้อย ได้ผลผลิตน้ำตาลทรายประมาณ 7.2 ล้านกระสอบ มีรายได้จากสายธุรกิจน้ำตาลประมาณ 15,341 ล้านบาท คิดเป็น 79.4% ของรายได้รวม 19,457 ล้านบาท ซึ่งในปีนี้ฝนดีกว่าปีที่ผ่านมา จึงคาดว่าจะได้ผลผลิตน้ำตาลเพิ่มอีกประมาณ 800,000 ตัน โดย กลุ่มเคทิสไม่มีแบรนด์ขายปลีกน้ำตาล เนื่องจากมีสัญญาขายให้กับภาคอุตสาหกรรมซึ่งเป็นผู้ประกอบการอาหารและเครื่องดื่มรายใหญ่ๆ เช่น โค้ก, แล็คตาซอย, เฮลบลูบอย,โอสถสภา เป็นต้น
นายธนาคม จงจิระ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครสวรรค์ กล่าวว่า การดำเนินการขับเคลื่อนนโยบายการบริหารจัดการพื้นที่เกษตรกรรม (โซนนิ่ง) ตามนโยบายของรัฐบาลมาตั้งแต่ปี 2556 และเพื่อให้การขับเคลื่อนนโยบายเป็นไปอย่างต่อเนื่อง จึงได้มีการจัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (เอ็มโอยู) เพื่อเป็นการประสานพลังความร่วมมือจากภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคเกษตรกร สร้างเครือข่ายประชารัฐในทุกด้าน ซึ่งจะเป็นกลไกสำคัญในการแก้ไขปัญหาเพื่อการพัฒนาในทุกมิติและทุกด้านอย่างยั่งยืน เชื่อมโยงเสริมสร้างการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนเข้าด้วยกัน
“การลงนามในเอ็มโอยูครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้ชาวนาหันมาปรับเปลี่ยนพื้นที่ปลูกข้าวที่อยู่ในพื้นที่ไม่เหมาะสม ไปสู่พื้นที่เหมาะสมในการปลูกอ้อยโรงงาน ซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของจังหวัดนครสวรรค์ สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ภาคอุตสาหกรรมได้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งนอกจากจะผลิตเป็นน้ำตาลแล้ว ยังผลิตเยื่อกระดาษจากชานอ้อย เอทานอลจากกากน้ำตาล และไฟฟ้าชีวมวลจากชานอ้อยอีกด้วย”
Source: http://www.khaosod.co.th/view_newsonline.php?newsid=1470137531