data-ad-format="autorelaxed">
สถานะตลาดอ้อยในประเทศไทย ปัจจุบัน
อ้อยเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญ ใช้เป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมการผลิตน้ำตาลและพลังงานทดแทน ปัจจุบันประเทศไทยมีพื้นที่ปลูกอ้อย 6-7 ล้านไร่ ให้ผลผลิตอ้อยรวม 60-70 ล้านตัน ค่าเฉลี่ยของผลผลิตอ้อย 8-11 ตันต่อไร่ แต่ละปีให้มูลค่าทางเศรษฐกิจของอุตสาหกรรมทั้งระบบ ไม่น้อยกว่า 7 หมื่นล้านบาท เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศคู่แข่งที่สำคัญ เช่น บราซิล และออสเตรเลีย ให้ค่าเฉลี่ยผลผลิตอ้อย 13-15 ตันต่อไร่ การปรับปรุงพันธุ์อ้อยที่ให้ผลผลิตอ้อยและความหวานสูง จึงเป็นหนทางหนึ่งที่ช่วยลดต้นทุนการผลิตของชาวไร่อ้อย สนับสนุนอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายในประเทศให้แข่งขันกับประเทศผู้ส่งออกรายใหญ่ของโลกได้ โดยพันธุ์อ้อยที่ดีต้องให้ ผลผลิตสูงและความหวานสูง ต้านทานต่อโรคและแมลง มีลักษณะทางการเกษตรที่ดี เช่น ไว้ตอได้หลายครั้ง ทนทานต่อการหักล้มไม่ออกดอก เป็นต้น และปรับตัวได้ดีในแหล่งปลูกอ้อยที่สำคัญในแต่ละภูมิภาค เพื่อให้มีอ้อยพันธุ์ดีส่งเสริมชาวไร่อ้อยอย่างต่อเนื่อง
สถานีผสมพันธุ์อ้อยบ้านทิพุเย ต.ชะแล อ.ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี
สวทช. สนับสนุนการพัฒนาพันธุ์อ้อย
สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) สนับสนุนการวิจัยและพัฒนาพันธุ์อ้อยที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ปลูกพันธุ์อ้อยทางการค้าของไทย โดยมีฐานพันธุกรรมมาจากพันธุ์อ้อยต่างประเทศเพียง 23 พันธุ์ และเมื่อสืบประวัติย้อนหลังไปหลายๆ ชั่วการผสมพันธุ์ พบว่าพันธุ์อ้อยเหล่านี้มี ฐานพันธุกรรมมาจากแหล่งเดียวกันที่มีความสัมพันธ์กันมาก ให้ความสำคัญกับความหลากหลายทางพันธุกรรมของพันธุ์อ้อยที่เป็นปัจจัยสำคัญมีผลต่อความสำเร็จของการปรับปรุงพันธุ์อ้อย โดยอ้อยแต่ละพันธุ์มีลักษณะทางการเกษตรดีเด่นแตกต่างกันไป นักปรับปรุงพันธุ์จึงพยายามนำลักษณะดีเด่นในแต่ละพันธุ์ มารวมอยู่ในอ้อยพันธุ์เดียวกัน
สวทช. สนับสนุน รศ.ประเสริฐ ฉัตรวชิระวงษ์ จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน ดำเนินโครงการประเมินเชื้อพันธุกรรมอ้อย และการปรับปรุงพันธุ์อ้อย โดยรวบรวมเชื้อพันธุกรรมอ้อยทั้งในและต่างประเทศ อ้อยพันธุ์การค้า อ้อยพื้นเมือง อ้อยป่าและพืชสกุลใกล้เคียง ได้ทั้งสิ้น 2,559 โคลน เป็นพันธุ์อ้อยจากต่างประเทศ 431 โคลน พันธุ์อ้อยในประเทศ 1,973 โคลน พันธุ์อ้อยป่าและพืชสกุลใกล้เคียง 155 โคลน ตรวจสอบพันธุกรรมโดยใช้เครื่องหมายโมเลกุลจำแนกอ้อยเป็น 47 กลุ่ม เป็นพันธุ์อ้อยที่เก็บรวบรวมหลัก 300 โคลน ทั้งหมดรวบรวมไว้ที่สถานีผสมพันธุ์อ้อยบ้านทิพุเย ต.ชะแล อ.ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีสภาพอากาศเหมาะสมต่อการออกดอกของอ้อย ทุกพันธุ์ ในแต่ละปีโครงการฯ ดำเนินการผสมพันธุ์ได้เมล็ดพันธุ์อ้อยไม่น้อยกว่า 1,500 คู่ผสม เมื่อนำเมล็ดอ้อยไปเพาะได้ต้นกล้า 70,000-150,000 ต้น เชื้อพันธุกรรมอ้อยที่ได้เก็บรวบรวมไว้สามารถสืบประวัติย้อนหลังได้ 3-5 ชั่วการผสมพันธุ์ ทำให้ทราบความสัมพันธ์ทางเครือญาติของอ้อยแต่ละพันธุ์กับบรรพบุรุษดั้งเดิมและชนิดอ้อย ข้อมูลลักษณะทางการเกษตรและสัณฐานวิทยา และระบบฐานข้อมูลการผสมพันธุ์อ้อยที่ให้ข้อมูลคู่ผสมพันธุ์ ช่วงเวลาการออกดอก การเพาะเมล็ด และความดีเด่นของอ้อยในแต่ละคู่ผสมพันธุ์
เชื้อพันธุกรรมอ้อยทั้งหมดรองรับการผสมพันธุ์เพื่อพัฒนาพันธุ์อ้อย 3 ชนิด คือ การปรับปรุงพันธุ์อ้อยน้ำตาล ให้มีผลผลิตอ้อยและความหวานสูง มีปริมาณแป้งต่ำ ต้านทานต่อโรคและแมลง ไว้ตอได้หลายครั้ง และปรับตัวได้ดี ในแหล่งปลูกอ้อยที่สำคัญของประเทศ เหมาะสำหรับใช้เป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมการผลิตน้ำตาล การปรับปรุงพันธุ์อ้อยพลังงาน ให้ได้พันธุ์อ้อยใหม่ๆที่ให้ผลผลิตเอทานอลและเส้นใยสูง ใช้สนับสนุนอุตสาหกรรมด้านพลังงานโดยตรง โดยน้ำอ้อยนำเข้าสู่กระบวนการผลิตเอทานอล และมีปริมาณชานอ้อยมากเพียงพอที่จะใช้ในโรงไฟฟ้าชีวมวล อ้อยชนิดนี้เจริญเติบโตเร็ว เก็บเกี่ยวผลผลิตได้ทุก 8 เดือน และการปรับปรุงพันธุ์อ้อยอาหารสัตว์ ให้ได้พันธุ์อ้อยชนิดใหม่ที่เจริญเติบโตรวดเร็ว ให้ผลผลิตชีวมวลสูง เก็บเกี่ยวผลผลิตได้ทุก 4 เดือน ใช้เป็นพืชอาหารหยาบทางเลือกหนึ่งในอุตสาหกรรมการผลิตโคเนื้อและโคนม
อ้างอิง nstda.or.th