data-ad-format="autorelaxed">
โรคเหี่ยวกล้วย
กลุ่มอารักขาพืช สำนักงานเกษตรจังหวัดยะลา โดยนายชัยยศ สุวรรณลิขิต นักวิชาการชำนาญการ พร้อมเจ้าหน้าที่กลุ่มอารักขาพืช ได้จัดประชุมและติดตามผลการดำเนินโครงการรณรงค์กำจัดโรคเหี่ยวในกล้วยหิน อำเภอบันนังสตา จังหวัดยะลา
เพื่อวางแผนการจัดการโรคเหี่ยว และติดตามการทำลายต้นกล้วยที่เป็นโรคเหี่ยว ณ อาคารอเนกประสงค์ หมู่ 2 ตำบลถ้ำทะลุ อำเภอบันนังสตา จังหวัดยะลา
ทั้งนี้เนื่องจากพบโรคเหี่ยวกล้วยระบาดในกล้วยหิน ในพื้นที่ 3 อำเภอของจังหวัดยะลา และหลังจากพบการระบาด ทางสำนักงานเกษตร จ.ยะลา ได้ประสานไปยังศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านอารักขาพืช จ.สงขลา เพื่อส่งเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ตรวจสอบ และเก็บเชื้อตัวอย่างนำไปทำการตรวจสอบ ก็พบว่า เชื้อที่แพร่กระจายนั้นคือโรคเหี่ยวกล้วย ซึ่งเป็นเชื้อแบคทีเรียที่ยังไม่เคยพบในพื้นที่เพาะปลูกกล้วยของจังหวัดยะลามาก่อน
และการระบาดครั้งนี้พบว่ามาจากพื้นที่ อ.เบตง จ.ยะลา จากนั้นแพร่กระจายสู่ อ.ธารโต และ อ.บันนังสตา จ.ยะลา ซึ่งจากการสำรวจเบื้องต้นพบว่า มีพื้นที่สวนกล้วยหินได้รับความเสียหายไปกว่า 1 พันไร่ จากพื้นที่ปลูกกล้วยหินทั้งหมดกว่า 7 พันไร่ ในจังหวัดยะลา
และล่าสุดทางสำนักงานเกษตรจังหวัดยะลา ได้ประสานไปยังสำนักงานเกษตรในพื้นที่ประสบภัยพบโรคระบาดให้มีการชี้แจงทำความเข้าใจ และแนะนำวิธีการควบคุมให้แก่เกษตรกรเจ้าของสวน เพื่อไม่ให้เชื้อโรคเกิดการแพร่กระจาย โดยงดการนำหน่อกล้วยหินออกจากพื้นที่ที่ติดเชื้อ เพื่อเป็นการควบคุมเบื้องต้นไม่ให้เกิดการขยายแพร่เชื้อในวงกว้าง
โดยโรคนี้จะส่งผลกระทบให้ผลกล้วยแห้ง ลีบ และเนื้อกล้วยเป็นสีดำ ไม่สมบูรณ์ ซึ่งเชื้อจะเข้าไปทำลายกัดกินแป้งในผลกล้วย
ทั้งนี้เจ้าหน้าที่ได้แนะนำให้เกษตรกรสวนกล้วย ระมัดระวังในการใช้มีด หรือภาชนะใด ๆ ที่ใช้ในสวนกล้วย เมื่อใช้งานแล้วไม่ควรนำไปใช้กับพื้นที่อื่น ๆ เนื่องจากเชื้อแบคทีเรีย ที่ได้สัมผัสกับมีด หรือภาชนะจะสามารถทำให้ต้นกล้วยต้นอื่นติดเชื้อได้ และอย่าโค่นต้นกล้วยแล้วทิ้งในแหล่งน้ำ เพราะเชื้อแบคทีเรียจะกระจายไปสู่แหล่งน้ำ หากมีการนำน้ำไปใช้รดต้นกล้วยในพื้นที่อื่น ๆ ก็จะเกิดการแพร่กระจายของเชื้อ ทำให้ต้นกล้วยติดเชื้อได้ เช่นกัน
อย่างไรก็ตามจากข้อมูลส่วนหนึ่งที่เรียบเรียงขึ้นมาเกี่ยวกับโรคนี้ส่วนที่เกี่ยวข้องระบุว่าเป็นการแพร่กระจายมาจากประเทศเพื่อนบ้านของไทย ซึ่งเมื่อไม่นานมานี้ในประเทศนั้นเกิดระบาดโรคนี้ในกล้วย จนเกิดความเสียหายกับแปลงเพาะปลูกกล้วยในวงกว้าง
และหลังจากนั้นไม่นานก็มีการระบาดเข้ามายังแหล่งปลูกกล้วยหินบริเวณพื้นที่ปลูกแถบเมืองชายแดนของไทยแล้วลุกลามเข้ามาในพื้นที่เพาะปลูกชั้นในเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่องในปัจจุบัน
source: dailynews.co.th/agriculture/523848