data-ad-format="autorelaxed">
สับปะรดห้วยมุ่น
สับปะรดห้วยมุ่น เมืองอุตรดิตถ์ สร้างรายได้กว่า 400 ล้านบาท ราคาพุ่งสูง 10-15 บาท/ลูก ผลผลิตไม่พอป้อนโรงงานแปรรูปสับปะรดกระป๋อง ประจวบคีรีขันธ์-เพชรบุรี-ชลบุรี เกษตรกรจับมือท็อปส์ ซูเปอร์มาร์เก็ต วางจำหน่ายทั่วประเทศ พื้นที่ข้างเคียงแห่ปลูกอีกกว่า 4,500 ไร่
นายอำนาจ ปาลาศ เกษตรจังหวัดอุตรดิตถ์ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า สับปะรดห้วยมุ่นเป็นพืชเศรษฐกิจอีกชนิดหนึ่งของจังหวัดอุตรดิตถ์ โดยปลูกมากที่ ต.ห้วยมุ่น อ.น้ำปาด จุดเด่นคือดินเพาะปลูกเป็นดินทราย ทำให้มีรสชาติดี หวาน เปลือกบาง ตาตื้น เนื้อหนา ไม่ระคายลิ้น ปัจจุบันมีพื้นที่ปลูก 19,596 ไร่ เกษตรกร 607 ครัวเรือน ผลผลิตออกสู่ตลาด 67,900 ตัน/ปี มูลค่าประมาณ 400 ล้านบาท จากมูลค่าตลาดทั้งประเทศ 40,000 ล้านบาท/ปี โดยผลผลิตออกมากช่วงพฤศจิกายน-มกราคม และเมษายน-กรกฎาคม
ขณะนี้ได้ส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกเพื่อป้อนเข้าโรงงานมากขึ้น แทนการบริโภคสดเพียงอย่างเดียวและเน้นคุณภาพ เนื่องจากช่วงที่ผลผลิตออกพร้อมกัน ปริมาณจะล้นตลาดและราคาตกต่ำเหลือ 3-5 บาท/ลูก จากปกติ 8-9 บาท/ลูก เกษตรกรปรับเปลี่ยนสัดส่วนการปลูกมาเป็นป้อนเข้าโรงงาน 50-70% บริโภคสด 30-50% และจากสถานการณ์ภัยแล้งปีนี้ส่งผลให้ราคาป้อนเข้าโรงงานอยู่ที่ 10-12 บาท/ลูก และบริโภคสด 13-15 บาท/ลูก ซึ่งราคาสูงขึ้นจากปี 2558 ที่มีราคา 8-10 บาท/ลูก และ 10-12 บาท/ลูกตามลำดับ
ปัจจุบันมีพ่อค้าคนกลางรับซื้อ 5-6 ราย และมีโรงงานจากชลบุรีและเพชรบุรีรับซื้อนำไปผลิตเป็นสับปะรดกระป๋อง อีกส่วนส่งไปตลาดไทยเจริญ จ.พิษณุโลก ตลาดสี่มุมเมือง จ.ปทุมธานี และจังหวัดใกล้เคียง นอกจากนี้ ท็อปส์ ซูเปอร์มาร์เก็ต เข้ามาติดต่อเพื่อจะนำไปจำหน่าย ขณะที่แนวโน้มการขยายพื้นที่เพาะปลูกเพิ่มขึ้น 1,000 ไร่เท่านั้น เนื่องจากส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติที่ทางภาครัฐจัดสรรให้เกษตรกร ทำกิน
ด้านนายเด่น บุญพันธ์ ประธานวิสาหกิจชุมชนหมู่ 2 ต.ห้วยมุ่น กล่าวว่า ปัจจุบันมีการขยายพื้นที่เพาะปลูกไปที่ อ.บ้านโคก จ.อุตรดิตถ์ 4,500 ไร่ ซึ่งมีพื้นที่ติดกัน ผลผลิต 6-8 ตัน/ไร่ ปีนี้ประสบกับสภาวะภัยแล้ง ทำให้ผลผลิตเลื่อนไปออกเดือนมิถุนายน-กันยายน และปริมาณลดลง 50% โดยแบ่งผลผลิต 2 เกรด คือ เกรดน้ำ 1 มีพ่อค้าคนกลางมารับซื้อถึงหน้าสวน ราคา 15 บาท/ลูก ขนาด 2-2.5 กิโลกรัม (กก.) และเกรดน้ำ 2 มีโรงงานแปรรูปมารับซื้อถึงหน้าสวน ตั้งแผงตามตลาดกลาง และมีนายหน้ามาติดต่อให้โรงงานแปรรูป ราคา 12 บาท/ลูก ขนาด 1-1.5 กก. ส่วนใหญ่จะเป็นโรงงานแปรรูป
“ปีนี้ราคาดีที่สุด เพราะมีผลผลิตออกสู่ตลาดน้อย สร้างรายได้เฉลี่ย 100,000 บาท/ครัวเรือน/ปี และแนวโน้มเกษตรกรที่ปลูกข้าวและข้าวโพดใน อ.บ้านโคก จ.อุตรดิตถ์ และ อ.ชาติตระการ จ.พิษณุโลก ได้หันมาปลูกสับปะรดมากขึ้น 20-30% เพราะสามารถทนแล้งและน้ำหลากได้” นายเด่นกล่าว
นายณัฐที พรหมเชื้อ เจ้าหน้าที่ส่งเสริมและจัดหาวัตถุดิบ บริษัท สยามอุตสาหกรรมการเกษตร สับปะรดและอื่น ๆ จำกัด (มหาชน) จ.ประจวบคีรีขันธ์ เปิดเผยว่า ช่วงเดือนเมษายน-กรกฎาคม สับปะรดใน จ.ประจวบคีรีขันธ์ มีปริมาณออกสู่ตลาดน้อย บริษัทจึงต้องรับซื้อสับปะรดจากจังหวัดใกล้เคียง รวมถึงสับปะรดห้วยมุ่นของ จ.อุตรดิตถ์ เพราะมีคุณภาพดี
ทั้งนี้ เกษตรกรและพ่อค้าคนกลาง จ.อุตรดิตถ์ จะขนสับปะรดมาส่งถึงโรงงานมีประมาณ 2-3 กลุ่ม โดยจะให้ราคาเพิ่มขึ้น 0.3-0.4 บาท/กก. จากปกติราคาอยู่ที่ 11 บาท/กก. นอกจากนี้เกษตรกรยังส่งผลผลิตให้บริษัทอื่น ๆ ใน จ.ประจวบคีรีขันธ์ด้วย ปัจจุบันผลผลิตยังไม่เพียงพอ เพราะต้องใช้สับปะรดในกระบวนการผลิต 600-700 ตัน/วัน และตั้งเป้าการผลิตไว้ประมาณ 150,000 ตัน/ปี โดยผลิตภัณฑ์แปรรูปจะจำหน่ายในประเทศ 10% และส่งออก 90% ได้แก่ ยุโรป อเมริกา ญี่ปุ่น และตะวันออกกลาง
“ประจวบคีรีขันธ์มีโรงงานแปรรูปมากที่สุดในประเทศประมาณ 16 โรง จาก 20 โรงทั่วประเทศ ทำให้การแข่งขันสูงแต่ไม่มีการกดราคา เนื่องจากมีสมาคมการค้าอาหารแปรรูป ที่เป็นการรวมตัวและมีข้อกำหนดต่าง ๆ โดยโรงงานได้ประกันราคาไว้ให้เกษตรกร 4 บาท/กก. ซึ่งอนาคตอุตสาหกรรมแปรรูปผลไม้ยังคงไปได้ แต่ไม่หวือหวามากนัก เนื่องจากสินค้าเกษตรมีความผันผวนมาก” นายณัฐทีกล่าว
source: prachachat.net/news_detail.php?newsid=1472451740