data-ad-format="autorelaxed">
ประเทศไทยโดยเฉพาะในแถบจังหวัดจันทบุรี มีพื้นที่ปลูก “มังคุด” ค่อนข้างมาก ซึ่งไม้ผลดังกล่าว ใครที่ได้ลิ้มรสต่างติดอกติดใจ กระทั่งยกให้เป็น “ราชินีแห่งไม้ผลเมืองร้อน” ซึ่งการเก็บเกี่ยวผลผลิตให้มีคุณภาพตรงตามความต้องการของตลาดนั้น หลักๆอยู่ที่ “การจัดการ”
ฉะนี้...เพื่อให้เกษตรกรชาวสวนมีผลผลิตออกสู่ตลาดในปริมาณที่คาดการณ์ไว้ มีการลงทุนและการจัดการที่ไม่เป็นปัญหายุ่งยาก นายสมบัติ ตงเต๊า ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยพืชสวนจันทบุรี กรมวิชาการเกษตร พร้อมคณะ จึงทำการศึกษาวิจัย “ปลูกมังคุดต้นเตี้ย” ขึ้น
ผอ.สมบัติ เปิดเผยว่า ที่ผ่านมาปัญหาแรงงานนับวันจะทวีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะแรงงานเก็บผลผลิตในสวนมังคุดที่นับวันจะหายาก ดังนั้น จึงคิดว่าหากมีการปรับเปลี่ยนด้วยการทำให้ต้นเตี้ยอีกทั้งสามารถนำรถเข้ามาบรรทุกเก็บเกี่ยวผลผลิตระหว่างร่องได้โดยที่ปริมาณผลิตผลไม่ได้ลดน้อยถอยลงน่าจะเป็นเรื่องดี จากแนวคิดดังกล่าวทีมงานจึงเริ่มศึกษาแนวทาง
สำหรับการวิจัยเริ่มจาก ปรับระดับหน้าดินแบบลาดเทก่อน และขุดโดยรอบโคนต้นยกดินสูงพอประมาณสำหรับเก็บกักน้ำ เพื่อไม่ให้ปริมาณน้ำ ที่นับว่าเป็นปัญหาสำคัญของเกษตรกรไม้ผล เพราะหากขาดน้ำเป็นบางช่วง หรือปริมาณมากเกิน จะทำให้ผลร่วงได้ง่าย ยังช่วยลดปัญหา “เนื้อแก้วยางไหล”
จากนั้นมาถึงการใช้ต้นพันธุ์ ปกติการขยายพันธุ์มังคุดจะใช้วิธีเปลี่ยนยอดกิ่งกระโดงที่โตไว เพื่อให้การเจริญเติบโตเป็นไปด้วยดี แต่แนวทางที่ทีมวิจัยใช้นั้นหากต้นโตไวจะสูง ดังนั้น จึงใช้วิธี เสียบยอดกิ่งแขนง แทน เพื่อให้ลำต้นสูงไม่เกิน 3 เมตร ตามที่กำหนด ส่วน ระยะการปลูกจะอยู่ที่ขนาด 3×6 เมตร จำนวนต้นปลูกอยู่ที่ 80 ต้น/ไร่ เพื่อให้ทรงพุ่มออกข้าง เวลาจัดการเก็บเกี่ยวจะง่ายขึ้น โดยใช้พื้นที่ทดลองวิจัยประมาณ 20 ไร่ ใช้เวลากว่า 13 ปี
...ที่ผ่านมาสามารถเก็บผลผลิตได้ 5 ครั้ง ซึ่งเรามีการ เปรียบเทียบกับแปลงทั่วไป พบว่า จำนวนต้นต่อไร่เพิ่มขึ้น การจัดการง่ายขึ้น ปริมาณเมื่อเทียบผลผลิตจะใกล้เคียงกัน การจัดการดังกล่าวจากข้อมูลที่เก็บรวบรวมไว้จึงนับว่าเป็นอีกทางเลือกหนึ่งของเกษตรกร ที่จะสร้างสวนใหม่...
นอกจากนี้ ทีมงานศึกษาในเรื่องของการ “คัดโคนต้น” ที่มีลักษณะดี ซึ่งทีมวิจัยมุ่งศึกษาไปที่ต้นที่ไม่เป็น “เนื้อแก้ว ยางไหล” หรือต้นซึ่งยางไหลน้อย เพราะลักษณะดังกล่าวจะส่งผลทำให้ราคาตก โดยที่ผ่านมานั้นจะใส่ทั้งแคลเซียม ฮอร์โมน ในระยะเวลาที่แตกต่างกันไป แต่พบว่าแก้ปัญหาได้เพียงเล็กน้อย
ดังนั้น จึงหันมาศึกษา “ต้นพันธุ์” ที่ปลูก ซึ่งมีการกลายเป็นลักษณะต้นยางน้อย หรือต้นที่ไม่เกิดเนื้อแก้ว แล้วนำเมล็ดจากต้นดังกล่าวมาปลูกทดลอง เพื่อนำมาขยายเป็นต้นพันธุ์ต่อ ซึ่งขณะนี้อยู่ในช่วงเก็บข้อมูล ซึ่งดำเนินงานมาได้ปีกว่า
สำหรับเกษตรกรชาวสวนใหม่ที่สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ศูนย์วิจัยพืชสวนจันทบุรี 0-3939-7030 ในวันเวลาราชการ.
ข้อมูลจาก thairath.co.th/content/253329