data-ad-format="autorelaxed">
ส่งออกมะม่วง
ในอดีต พื้นที่อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ มีรายได้หลักจากการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ผัก กะหล่ำ และทำสวนลำไย ซึ่งเสี่ยงกับภาวะราคาตกต่ำและขาดตลาดรองรับที่ชัดเจน ทำให้เกษตรกรขาดความมั่นคงทางอาชีพ แต่วันนี้ วิถีชีวิตของเกษตรกรในพื้นที่อำเภอเชียงดาวเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดีขึ้น ภายหลังจากพวกเขาหันมาปลูก “มะม่วงน้ำดอกไม้สีทอง” เป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญ ช่วยสร้างเงิน สร้างงาน สร้างอาชีพ ที่มั่นคงให้แก่เกษตรกรได้อย่างยั่งยืน เมื่อเร็วๆ นี้ “คุณโอฬาร พิทักษ์” อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร ได้พากลุ่มสื่อมวลชนไปเยี่ยมชมความสำเร็จของเกษตรกรผู้ปลูกมะม่วงน้ำดอกไม้สีทองเพื่อการส่งออก ที่อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่
อำเภอเชียงดาว
ตั้งอยู่ทางทิศเหนือของจังหวัดเชียงใหม่ แบ่งการปกครองเป็น 7 ตำบล มีประชากรทั้งหมด 83,411 คน 29,926 ครัวเรือน ครัวเรือนเกษตรกรทั้งหมด 19,451 ครัวเรือน และได้ขึ้นทะเบียนเกษตรกร 9,243 ครัวเรือน พื้นที่ทั้งหมด 1,355,625 ไร่ พื้นที่การเกษตร 121,656 ไร่
อำเภอเชียงดาว มีพื้นที่ปลูกมะม่วงทั้งหมด 22,083 ไร่ ให้ผลผลิต 12,749 ไร่ มีรายได้รวมประมาณ 337 ล้านบาท ต่อปี เดิมเชียงดาวเป็นแหล่งปลูกมะม่วงแก้ว และมะม่วงโชคอนันต์มากที่สุด เนื่องจากผลผลิตมีราคาต่ำ เกษตรกรจึงเปลี่ยนยอดต้นมะม่วงให้เป็นมะม่วงเศรษฐกิจที่มีราคาสูงและตลาดมีความต้องการทั้งในและต่างประเทศเช่น น้ำดอกไม้สีทอง มันขุนศรี มหาชนก โดยเฉพาะมะม่วงน้ำดอกไม้สีทอง ทำเงินเข้าอำเภอเชียงดาว ปีละประมาณ 126 ล้านบาท
การพัฒนามะม่วงคุณภาพ
เพื่อการส่งออกของอำเภอเชียงดาว เกษตรกรได้รวมกลุ่มกัน ขอจดทะเบียนวิสาหกิจชุมชนกับสำนักงานเกษตรอำเภอเชียงดาว เพื่อดำเนินงานผลิตมะม่วงคุณภาพ จำนวน 9 กลุ่ม ตั้งแต่ปี 2550-2553 และกำลังอยู่ระหว่างขอจดทะเบียนอีก 2 กลุ่ม ในระยะแรก ปี 2554-2555 ผลผลิตมะม่วงน้ำดอกไม้สีทอง มันขุนศรี และมหาชนก ออกมาแล้วมีปัญหา ไม่มีตลาดรับซื้อในพื้นที่ เกษตรกรต้องนำผลผลิตไปจำหน่ายที่อำเภอพร้าว เนื่องจากอำเภอเชียงดาวไม่มีพ่อค้ามารับซื้อ ผลผลิตมีน้อย ปี 2556 ผลผลิตเริ่มออกมากขึ้น คณะกรรมการวิสาหกิจชุมชน ทั้ง 9 แห่ง ได้รวมตัวกันที่จะขายผลผลิตมะม่วง จึงได้ประสานกับบริษัทที่รับซื้อ ให้มาซื้อในพื้นที่ และได้มีบริษัทส่งออกเข้ามารับซื้อในพื้นที่
ปัจจุบันการพัฒนามะม่วงคุณภาพส่งออกของวิสาหกิจชุมชนโดยกรรมการวิสาหกิจชุมชน ทั้ง 9 แห่ง เป็นเกษตรกรที่มีองค์ความรู้และประสบการณ์การปลูกมะม่วงและพัฒนาคุณภาพผลผลิต เป็นที่ต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศ (Smart Farmer) เน้นการผลิตมะม่วงปลอดภัย (Smart Products) ตามหลักเกณฑ์การผลิตเกษตรที่ดี (GAP) ทุกราย (Smart Group) ทำให้เกษตรกรมีรายได้ที่มั่นคงและเป็นอาชีพที่ยั่งยืน
คุณกฤษฎาพร บุตรแก้ว เกษตรอำเภอเชียงดาว กล่าวว่า อำเภอเชียงดาวมีสภาพภูมิประเทศเป็นพื้นที่ในหุบเขา เป็นเขตต้นน้ำลำธารที่สำคัญ อย่างเช่น แม่น้ำปิง ประชากรส่วนใหญ่เป็นชนเผ่า ประมาณร้อยละ 80 ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เป็นอาชีพหลัก อำเภอเชียงดาวมีพื้นที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ 47,075 ไร่ มากเป็นอันดับ 2 ของจังหวัด และเกิดปัญหาการบุกรุกทำลายป่า ทำให้ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเสื่อมโทรม โดยเฉพาะเชียงดาวเป็นเขตต้นน้ำลำธาร ทำให้เกิดภาวะเสี่ยงต่อการเกิดภัยธรรมชาติที่มีความรุนแรง และมีโอกาสเกิดขึ้นบ่อยครั้ง ทั้งยังเป็นสาเหตุของการเกิดปัญหาหมอกควัน จากการเผาในพื้นที่ทำกินก่อนการเพาะปลูกข้าวโพดและพืชไร่ ส่งผลกระทบทางด้านสุขภาวะของประชาชน ผลกระทบเชิงเศรษฐกิจ สังคมที่ต้องดูแลคนเจ็บป่วยและต้องสูญเสียงบประมาณในการรักษาพยาบาล
ปี 2557 สำนักงานเกษตรอำเภอเชียงดาว จึงได้ร่วมมือกับคณะกรรมการวิสาหกิจชุมชนพัฒนาคุณภาพมะม่วง ทำโครงการสัญจร “การถ่ายทอดองค์ความรู้ เรื่องการปลูกมะม่วงเพื่อการส่งออก” ไปทุกตำบล เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้เรื่องการปลูกมะม่วงและการพัฒนาคุณภาพของผลผลิตมะม่วง ให้ตรงกับความต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศ เป็นการส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกมะม่วงแซม หรือทดแทนพื้นที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ซึ่งการปลูกมะม่วงเศรษฐกิจสามารถสร้างรายได้มากกว่าการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ถึง 10 เท่า ก็ได้รับความสนใจจากเกษตรกร ปัจจุบันเกษตรกรได้นำต้นกล้ามะม่วงไปปลูกแซมในพื้นที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เพิ่มขึ้น ปี 2557 อำเภอเชียงดาวมีพื้นที่ปลูกมะม่วงเพิ่มขึ้น 4,785 ไร่ และคาดว่าภายใน 3 ปี อำเภอเชียงดาวจะมีพื้นที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ลดลง ร้อยละ 35 และอำเภอเชียงดาวจะเป็นแหล่งผลิตมะม่วงเพื่อการส่งออกที่สำคัญของจังหวัดเชียงใหม่ โดยลูกค้าสำคัญของมะม่วงอำเภอเชียงดาวคือ ญี่ปุ่น เกาหลี ไต้หวัน จีน มาเลเซีย และอินโดนีเซีย
เกษตรกรต้นแบบ “สุวิทย์ อุดทาเศษ”
ผู้เขียนมีโอกาสพูดคุยกับ คุณลุงสุวิทย์ อุดทาเศษ วัย 67 ปี ซึ่งเป็นเกษตรกรต้นแบบ (Smart Farmer) เรื่องการผลิตมะม่วงคุณภาพเพื่อการส่งออกของอำเภอเชียงดาว ปัจจุบันสวนแห่งนี้ ได้รับการคัดเลือกให้เป็นศูนย์เรียนรู้เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตมะม่วงเพื่อการส่งออก โดยมีคุณลุงสุวิทย์เป็นวิทยากรประจำแปลง ให้ความรู้เรื่องการปลูกและดูแลสวนมะม่วงแก่เกษตรกรและผู้สนใจ
เดิมทีคุณลุงสุวิทย์และเกษตรกรในท้องถิ่นแห่งนี้ปลูกมะม่วงแก้วและโชคอนันต์เป็นจำนวนมาก ต่อมาได้เปลี่ยนเป็นมะม่วงน้ำดอกไม้สีทอง มหาชนก และมันขุนศรี เพราะขายได้ราคาที่ดีกว่า คุณลุงสุวิทย์ไปเรียนรู้เทคนิคการปลูกและจัดการสวนมะม่วงกับเกษตรกรผู้ปลูกมะม่วงในอำเภอฝางและอำเภอพร้าว นำความรู้ที่ได้มาจัดการสวนมะม่วงแนวใหม่ที่ตลาดต้องการ โดยใช้ต้นมะม่วงเดิมเป็นต้นตอ แล้วนำกิ่งของมะม่วงน้ำดอกไม้สีทองมาเสียบยอด
หลังจากนั้น คุณลุงสุวิทย์ใช้เวลาดูแลต่ออีก 3 ปี ก็ได้มะม่วงน้ำดอกไม้สีทองออกวางขายในท้องตลาด เนื่องจากมะม่วงน้ำดอกไม้สีทองเป็นที่ต้องการของผู้ซื้อในประเทศและส่งออก จึงสามารถขายสินค้าได้ในราคาที่ดี เฉลี่ยกิโลกรัมละ 40-50 บาท ป้อนตลาดต่างประเทศ เช่น จีน เกาหลี ญี่ปุ่น รัสเซีย และกลุ่มประเทศ อียู
สวนมะม่วงของคุณลุงสุวิทย์ มีเนื้อที่ปลูกจำนวน 45 ไร่ แบ่งเป็นมะม่วงน้ำดอกไม้สีทอง 35 ไร่ มะม่วงมันขุนศรี 10 ไร่ เริ่มปลูกเมื่อปี 2550 ที่นี่เน้นดูแลจัดการสวนให้ได้มาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีและปลอดภัย (GAP) โดยงดใช้สารเคมีก่อนการเก็บเกี่ยว 1 เดือน และใช้ถุงห่อผลไม้เคลือบคาร์บอน ทำให้มะม่วงน้ำดอกไม้สุกเหลืองทั้งลูก และป้องกันแมลงวันทอง เพลี้ยได้เป็นอย่างดี
เนื่องจากคุณลุงสุวิทย์ดูแลจัดการสวนมะม่วงอย่างเป็นระบบ จึงขายสินค้าได้ราคาดี ได้ผลผลิตที่ดี เฉลี่ยมะม่วง 1 ต้น จะสามารถเก็บมะม่วงได้เกือบ 100 กิโลกรัม ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผลผลิตที่มีมาตรฐานเฉลี่ย 5 ผล ต่อ 2 กิโลกรัม เคล็ดลับสำคัญที่ให้สวนแห่งนี้ได้ผลผลิตที่ดี เกิดจากใช้วิธีการเสียบยอดทำให้ได้ผลดก รวมทั้งปลิดผลทิ้งในระยะแรก เพื่อคัดเลือกผลผลิตที่สมบูรณ์เก็บเอาไว้ขาย
สวนแห่งนี้ มีมะม่วงน้ำดอกไม้สีทองเป็นสินค้าหลักแล้ว ยังมีรายได้เสริมจากการขายมะม่วงโชคอนันต์ ในราคากิโลกรัมละ 12 บาท อีกด้วย เนื่องจากสวนแห่งนี้ใช้ต้นตอมะม่วงโชคอนันต์นั่นเอง เรียกว่า มะม่วงต้นเดียวแต่ฟันกำไรสองต่อ เพราะบนต้นมีมะม่วงน้ำดอกไม้สีทองห้อยระย้าเต็มไปหมด บริเวณโคนต้น ยังมีมะม่วงโชคอนันต์ให้ผลผลิตดกเต็มต้นเช่นกัน เมื่อถึงฤดูเก็บเกี่ยว ก็ทำให้คุณลุงสุวิทย์โกยผลกำไรก้อนโตได้เลยทีเดียว
ปัจจุบัน คุณลุงสุวิทย์ยังเป็นประธานวิสาหกิจชุมชนกลุ่มพัฒนามะม่วงเพื่อคุณภาพบ้านปางเฟื่อง ตำบลปิงโค้ง อำเภอเชียงดาว โดยคุณลุงสุวิทย์ได้รวมกลุ่มสมาชิกที่ปลูกมะม่วงเศรษฐกิจ ประเภทน้ำดอกไม้สีทอง มันขุนศรี และมะม่วงมหาชนก ไปขอจดทะเบียนวิสาหกิจชุมชน กลุ่มพัฒนามะม่วงเพื่อคุณภาพส่งออก เมื่อปี 2552 กับสำนักงานเกษตรอำเภอเชียงดาว มีสมาชิกทั้งหมด 14 คน ผลผลิตที่ออกมาในระยะแรก ปี 2554-2555 ต้องนำผลผลิตไปจำหน่ายที่อำเภอพร้าว เนื่องจากผลผลิตไม่มากพอที่พ่อค้าจะมาเปิดจุดรับซื้อ
ปี 2556 ผลผลิตมะม่วงของอำเภอเชียงดาวเริ่มให้ผลผลิตมากขึ้น คณะกรรมการวิสาหกิจชุมชนระดับอำเภอ นำโดยคุณลุงสุวิทย์ ได้ไปติดต่อพ่อค้าให้มาตั้งจุดรับซื้อมะม่วงเพื่อส่งออกในพื้นที่อำเภอเชียงดาว เพื่อส่งไปจำหน่ายทั้งในและต่างประเทศ ได้แก่ ญี่ปุ่น รัสเซีย สิงคโปร์ ไต้หวัน จีน มาเลเซีย อินโดนีเซีย เป็นต้น มะม่วงน้ำดอกไม้ทำรายได้เข้าสู่ท้องถิ่นไม่ต่ำกว่าปีละ 126 ล้านบาท ส่วนมะม่วงมหาชนก นอกจากขายผลสดแล้วยังนำไปแปรรูปเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม ในลักษณะน้ำมะม่วงและมะม่วงกวน ขายดิบขายดีเป็นที่ต้องการของตลาดในวงกว้าง
นโยบายการพัฒนามะม่วงส่งออก
คุณโอฬาร พิทักษ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เปิดเผยว่า ประเทศไทยเป็นแหล่งผลิตผลไม้เมืองร้อนที่ดีที่สุดในโลก คิดเป็นมูลค่า 30,000-40,000 ล้านบาท ต่อปี ในปีที่ผ่านมา ประเทศไทยสามารถส่งออกมะม่วงได้มากกว่า 70,000 ตัน สร้างรายได้เข้าสู่ประเทศมากกว่า 3,000 ล้านบาท จากเดิมที่เคยมีมูลค่าส่งออกเพียง 100 ล้านบาท เมื่อช่วง 10 ปีก่อน
ปัจจุบันคู่ค้าหลักที่ซื้อมะม่วงจากไทย ได้แก่ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และจีน ปัจจุบันประเทศไทยมีพื้นที่ปลูกมะม่วงมากกว่า 2 ล้านไร่ แต่เป็นลักษณะการปลูกเชิงธุรกิจไม่ถึง 50% และพบปัญหาเรื่องการจัดการ และการถ่ายทอดองค์ความรู้ระหว่างเกษตรกรด้วยกัน ดังนั้น กรมส่งเสริมการเกษตรจึงวางนโยบายส่งเสริมการปลูกมะม่วงเชิงธุรกิจให้เพิ่มมากขึ้น โดยสนับสนุนองค์ความรู้เรื่องการปลูกมะม่วงคุณภาพดีมีมาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีและปลอดภัย (GAP) และวางแผนผลิตและการตลาดให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้ซื้อ
ที่ผ่านมา กรมส่งเสริมการเกษตรได้จัดอบรมความรู้การจัดการสวนมะม่วงเพื่อการส่งออกในพื้นที่อำเภอเชียงดาว โดยมุ่งเปลี่ยนแปลงพื้นที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ให้เป็นมะม่วงพันธุ์ดีแล้ว ยังส่งเสริมการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการปลูกมะม่วงของชาวสวนให้เป็นระบบมากขึ้น ผ่านศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพผลผลิตทางการเกษตร ปัจจุบัน ประเทศคู่ค้าหลักทั้งยุโรปและอเมริกา ต่างเจอปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำ ทำให้ยอดสั่งซื้อชะลอตัวลง ในปีนี้ กรมส่งเสริมการเกษตรจึงส่งเสริมการขยายตลาดส่งออกในภูมิภาคเอเชียให้มากขึ้น เพราะผลไม้ไทยเป็นที่รู้จักคุ้นเคยของคนเอเชียอยู่แล้ว จึงมีโอกาสที่จะเติบโตได้อย่างต่อเนื่องในอนาคต
ข้อมูลจาก
- นิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน technologychaoban.com
- matichon.co.th