การปลูกเมล่อนในโรงเรือนสิ่งแรกที่ควรคำนึงถึงคือวัสดุปลูกที่ใช้ควรจะใช้เพียงแกลบดำเท่านั้น เนื่องจากวัสดุปลูกส่วนใหญ่จะนำมาใช้ซ้ำ เพียงแต่ทุกครั้งที่จะทำการปลูกวัสดุปลูกที่อยู่ในถุงจะต้องทำการฆ่าเชื้อราก่อนเท่านั้น
การจัดการแบบนี้จะทำให้ไม่สิ้นเปลืองเรื่องของการซื้อวัสดุปลูกเพราะนำกลับมาใช้ได้อีก เมื่อจัดเรียงถุงปลูกและเดินระบบน้ำเรียบร้อยแล้วก็พร้อมที่จะย้ายกล้าจากถาดเพาะปลูกลงถุงในโรงเรือน พอย้ายกล้าเสร็จก็ต้องให้น้ำตามเพื่อให้แกลบดำกระชับกับราก จากนั้นก็ให้น้ำให้ปุ๋ยตามปกติ ราว 15 วันหลังย้ายปลูกก็จะถึงเวลามัดหรือผูกต้นให้ตั้งขึ้น
เนื่องจากเมล่อนเป็นพืชตระกูลเถาที่ไม่มีมือเกาะ ดังนั้นหากเอาขึ้นค้างก็ต้องช่วยจับมัดให้เถาเลื้อยขึ้นค้าง ราววันที่ 21-22 วันหลังการย้ายปลูก จะเป็นขั้นตอนของการเด็ดแขนงข้างออก โดยจะเด็ดแขนงตั้งแต่ใบจริงใบแรกจนถึงใบจริงใบที่ 10 ออกให้หมด จากนั้นก็จะเป็นช่วงของการไว้แขนงข้างเพื่อจะไว้ผลเมล่อน
โดยจะไว้แขนงเพื่อให้เมล่อนติดผลในช่วงข้อใบที่ 11 ถึงข้อใบที่ 13 ซึ่งจะเป็นตำแหน่งที่เหมาะสมสำหรับการไว้ผลเมล่อน แต่ในเรื่องของตำแหน่งไว้ผลเมล่อนนั้นอาจจะปรับเปลี่ยนตามฤดูกาลและสภาพของดอก การติดผลว่าสมบูรณ์หรือไม่ ซึ่งบางครั้งอาจจะมีการไว้ผลเลื่อนขึ้นไปถึงข้อที่ 12-15 ก็มี ต้องดูดอกตัวเมียว่ามีความสมบูรณ์มากน้อยเพียงใด
เพราะแขนงที่ไว้ 3 แขนงนั้นจะออกดอกเป็นดอกตัวเมีย (แขนงนั้นจะออกดอกเป็นดอกตัวเมีย ส่วนดอกตัวผู้จะอยู่ที่ลำต้นหลัก) เมื่อดูว่าดอกตัวเมียดอกนั้นมีความสมบูรณ์ ก็จะต้องช่วยผสมดอกด้วยมือ วิธีการผสมดอกช่วยด้วยมือโดยเด็ดดอกตัวผู้ ตัดกลีบดอกออกทิ้งเหลือแต่ก้านเกสรตัวผู้ นำไปผสมกับเกสรตัวเมียของดอกที่คงไว้จะช่วยให้ดอกนั้นพัฒนาเป็นผลคุณภาพดี
อีกเหตุผลหนึ่งที่ต้องใช้การผสมดอกช่วยเพราะการปลูกในโรงเรือนจะไม่มีแมลงจากธรรมชาติมาช่วยผสมเกสร โดยการเลือกใช้ละอองเกสรจากดอกตัวผู้ที่สามารถใช้จากต้นของมันเองก็ได้ หรือใช้จากต้นอื่นหรือจากสายพันธุ์อื่นก็ได้เพราะลักษณะเด่นอยู่ที่แม่ สำหรับการนำละอองเกสรจากดอกตัวผู้มาผสมให้กับดอกตัวเมียที่ต้องการให้เกิดเป็นผลเมล่อน ดอกตัวเมียนั้นจะบานในช่วงเช้า ควรช่วยผสมเกสรช่วงเช้าคือไม่เกินเวลา 10.00 น. เพราะหากสายกว่านี้อากาศจะร้อนทำให้ผสมไม่ติด หลังจากผสมได้ 1 วัน ถ้าสังเกตเห็นรังไข่ของดอกตัวเมียเริ่มพองตัวแสดงว่าผสมติด เมื่อ 3 แขนงที่ไว้ได้รับการผสมเกสร ก็จะติดผล 3 ผล ซึ่งเมล่อน 3 ผลนี้ก็จะถูกคัดเลือกผลที่สวยสมบูรณ์มากที่สุดไว้เพียงผลเดียวเท่านั้น
จะทำการคัดเลือกหลังจากการผสมผลไปได้ราว 1 อาทิตย์หรือขนาดผลเท่ากับลูกส้ม ซึ่งเมล่อนอ่อนอีก 2 ผล จะถูกเด็ดออกด้วยมือเท่านั้น การปลูกเมล่อนนั้นจะไม่มีการใช้กรรไกรเลยในขั้นตอนการดูแล จะใช้เพียงครั้งเดียวตอนเก็บเกี่ยวออกจากต้นเท่านั้น
เพราะการใช้กรรไกรหรือมีดนั้นจะส่งผลต่อการระบาดของเชื้อไวรัส ที่จะติดไปกับกรรไกรที่เราใช้นั่นเอง ถือเป็นพื้นฐานเบื้องต้นในการทำงานหรือการปลูกเมล่อน ผลเมล่อนอ่อนจะนำไปขายที่ตลาด กิโลกรัมละ 20 บาท ซึ่งสามารถเอาไปแกงเหมือนแตงอ่อนทั่วไป ผลอ่อนเมล่อนจะได้ความหวานหอม ทำให้มีรายได้เสริมไม่ได้ทิ้งเลย
เมื่อไว้ผลที่สวยที่สุดแล้วก็ต้องมาดูเรื่องของการไว้ใบ ต้นเมล่อน 1 ต้นจะต้องมีใบประมาณ 24-25 ใบ ส่วนยอดต้องตัดทิ้งไปเลย เพื่อหยุดการเติบโตของยอดเถา.
จาก dailynews.co.th