|
ปลูกกล้วยไข่ ในสวนยาง |
สวนยาง กับ ปลูกกล้วยไข่ ก็รวยกันได้
ปลูกกล้วยไข่ ในสวนยาง ทำเงินได้มหาศาล เดือนละ 30,000 บาท ปลูกดูแลง่าย ลงทุนปลูกแค่ครั้งเดียวอยู่ได้เป็น 10 ปี
บางครั้งเราเองก็อาจจะมองข้ามพื้นที่เหล่านี้ไปตัวอย่างดีๆ มีให้เห็นออยู่แล้ว แต่วันนี้ผมขอหยิบยกขึ้นมาพูดคุยให้ฟังกันอีกสักครั้ง คือ คุณภู จันทรวงศ์ เจ้าของสวนยางที่ เขามองเห็นพื้นที่ว่างระหว่างต้นยาง เข้าได้นำพื้นที่เหล่านั้นมาปลูกต้นกล้วแซมเเพื้อเป็นการสร้างรายได้ ระหว่างรอให้ต้นยางเติบโตจนเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ครับ ....
“กล้วยไข่” แซมสวนยาง โกยรายได้ เดือนละ 3 หมื่น
หลายคนอาจนึกถึงแหล่งท่องเที่ยวสวนเกษตรและผลไม้รสอร่อย ในพื้นที่บ้านซำตารมย์ หมู่ที่ 7 ตำบลตระกาจ ซึ่งเปิดฤดูท่องเที่ยวชมสวนเงาะและทุเรียนเป็นประจำทุกปี ระหว่างช่วงเดือนพฤษภาคม-กรกฎาคม ในฉบับนี้ ผู้เขียนขอเปลี่ยนบรรยากาศพาท่านผู้อ่านไปชมเส้นทางเที่ยวชมชิมผลไม้รสอร่อย พร้อมชมสวนยางพารา ในพื้นที่ตำบลจานใหญ่ อำเภอกันทรลักษ์ จังหวัดศรีสะเกษ/จิรวรรณ โรจนพรทิพย์ (เรื่อง)
เจ้าของสวนไม้ผลผสมผสานรายนี้ ชื่อว่า คุณภู จันทรวงศ์ อายุ 53 ปี อาศัยอยู่ บ้านเลขที่ 148 หมู่ที่ 10 บ้านมหาราช ตำบลจานใหญ่ อำเภอกันทรลักษ์ จังหวัดศรีสะเกษ 33110 พี่ภูเล่าให้ฟังว่า ครอบครัวเธอมีที่ดินทำกิน 14 ไร่ ปลูกข้าวโพดไร่เป็นรายได้หลัก หลังเก็บเกี่ยวผลผลิตออกขายจะมีรายได้ ประมาณ 200,000 บาท แต่มีต้นทุนค่าใช้จ่ายสูงมาก หลังหักต้นทุนค่าเมล็ดพันธุ์ ค่าปุ๋ยเคมี ค่าน้ำมัน สำหรับไถเตรียมดินแล้ว เหลือรายได้ติดกระเป๋าเพียงแค่ 30,000 บาท ทำแล้วขาดทุน ไม่คุ้มค่ากับความเหนื่อย
|
ภาพกล้วยไข่ ที่ปลูกในสวนยาง |
พี่ภูตัดสินใจเปลี่ยนอาชีพมาทำสวนผลไม้ โดยเน้นปลูกเงาะและทุเรียนพันธุ์หมอนทองเป็นหลัก ต่อมาเจอปัญหาเงาะล้นตลาด ขายผลผลิตได้ในราคาถูกมาก แค่กิโลกรัมละ 7 บาท ทำแล้วขาดทุน รายได้ไม่เพียงพอกับค่าใช้จ่าย ซึ่งเป็นค่าปุ๋ย ค่ายา พี่ภูจึงโค่นต้นเงาะทิ้งทั้งหมด เหลือแค่ต้นทุเรียนพันธุ์หมอนทอง และนำไม้ผลอื่นๆ มาปลูกแซม เช่น ลองกอง ส้มโอพันธุ์ทองดี ส้มเขียวหวาน มังคุด และกล้วยไข่ พี่ภูพาเดินชมสวนไปเรื่อยๆ ไปเจอต้นทุเรียนกำลังออกดอกพราวเต็มต้น ขณะที่ต้นถัดไปมีลูกทุเรียนหมอนทองขนาดผลย่อมๆ ที่รอเก็บเกี่ยวในเดือนเมษายน-พฤษภาคม ใกล้ๆ กันเป็นต้นลองกองและต้นกล้วยไข่ที่กำลังออกเครือใกล้เก็บเกี่ยวผลผลิตออกขายในไม่ช้า
การบำรุงดูแลสวนไม้ผลผสมผสานแห่งนี้พี่ภูจะใส่ปุ๋ยเคมี สูตร 15-15-15 ครั้งละประมาณ 1 กำมือ หว่านรอบโคนต้นไม้ผล ทุกๆ 3 เดือน สำหรับพื้นที่ 14 ไร่ จะใช้ปุ๋ยเคมี ประมาณ 3 กระสอบ พร้อมติดตั้งหัวสปริงเกลอร์ให้น้ำทุกๆ 4-5 เมตร เปิดให้น้ำทุก 1-2 วัน ต่อครั้ง เมื่อถึงช่วงฤดู พ่อค้าจะหาแรงงานมาเก็บผลผลิตเอง ปีที่ผ่านมาเก็บลองกองออกขายได้ ประมาณ 1 ตัน ขายส่งในราคาหน้าสวน อยู่ที่กิโลกรัมละ 20 บาท ส่วนทุเรียน ราคาขายหน้าสวน อยู่ที่กิโลกรัมละ 30 บาท
|
กล้วยไข่ที่ออกผลแล้ว |
ทุกวันนี้ กล้วยไข่ กลายเป็นสินค้าหลักที่สร้างรายได้ก้อนโต ถึงเดือนละ 30,000 บาท พี่ภูบอกว่า กล้วยไข่ เป็นพืชที่ปลูกดูแลง่าย ลงทุนปลูกแค่ครั้งเดียวอยู่ได้เป็น 10 ปี พี่ภูหาซื้อพันธุ์กล้วยไข่จากเพื่อนบ้านนำมาปลูก ปลูกในระยะ 2x2 เมตร 1 ไร่ ปลูกได้ 350-400 หน่อ ปลูกแค่ 8 เดือน ก็เก็บเกี่ยวผลผลิตออกขายได้ เก็บกล้วยไข่ออกขายทุกๆ 15 วัน โดยจะมีพ่อค้าขาประจำเข้ามารับซื้อกล้วยไข่ถึงสวน ในราคากิโลกรัมละ 11 บาท หากตรงกับช่วงฤดูเงาะ ราคากล้วยไข่ก็จะถูกลง เหลือเพียงกิโลกรัมละ 9 บาท ก็ยังมีผลกำไรมากพอที่จะอยู่ได้อย่างสบาย
“ปลูกยางพารา” เพิ่มรายได้อีกทาง
ปี 2554 ยางพารา ขายได้ราคาดี รัฐบาลจึงมอบหมายให้ สำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง (สกย.)เปิดรับสมัครเกษตรกรที่สนใจเข้าร่วมโครงการปลูกยางพาราในที่แห่งใหม่ ระยะที่ 3 ตาม พ.ร.บ. กองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง มาตรา 21 ทวิ เพื่อส่งเสริมช่วยเหลือเกษตรกรให้ปลูกยางพันธุ์ดีในเขตพื้นที่ที่มีศักยภาพและเหมาะสม รายละ 2-15 ไร่ พี่ภูจึงสมัครเข้าร่วมโครงการดังกล่าว
สกย. จังหวัดศรีสะเกษ สนับสนุนปัจจัยการผลิตในระยะ 3 ปีแรก เป็นเงินรวม 3,529 บาท ต่อไร่ โดยแบ่งจ่ายเป็นงวดตามหลักเกณฑ์ที่ สกย. กำหนด ซึ่งประกอบด้วยค่าพันธุ์ยาง ปุ๋ย และเมล็ดพืชคลุมดิน ส่วนที่เหลือปีที่ 4-7 เกษตรกรต้องใช้ทุนเอง หรือขอเข้าร่วมโครงการกับ ธ.ก.ส. โดยได้รับการถ่ายทอดความรู้การทำสวนยางอย่างถูกหลักวิชาการจาก สกย. ตลอดเวลาที่เข้าร่วมโครงการ
พี่ภูสามารถปลูกยางพาราแซมกับไม้ผลที่อยู่เดิม ในพื้นที่ 14 ไร่ ได้โดยไม่ตัดไม้ยืนต้นเดิมที่มีอยู่ในสวนสักต้นเดียว เพราะไม้ยืนต้นในสวนแห่งนี้ ปลูกในระยะห่าง 8x8 ตารางเมตร ระยะ 9x9 ตารางเมตร และระยะ 10x10 ตารางเมตร จึงไม่เป็นอุปสรรคต่อการเติบโตของต้นยางพารา พี่ภูนำต้นยางพารา พันธุ์ 251และ พันธุ์ 600 มาปลูกแซมในสวนไม้ผล ในระยะ 3x7 เมตร ได้อย่างสบายๆ โดยพื้นที่ 1 ไร่ จะสามารถปลูกยางได้ จำนวน 76 ต้น ปัจจุบัน ต้นยางในสวนแห่งนี้อายุ 3 ปีกว่า จะเปิดกรีดได้เมื่อต้นยางอายุครบ 7 ปี
การบำรุง ดูแล รักษาสวนยางพารานับจากวันแรกจนถึงวันที่เปิดกรีดได้ ต้องใช้เวลา 6-7 ปี ซึ่งนับว่านานพอสมควร ระหว่างที่รอเปิดกรีดนี้ เป็นช่วงที่มีแต่รายจ่าย แต่พี่ภูรับมือกับปัญหานี้ได้สบายมาก เพราะมีรายได้เสริมจากไม้ที่ปลูกไว้เต็มพื้นที่ 14 ไร่ แห่งนี้
“เลี้ยงจิ้งหรีด” เพิ่มผลกำไรอีกต่อ
พี่ภูเป็นคนขยันขันแข็งในการทำงานมาก เนื่องจากเธอยังเหลือเวลาว่างหลังจากการดูแลสวนยางและไม้ผล จึงลงทุนเลี้ยงจิ้งหรีดเป็นรายได้เสริมเลี้ยงครอบครัวอีกทางหนึ่ง โดยลงทุนเลี้ยงจิ้งหรีด ครั้งละ 5 กล่อง ใช้เงินทุนต่ำ ใช้พื้นที่ไม่มาก สามารถเลี้ยงในบริเวณบ้านได้ การเลี้ยงจิ้งหรีดแต่ละรุ่นใช้เวลาเลี้ยงไม่นาน ช่วงอากาศร้อนจิ้งหรีดโตเร็ว ใช้เวลาเลี้ยงแค่ 35-40 วัน ช่วงหน้าหนาวจะใช้เวลาเลี้ยงนานหน่อย ประมาณ 50-60 วัน
การเลี้ยงจิ้งหรีดทำได้ไม่ยาก เริ่มจากการทำกล่องเลี้ยง ใช้ถาดไข่เป็นรังในการเลี้ยง กล่องหนึ่งใช้ประมาณ 30 ถาด ลงทุนไข่จิ้งหรีด ถาดละ 150 บาท มีตัวประมาณ 3-4 กิโลกรัม ต่อถาด เลี้ยงโดยให้อาหารจิ้งหรีดคือ หัวอาหารจิ้งหรีด ใบมันสำปะหลัง และเศษอาหารอื่นๆ เช่น ฟักทอง เศษผัก ฯลฯ เมื่อคำนวณต้นทุนค่าไข่จิ้งหรีดบวกกับต้นทุนค่าอาหาร จะมีค่าใช้จ่ายเฉลี่ย กล่องละ 1,000 กว่าบาท เมื่อขายจะมีรายได้ ประมาณ 20,000 บาท ต่อรุ่น ถือว่าได้กำไรก้อนโต หายเหนื่อยกันเลยทีเดียว
สำหรับเกษตรกรชาวสวนยางที่ประสงค์หารายได้เสริมระหว่างที่ราคายางตกต่ำทาง สกย. ได้จัดสรรงบประมาณส่วนหนึ่งสำหรับเป็นเงินทุนหมุนเวียนให้เกษตรกรกู้ยืมไปใช้ลงทุน เฉลี่ยรายละไม่เกิน 50,000 บาท คิดอัตราดอกเบี้ย ไม่เกิน ร้อยละ 2 บาท ต่อปี การอนุมัติเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำดังกล่าว จะพิจารณาจากความพร้อมของตัวเกษตรกร สภาพพื้นที่ รวมทั้งการนำเงินไปใช้ลงทุน ว่ามีศักยภาพแค่ไหน ให้ผลตอบแทนคุ้มค่ากับการลงทุนหรือไม่ ขณะนี้ สกย. จังหวัดศรีสะเกษ กำลังเร่งประชาสัมพันธ์การปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำดังกล่าวให้เกษตรกรชาวสวนยางที่สนใจเข้ามาขอใช้บริการมากขึ้น
นอกจากนี้ สกย. พยายามช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยาง ในเรื่องการลดต้นทุนการผลิต โดยสนับสนุนความรู้ด้านวิชาการ เรื่องการผลิตปุ๋ยสั่งตัด เพื่อให้เกษตรกรเลือกใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน และสนับสนุนให้เกษตรกรชาวสวนยางทำปุ๋ยอินทรีย์ใช้เอง เพื่อประหยัดค่าใช้จ่ายในการดูแลสวนยางให้น้อยลง เพื่อจะเหลือผลกำไรเข้ากระเป๋าได้มากที่สุด
หากเกษตรกรรายใดมีข้อสงสัยเกี่ยวกับโครงการเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำดังกล่าว สามารถขอข้อมูลเพิ่มเติมจาก สำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยางจังหวัดศรีสะเกษ เลขที่ 303/21-22 ถนนศรีสะเกษ-ขุนขันธ์ หมู่ที่ 8 ตำบลหนองครก อำเภอเมือง จังหวัดศรีสะเกษ ตั้งแต่บัดนี้ หรือสอบถามทางโทรศัพท์ หมายเลข (045) 617-828 ในวันและเวลาราชการ
ที่มา มติชนออนไลน์