data-ad-format="autorelaxed">
นายวิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า ภาวะเศรษฐกิจการเกษตร ซึ่งวัดจากดัชนีราคาสินค้าเกษตรประจำเดือนกันยายน 2560 ลดลงร้อยละ 6.12 จากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา โดยสินค้าที่ราคาปรับตัวลดลงได้แก่ สุกร ราคาลดลงเนื่องจากผลผลิตเพิ่มขึ้น ประกอบกับหลายพื้นที่มีฝนตกชุกต่อเนื่อง ทำให้การซื้อขายไม่คล่องตัว ส่งผลต่อความต้องการบริโภคชะลอตัวลงเล็กน้อย ไข่ไก่ ราคาลดลงเนื่องจากปริมาณผลผลิตออกสู่ตลาดเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา อีกทั้งเป็นช่วงโรงเรียนปิดภาคเรียน ทำให้ปริมาณการบริโภคไข่ไก่ชะลอตัว กุ้งขาวแวนนาไม ราคาลดลงเนื่องจากผลผลิตออกจำหน่ายสู่ตลาดปริมาณเพิ่มขึ้น และ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ราคาลดลงเนื่องจากผลผลิตออกสู่ตลาดมากขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาที่ยังคงได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง ประกอบกับมีการใช้วัตถุดิบชนิดอื่นทดแทนในการผลิตอาหารสัตว์ ส่งผลความต้องการใช้ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ลดลง
สินค้าที่ราคาปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ ยางพารา ราคาเพิ่มขึ้นเนื่องจากภาครัฐขอความร่วมมือจากผู้ประกอบการให้เข้าซื้อขายยางพารา ส่งผลให้ราคาปรับตัวสูงขึ้น และ ไก่เนื้อ ราคาเพิ่มขึ้นเนื่องจากปริมาณผลผลิตไก่เนื้อออกสู่ตลาดมีความสอดคล้องกับความต้องการบริโภคที่เพิ่มขึ้นเล็กน้อยสำหรับเดือนตุลาคม 2560 คาดว่า ดัชนีราคาจะลดลงเมื่อเปรียบเทียบกับเดือนตุลาคม 2559 สินค้าสำคัญที่ราคาลดลง ได้แก่ ข้าวเปลือก ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ลองกอง สุกร และกุ้งขาวแวนนาไม ในขณะเดียวกันแนวโน้มเดือนพฤศจิกายน 2560 คาดว่าดัชนีราคาลดลงต่อเนื่อง เนื่องจากผลผลิตสินค้าเกษตรที่สำคัญ อาทิ ข้าวนาปี และยางพารา มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น
ด้านดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรเดือนกันยายน 2560 พบว่า เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.03 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา (กันยายน 2559) สินค้าสำคัญที่ผลผลิตเพิ่มขึ้น ได้แก่ ยางพารา ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ สุกร ไก่เนื้อ ไข่ไก่ และกุ้งขาวแวนนาไม ส่วนสินค้าสำคัญที่ผลผลิตลดลง ได้แก่ ปาล์มน้ำมัน ลองกอง และเงาะโรงเรียน สำหรับเดือนตุลาคม 2560 คาดว่า ดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรจะลดลงเปรียบเทียบกับเดือนตุลาคม 2559 โดยสินค้าสำคัญที่ผลผลิตลดลง ได้แก่ ข้าวเปลือก ยางพารา สุกร และกุ้งขาวแวนนาไม ในขณะที่แนวโน้มเดือนพฤศจิกายน 2560 คาดว่าดัชนีผลผลิตจะเพิ่มขึ้น
ทั้งนี้ ภาพรวมดัชนีรายได้ของเกษตรกร เดือนกันยายน 2560 เพิ่มขึ้นจากเดือนกันยายน 2559 ร้อยละ 0.48 เป็นผลมาจากดัชนีผลผลิตปรับตัวเพิ่มขึ้น ร้อยละ 7.03 และดัชนีราคาปรับตัวลดลง ร้อยละ 6.12 โดยในเดือนตุลาคม 2560 คาดว่าดัชนีรายได้เกษตรกรจะลดลงเมื่อเทียบกับเดือนตุลาคม 2559 ในขณะที่แนวโน้มดัชนีรายได้เกษตรกรเดือนพฤศจิกายน 2560 คาดว่าอยู่ในระดับทรงตัว
source: naewna.com/local/298032