data-ad-format="autorelaxed">
ส่งออกสินค้าเกษตร
สินค้าเกษตรฉุดส่งออกเดือนกันยายนโต ชาวนาโวยไม่ได้รับอานิสงส์ แถมถูกกดราคารับซื้อทั้งข้าวเลือกเจ้าและเปลือกหอมมะลิเหลือแค่ 6-8 พันบาทต่อตัน ขณะกุ้งส่งออกขยายตัว แต่ราคาในประเทศรูดหนัก จากผลผลิตเริ่มล้นตลาด ขนาด 100 ตัว/กก.เหลือแค่ 115 บาทต่ำสุดในรอบปี “สับปะรด-มะพร้าว”เฮ ยังขายได้ราคาสูง
จากที่กระทรวงพาณิชย์ได้แถลงตัวเลขการส่งออกในเดือนกันยายนล่าสุดได้กลับมาขยายตัวเป็นบวกที่ 3.2% โดยระบุส่วนหนึ่งเป็นผลจากมูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรกลับมาขยายตัวครั้งแรกในรอบ 7 เดือน และขยายตัวสูงสุดในรอบ 2 ปี โดยสินค้าในกลุ่มนี้ที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นได้แก่ ผัก ผลไม้สด กระป๋องและแปรรูป(+32.4%) กุ้งแช่แข็งและแปรรูป(+27.1%) และข้าว(+6.4%) อย่างไรก็ดีจากการส่งออกที่ขยายตัวดังกล่าว “ฐานเศรษฐกิจ”ได้ตรวจสอบเกษตรกรและผู้ที่เกี่ยวข้องในกลุ่มสินค้าข้างต้นว่าได้รับอานิสงส์หรือไม่ อย่างไร
นายปัญญา จุลอำพันธ์ นายกสมาพันธ์เครือข่ายชาวนาแห่งประเทศไทย เผยว่า การส่งออกข้าวในเดือนกันยายน 2559 ที่ขยายตัว 6.4%(คิดเป็นปริมาณ 7.92 แสนตัน)นั้น อานิสงส์ไม่ตกถึงชาวนาเพราะยังขายข้าวเปลือกได้ในราคาที่ต่ำมากจนเกือบไม่คุ้มทุน โดยในส่วนของราคาข้าวต้นฤดูการผลิต 2559/60 ที่ผลผลิตของเกษตรกรเริ่มทยอยออกสู่ตลาด ในส่วนของข้าวเปลือกเจ้า ความชื้นไม่เกิน 15% เวลานี้ชาวนาขายได้เพียง 6,000-7,200 พันบาท/ตัน และข้าวเปลือกหอมมะลิความชื้นเดียวกันซื้อขายจริงไม่เกิน 8,000 บาทต่อตันเท่านั้น ซึ่งหากความชื้นสูงเกินกว่า 15% ราคาก็จะลดต่ำลงอีก
“ราคาข้าวสารหอมมะลิส่งออกของเดือนตุลาคมอยู่ที่ 600 ดอลลลาร์สหรัฐต่อตัน หรือราว 20,945 บาทต่อตัน รัฐกำหนดให้โรงสีรับซื้อ 11,700 บาทต่อตัน แต่ชาวนาขายได้จริงราว 6,000-7,000 บาทต่อตัน หรือสูงสุดไม่เกิน 8,000 บาทต่อตัน โดยผู้ส่งออกอ้างข้าวล้นตลาดโลกไม่มีออเดอร์ โรงสีก็กดราคารับซื้อเป็นทอดๆ”
ขณะที่ในสินค้ากุ้งนายสมศักดิ์ ปณีตัธยาศัย นายกสมาคมกุ้งไทย กล่าวว่า การส่งออกสินค้ากุ้งที่สูงขึ้นในช่วงที่ผ่านมาของปีนี้ ผู้เลี้ยงกุ้งถือว่าได้รับอานิสงส์จากราคากุ้งที่ปรับตัวสูงขึ้น อย่างไรก็ตามราคากุ้ง(กุ้งขาวแวนนาไม)ในเวลานี้เริ่มอ่อนตัวลงอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุดราคากุ้งขนาด 100 ตัว/กก.(ราคาตลาดกลางมหาชัย)เฉลี่ยอยู่ที่ 115 บาท/กก. จากช่วงกลางปีเฉลี่ยที่ 170-180 บาท/กก. ราคากุ้งที่ 115 บาท/กก.ถืออยู่ในเกณฑ์ต่ำกว่ามาตรฐาน แม้จะเป็นราคาที่เกษตรกรพออยู่ได้ก็ตาม
“ราคากุ้งที่อ่อนตัวลงมาส่วนหนึ่งอาจเป็นผลจากปริมาณกุ้งที่ออกมามาก จากเกษตรกรสามารถเลี้ยงกุ้งมีอัตรารอดที่ดีขึ้น จากเมื่อก่อนมีปัญหาโรคตายด่วน หรือEMS ซึ่งทั้งปีนี้สมาคมคาดผลผลิตกุ้งไทยจะมีไม่ต่ำกว่า 3 แสนตัน จากปี 2558 ผลิตได้ประมาณ 2.6 แสนตัน เราหวังว่าราคากุ้งไม่น่าจะต่ำกว่านี้แล้วหากไม่มีอะไรผิดปกติ”
ด้านนายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา นายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูปกล่าวว่า การส่งออกสินค้ากลุ่มผัก ผลไม้สด กระป๋องและแปรรูปที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นในเดือนกันยายนในข้อเท็จจริงก็ขยายตัวมาโดยตลอด อานิสงส์ตกกับเกษตรกรในหลายกลุ่ม ที่สำคัญได้แก่ ผู้ปลูกสับปะรด จากภัยแล้งในปลายปีที่ผ่านมาต่อเนื่องถึงต้นปีนี้ ทำให้มีผลผลิตออกสู่ตลาดน้อย ผู้ส่งออกได้รับซื้อสับปะรดจากเกษตรกรจากปลายปี 2558ถึงปัจจุบันเฉลี่ยที่ 10-15 บาท/กก. จากราคา 2 ปีที่ผ่านมาเฉลี่ยอยู่ที่ 5-7 บาท/กก. โดยผู้ส่งออกไปปรับราคาขายสับปะรดกระป๋อง ทั้งในรูปสับปะรดเป็นชิ้นและน้ำสับปะรดที่ประมาณ 10% ตามต้นทุนวัตถุดิบ
นอกจากนี้ยังมีกลุ่มผลิตภัณฑ์จากมะพร้าว ทั้งน้ำมะพร้าว กะทิ น้ำมันมะพร้าว สกัดเย็นที่กำลังได้รับความนิยมในต่างประเทศ ส่งผลให้เกษตรกรขายวัตถุดิบได้ในราคาที่สูงขึ้นด้วย ปัจจุบันราคามะพร้าวผลที่เกษตรขายได้เฉลี่ยที่ 18-21 บาท/กก. จากอดีตเคยขายได้เพียง 5-7 บาท/กก. ขณะที่ 2 เดือนที่ผ่านมาขึ้นไปสูงสุด 25 บาท/กก. จากผลผลิตในประเทศขาดแคลนจากภัยแล้ง และโรคระบาดในมะพร้าวก่อนหน้านี้
อนึ่ง การส่งออกของไทยในภาพรวม 9 เดือนแรกของปี 2559 มีการส่งออกมูลค่า 160,468 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขยายตัวลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 0.65% ส่วนการนำเข้ามีมูลค่า 142,538 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขยายตัวลดลง 7.3% ส่งผลให้ไทยยังเกินดุลการค้า 17,930 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
source: thansettakij.com/2016/11/01/110264