data-ad-format="autorelaxed">
ส่งออกอาหารแปรรูป
อุตสาหกรรมอาหารแปรรูปและเครื่องดื่ม ถือเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมการผลิตที่มีขีดความสามารถในการแข่งขันในการส่งออกสูง โดยในปี 2558 ภาพรวมมูลค่าส่งออกอาหารแปรรูปไทยอยู่ที่ 17,322.36 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยร้อยละ 43.2 ของมูลค่าส่งออกอาหารแปรรูป (รวมเครื่องดื่ม) มาจากการส่งออกของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) และไทยนับเป็นผู้ส่งออกอาหารแปรรูปรายใหญ่อันดับ 10 ของโลก โดยอาหารแปรรูปที่ประเทศไทยมีบทบาทสำคัญในระดับโลกทั้งในด้านการผลิตและการส่งออกนั้น ได้แก่ ไก่แปรรูป กุ้งกระป๋องและแปรรูป และสับปะรดกระป๋อง
1.ไก่แปรรูป ประเทศไทยส่งออกไก่แปรรูปมากเป็นอันดับ 1 ของโลก และมีส่วนแบ่งตลาดส่งออกคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 26.2 ของมูลค่าส่งออกไก่แปรรูปโลกในปี 2557 โดยตลาดส่งออกไก่แปรรูปที่สำคัญของไทย คือ ญี่ปุ่นและสหภาพยุโรป และมีคู่แข่งการค้าที่สำคัญอย่างประเทศจีนในตลาดญี่ปุ่น แม้ไทยจะมีความเสียเปรียบทางด้านต้นทุนการผลิตและค่าขนส่งที่สูงกว่า แต่การเจรจาเขตการค้าเสรีญี่ปุ่น-ไทย (JTEPA) ช่วยยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันในการส่งออกไก่แปรรูปของไทยเหนือคู่แข่งการค้าอย่างจีน ซึ่งกลยุทธ์เจาะตลาดส่งออกไก่แปรรูปในญี่ปุ่น เช่น ออกผลิตภัณฑ์ไก่แปรรูปออร์แกนิคเพื่อจับกลุ่มผู้บริโภคญี่ปุ่นที่ใส่ใจสุขภาพและสิ่งแวดล้อม ขอตราฮาลาลรับรองผลิตภัณฑ์ไก่แปรรูปเพื่อรองรับกลุ่มผู้บริโภคชาวมุสลิมที่กำลังขยายตัวในญี่ปุ่น
2. กุ้งกระป๋องและแปรรูป ในปี 2557 ไทยและเวียดนามมีตลาดส่งออกกุ้งกระป๋องและแปรรูปที่สำคัญร่วมกัน คือ สหรัฐฯ ญี่ปุ่น และสหภาพยุโรป แต่เวียดนามมีความสามารถทางการแข่งขันสูงกว่าไทยเนื่องจากเวียดนามลงนามเป็นหนึ่งในสมาชิกความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (TPP) ซึ่งมีสหรัฐฯและญี่ปุ่นร่วมลงนาม ทำให้ไทยสูญเสียส่วนแบ่งตลาดส่งออกสหรัฐฯและญี่ปุ่นให้กับเวียดนามมากยิ่งขึ้น และเวียดนามบรรลุข้อตกลงการเจรจาเขตการค้าเสรีกับสหภาพยุโรป (FTA) ทำให้ไทยเสียเปรียบในเรื่องสิทธิพิเศษทางภาษีมากขึ้น ดังนั้น กลยุทธ์เพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันในการส่งออกกุ้งกระป๋องและแปรรูป เช่น สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้ากุ้งกระป๋อง/แปรรูปมากขึ้น ร่วมมือกับฟาร์มเพาะเลี้ยงกุ้งในการพัฒนาสินค้าให้เป็นไปตามความต้องการของคู่ค้า ร่วมกับภาครัฐในการแก้ปัญหาแรงงานในอุตสาหกรรมแปรรูปกุ้งอย่างยั่งยืน
3. สับปะรดกระป๋อง ในปี 2557 ประเทศไทยส่งออกสับปะรดกระป๋องมากเป็นอันดับ 1 ของโลก โดยครองส่วนแบ่งตลาดส่งออกมากถึงร้อยละ 45.6 ของมูลค่าส่งออกสับปะรดกระป๋องทั่วโลก โดยมีตลาดส่งออกที่สำคัญอย่างสหรัฐฯและสหภาพยุโรป และมีคู่แข่งการค้าที่สำคัญอย่างฟิลิปปินส์และอินโดนีเซีย ซึ่งไทยเสียเปรียบในเรื่องต้นทุนการผลิตและภาษีนำเข้าที่เสียในอัตราที่สูงกว่าฟิลิปปินส์และอินโดนีเซีย แต่ยังคงรักษาขีดความสามารถในการแข่งขันได้ เพราะไทยมีศักยภาพในการแปรรูปสับปะรดสูง ทั้งในด้านกำลังการผลิตและจำนวนโรงงานที่ได้มาตรฐานระดับส่งออก รวมถึงความพร้อมของธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องที่สนับสนุนอุตสาหกรรมการผลิตสับปะรดกระป๋อง ซึ่งกลยุทธ์จัดการต้นทุนการผลิต เช่น นำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในกระบวนการผลิตแทนแรงงาน เช่น เครื่องปอกสับปะรด จะช่วยลดต้นทุนการผลิตและลดการพึ่งพิงแรงงานได้ในระยะยาว
source: kasikornbank.com/TH/SME/KSMEKnowledge/KSMEAnalysis/Pages/export_processed-food.aspx