data-ad-format="autorelaxed">
เศรษฐกิจภูมิภาค
เศรษฐกิจภูมิภาค Q2เกษตรยังอ่อนแอ คาดไตรมาส 3 อีสานขยายตัวค่อยเป็นค่อยไปใต้ยังเผชิญเสี่ยง
ธปท.แจงเศรษฐกิจภูมิภาคไตรมาส 2/59 ภาคเหนือและใต้ทรงตัว อีสานขยายเล็กน้อย ชี้แรงขับเคลื่อนสำคัญมาจากการใช้จ่ายภาครัฐ ส่งออกและอุปโภคบริโภค ส่วนด้านการผลิตอุตสาหกรรม-รายได้เกษตรกรยังหดตัว กำลังซื้อภาคเกษตรยังอ่อนแอ ขณะที่ระยะต่อไปไตรมาส 3 ยังเผชิญเสี่ยง
ธนาคารแห่งประเทศไทยแถลงเศรษฐกิจและการเงินไตรมาส 2/2559 พบว่าภาคเหนือทรงตัวใกล้เคียงกับไตรมาสก่อนโดยแรงขับเคลื่อนสำคัญยังคงมาจากการใช้จ่ายของภาครัฐ การส่งออกชายแดนไปประเทศเมียนมาและภาคการท่องเที่ยวที่ยังขยายตัวดี ขณะที่การบริโภคภาคเอกชนค่อนข้างทรงตัว แม้การใช้จ่ายในกลุ่มสินค้าคงทนปรับเพิ่มขึ้น เนื่องจากมีการส่งเสริมการขายและออกรถยนต์รุ่นใหม่ แต่การบริโภคสินค้าที่ใช้ในชีวิตประจำวันยังลดลงต่อเนื่อง จากกำลังซื้อของประชาชนในภาคเกษตรที่ยังอ่อนแอเป็นปัจจัยฉุดรั้งเศรษฐกิจมายังภาคการผลิต ทั้งภาคเกษตรที่ได้รับผลกระทบมาจากภัยแล้งและภาคอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับการส่งออกยังหดตัวเพิ่มขึ้น สอดคล้องกับการลงทุนภาคเอกชนโดยเฉพาะภาคอสังหาริมทรัพย์ที่ยังซบเซาแม้จะเริ่มเห็นการลงทุนเพิ่มบ้างในบางอุตสาหกรรม แต่ยังไม่เห็นแนวโน้มการลงทุนเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน
สำหรับเสถียรภาพเศรษฐกิจภาคเหนือโดยรวมอยู่ในเกณฑ์ดี อัตราเงินเฟ้อกลับมาเพิ่มขึ้นบ้างจากราคาอาหารสดเป็นสำคัญ อัตราการว่างงานยังอยู่ในอัตราระดับต่ำ โดยมีการจ้างงานเพิ่มในภาคบริการและการก่อสร้าง ทั้งนี้ผู้ประกอบการในบางอุตสาหกรรมเริ่มนำเครื่องจักรมาใช้และค่อยๆทยอยปรับลดแรงงาน ซึ่งคาดว่าจะไม่ส่งผลกระทบต่อการเลิกจ้างอย่างมีนัยสำคัญ ด้านเงินฝากของธนาคารพาณิชย์ปรับเพิ่มขึ้น
ด้านภาคตะวันออกเฉียงเหนือ(อีสาน)ขยายตัวเล็กน้อยจากไตรมาสก่อน โดยได้รับแรงสนับสนุนสำคัญจากการใช้จ่ายภาครัฐที่ขยายตัว ทั้งการลงทุนและการกระตุ้นการใช้จ่ายท้องถิ่นที่มีอย่างต่อเนื่อง ส่วนการอุปโภคบริโภคเอกชนยังคงทรงตัว โดยการใช้จ่ายสินค้าอุปโภคบริโภคในชีวิตประจำวันทรงตัว การใช้ไฟฟ้าเพื่อที่อยู่อาศัยขยายตัวจากสภาพอากาศที่ร้อนกว่าปีก่อน ขณะที่การใช้จ่ายสินค้าคงทนในหมวดรถยนต์ปรับลดลงเล็กน้อย อย่างไรก็ตาม รายได้ภาคเกษตรยังหดตัวจากผลผลิตที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง ประกอบกับความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่อยู่ในระดับต่ำ
นอกจากนี้การลงทุนภาคเอกชนยังหดตัว โดยโครงการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน(บีโอไอ)ที่น่าสนใจ ได้แก่ กิจการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากน้ำมันยางดำและสารเคมีสำหรับการผลิตเยื่อกระดาษ มูลค่า 9,100 ล้านบาทที่จังหวัดบุรีรัมย์ กิจการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานไอน้ำมูลค่า 11,490 ล้านบาทที่จังหวัดนครราชสีมา กิจการผลิตยางเครปมูลค่า 5,805 ล้านบาทที่จังหวัดอุบลราชธานี มุกดาหาร นครพนม ศรีสะเกษ สกลนคร บึงกาฬ อุดรธานี และกิจการผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงชีวมวลมูลค่า 1,780 ล้านบาทที่จังหวัดกาฬสินธุ์ สำหรับสินเชื่อธนาคารพาณิชย์ชะลอลงทั้งภาคครัวเรือน และภาคธุรกิจ เสถียรภาพเศรษฐกิจยังอยู่ในเกณฑ์ปกติ โดยอัตราเงินเฟ้อกลับมาเป็นบวก หลังจากที่ติดลบต่อเนื่องตั้งแต่ไตรมาสแรกของปี 2558 อัตราว่างงานยังอยู่ในระดับต่ำ
ส่วนภาคใต้ภาวะเศรษฐกิจทรงตัว ด้วยแรงขับเคลื่อนจากการใช้จ่ายภาครัฐและการท่องเที่ยวที่ยังขยายตัว รวมทั้งการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนปรับตัวดีขึ้นตามรายได้เกษตรกร อย่างไรก็ตามผลกระทบจากภัยแล้ง ทำให้ผลผลิตสินค้าเกษตรที่สำคัญทั้งยางและปาล์มน้ำมันลดลง ประกอบกับเศรษฐกิจคู่ค้าฟื้นตัวช้าส่งผลให้การผลิตภาคอุตสาหกรรมขยายตัวในระดับต่ำ และมูลค่าการส่งออกหดตัว ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจอัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ 0.17% เพิ่มขึ้นจากราคาอาหารสดที่เร่งตัว ทั้งเนื้อสัตว์ เป็ดไก่ สัตว์น้ำและผักผลไม้ ส่วนอัตราการว่างงานอยู่ที่ 1.61% เพิ่มขึ้นเล็กน้อยตามการจ้างงานในภาคก่อสร้างที่ลดลง ทั้งนี้ จำนวนนักท่องเที่ยวขยายตัวจากนักท่องเที่ยวจีน รัสเซียที่ฟื้นตัวอย่างชัดเจน แต่แรงส่งชะลอตัวจากไตรมาสก่อน ส่วนหนึ่งเป็นผลจากเศรษฐกิจประเทศมาเลเซีย ทำให้นักท่องเที่ยวหลักเดินทางเข้ามาลดลง
ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนยังอยู่ในระดับต่ำ ตามภาวะอสังหาริมทรัพย์ที่ยังไม่เห็นสัญญาณการฟื้นตัวที่ชัดเจน ประกอบกับความไม่มั่นใจของผู้ประกอบการต่อเศรษฐกิจ ส่งผลให้เครื่องชี้การลงทุนทั้งพื้นที่ได้รับอนุญาตก่อสร้างในเขตเทศบาล การนำเข้าสินค้าทุนและปริมาณการจำหน่ายปูนซีเมนต์หดตัว แต่มีการลงทุนในธุรกิจท่องเที่ยวและในอุตสาหกรรมการผลิต ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตเพื่อลดต้นทุนต่อหน่วย มูลค่าการส่งออกหดตัวตามมูลค่าการส่งออกยางพารา ถุงมือยาง สัตว์น้ำแช่แข็งลดลงจากปลาและหมึก แต่อาหารกระป๋อง และไม้ยางพาราแปรรูปขยายตัวตามความต้องการใช้ที่ยังดีต่อเนื่อง ส่วนมูลค่านำเข้าหดตัวจากการนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิง เครื่องจักรและอุปกรณ์ และน้ำยางสังเคราะห์เป็นสำคัญ
อย่างไรก็ตาม แนวโน้มเศรษฐกิจไตรมาส 3/2559นั้น โดยภาคอีสานคาดว่าจะขยายตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป ปัจจัยสนับสนุนยังมาจากการเร่งรัดการใช้จ่ายภาครัฐ โดยเฉพาะการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและมาตรการส่งเสริมการลงทุนของภาคเอกชน (เช่น โครงการเงินกู้เพื่อการพัฒนาระบบบริหารจัดการทรัพยากรน้ำและระบบขนส่งทางถนนมูลค่า 4,969.6ล้านบาท) ภาวะภัยแล้งที่คลี่คลาย แต่ยังคงมีปัจจัยเสี่ยงจากเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าสำคัญ ทั้งจีนและเอเชียที่ชะลอตัวและหนี้ครัวเรือนอยู่ในระดับสูงซึ่งเป็นปัจจัยถ่วงการบริโภคภาคเอกชน
นอกจากนี้แนวโน้มเศรษฐกิจภาคใต้ในระยะต่อไป ยังมีความผันผวนและยังเผชิญปัจจัยเสี่ยง อาทิ ภาวะภัยแล้งจากปริมาณน้ำฝนสะสมในช่วงเดือนมกราคม-เมษายน 2559 น้อยกว่าปกติอาจมีผลกระทบต่อผลผลิตสินค้าเกษตรสำคัญเช่น ปาล์ม ยางพารา ซึ่งเป็นผลกระทบนอกเหนือจาก Brexit ที่ทำให้ความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจและการเมืองสูงขึ้นอาจส่งผลต่อไทย และความผันผวนในตลาดเงินจากความแตกต่างของนโยบายการเงินโลก
source: thansettakij.com/2016/08/08/79884