data-ad-format="autorelaxed">
ปั้นแบรนด์สินค้าเกษตร
บริษัทประชารัฐรักสามัคคี "เชียงใหม่-เพชรบุรี-ภูเก็ต" ออกตัวแรง เร่งเครื่องต่อยอดพัฒนาโปรดักต์ ปั้นแบรนด์สินค้าเกษตร-แปรรูป-ท่องเที่ยวชุมชน เชียงใหม่นำร่องกาแฟสินค้าเด่นตัวแรก ลุยส่งเสริม 3 อำเภอชายขอบ "อมก๋อย แม่วาง ดอยสะเก็ด" พร้อมเชื่อมโยงตลาดกลุ่มธุรกิจท่องเที่ยว ร้านอาหาร "เมืองเพชร" เปิดตัวสวนผักครัวอินทรีย์บ้านลาด แก่งกระจานป้อนโรงแรม/รีสอร์ต ขณะที่ "ภูเก็ต" ปลูกสับปะรดขายลูกละ 1,500 บาท จัดงานกินกุ้งมังกร 1-31 ส.ค.นี้เชียงใหม่ปั้นกาแฟสินค้าตัวแรก
นายเดโช ไชยทัพ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ประชารัฐรักสามัคคีเชียงใหม่ จำกัด เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า บริษัท ประชารัฐรักสามัคคีเชียงใหม่ จำกัด ได้จดทะเบียนเมื่อวันที่ 29 เมษายน 2559 ด้วยทุนจดทะเบียน 4 ล้านบาท มีหุ้นส่วนสำคัญคือ นางชาลอต โทณวณิก นายณรงค์ คองประเสริฐ นายเดโช ไชยทัพ โดยกำหนดหุ้นไว้ทั้งหมด 4,000 หุ้น หุ้นละ 1,000 บาท
สำหรับการดำเนินการภายหลังจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทแล้ว จะมุ่งเน้นการเชื่อมโยงกับภาคส่วนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องใน 3 กลุ่มหลักคือ 1.กลุ่มเกษตรกร-คนชายขอบที่เป็นฐานของแหล่งผลิตสินค้าเกษตร 2.กลุ่มภาคธุรกิจ-ผู้ประกอบการที่จะเป็นฐานของการรับซื้อผลผลิตจากเกษตรกรและเป็นกลุ่มสำคัญที่จะช่วยยกระดับมาตรฐานการผลิตในภาคการเกษตรและกลุ่มที่3 คือ หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องเป็นส่วนสำคัญที่ต้องเข้าถึงกลุ่มเกษตรกรให้มากขึ้น ซึ่งการเชื่อมโยงกับทั้ง 3 กลุ่มนี้มีความสำคัญที่ต้องดึงเข้ามามีส่วนร่วมในระยะเริ่มต้นของบริษัท จะเน้นการจัดทิศทางการดำเนินการให้มีความคมชัดมากขึ้น คาดว่าจะใช้ระยะเวลาราว 3 เดือนในการเชื่อมโยงกับกลุ่มต่าง ๆ ให้เป็นรูปธรรม ซึ่งการดำเนินการของบริษัทจะสอดคล้องตามแนวคิดของรัฐบาลที่กำหนดเป้าหมายสร้างรายได้ให้แก่ชุมชนผ่าน 3 กลุ่มงาน ได้แก่ เกษตร เกษตรแปรรูป และท่องเที่ยวโดยชุมชน
"อมก๋อย-แม่วาง-ดอยสะเก็ด" เฮ
นายเดโชกล่าวว่า ในเบื้องต้นได้เตรียมส่งเสริมและพัฒนาสินค้าเกษตรในหลายกลุ่ม อาทิ กาแฟ ลำไย พืชผักปลอดสารพิษ มะม่วง ข้าว ผลิตภัณฑ์ผ้าทอ และการท่องเที่ยวโดยชุมชน โดยจะเริ่มนำร่องกาแฟเป็นอันดับแรก กำหนดพื้นที่เป้าหมาย 3 อำเภอคือ อมก๋อย แม่วาง และดอยสะเก็ด ซึ่ง 3 พื้นที่นี้เป็นแหล่งปลูกกาแฟสำคัญของเชียงใหม่ ที่มีความเกี่ยวข้องกับเกษตรกรคนชายขอบ มีอาชีพปลูกกาแฟมากที่สุด ซึ่งภายในเดือนกรกฎาคมนี้ จะลงพื้นที่พูดคุยกับกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกกาแฟ
ขณะเดียวกันได้เตรียมแผนพัฒนาขีดความสามารถการผลิตกาแฟของทั้ง3พื้นที่ดังกล่าวให้มีมาตรฐาน ทั้งเรื่องการพัฒนาสายพันธุ์และการยกระดับมาตรฐานกระบวนการผลิต ซึ่งได้รับความร่วมมือ-สนับสนุนจากหลายภาคส่วน ทั้งสถาบันการศึกษา ได้แก่ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โครงการหลวง และกลุ่มเอกชนที่ทำธุรกิจกาแฟอีกหลายบริษัท เพื่อร่วมกันพัฒนากาแฟของกลุ่มเกษตรกรทั้ง 3 พื้นที่ ทั้งยังเป็นการส่งเสริมด้านการตลาดให้กับเกษตรกรได้มีตลาดรับซื้อผลผลิตได้เพิ่มมากขึ้น และในระยะต่อไปจะให้กลุ่มเกษตรกรเข้ามาเป็นหุ้นส่วนของบริษัทด้วย
นายเดโชกล่าวต่อว่า ในช่วงครึ่งหลังของปี 2559 นี้ บริษัทได้วางแผนนำผลผลิตกาแฟของกลุ่มเกษตรกรมาสร้างแบรนด์กาแฟของบริษัท เพื่อให้เป็นแบรนด์กาแฟของเชียงใหม่ ซึ่งจะเป็นสินค้ากลุ่มแรก พร้อมทั้งจะเชื่อมโยงการตลาดกับกลุ่มธุรกิจด้านการท่องเที่ยว โรงแรมและร้านค้า ร้านอาหาร
นอกจากนี้ บริษัทยังได้เริ่มส่งเสริมสินค้ากลุ่มลำไย ในพื้นที่นำร่องเป้าหมายคือ ต.ขัวมุง อ.สารภี โดยนำผู้ซื้อรายใหญ่คือท็อปส์ ซูเปอร์มาร์เก็ต มาทำสัญญาซื้อขายกับกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกลำไย โดยรับซื้อลำไยวันละ 2 ตันในช่วงฤดูการผลิตลำไยในปี 2559 นี้ เพื่อนำไปจำหน่ายในสาขาท็อปส์ ซูเปอร์มาร์เก็ตทั่วประเทศ และในอนาคตก็เตรียมขยายพื้นที่ไปยังอำเภออื่น ๆ ที่เป็นแหล่งปลูกลำไยของจังหวัดเชียงใหม่
เพชรฯลุยผักอินทรีย์/น้ำตาลสด
ดร.กรัณย์ สุทธารมณ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ประชารัฐรักสามัคคีเพชรบุรี จำกัด เปิดเผยว่า โครงสร้างการบริหารของบริษัทจะมีหลายฝ่ายเข้ามาเป็นส่วนร่วมในการบริหาร เช่น ภาคประชาชน เอกชน ประชาสังคม และนักวิชาการ โดยเริ่มดำเนินการตั้งแต่เดือนเมษายน 2559 เป็นต้นมา
สำหรับแผนงานจะเน้นหลายเรื่อง ได้แก่ ภาคการเกษตร ได้ทำงานร่วมกับสำนักงานเกษตรจังหวัดเพชรบุรี ส่งเสริมการปลูกผักสวนครัวแบบอินทรีย์ ในพื้นที่อำเภอบ้านลาดและแก่งกระจาน โดยป้อนผลผลิตให้กับโรงแรม รีสอร์ต ร้านอาหารในจังหวัดเพชรบุรีและประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งจะทำให้เกษตรกรมีตลาดรับซื้อที่แน่นอน และมีการประกันราคาด้วย เพื่อลดความเสี่ยงหากราคาผันผวน นอกจากนี้ยังจะเพิ่มช่องทางการจำหน่ายให้เกษตรกร โดยนำผักไปจำหน่ายที่ตลาดดงยาง อำเภอบ้านลาด เจาะกลุ่มลูกค้าที่สัญจรไปมาบริเวณถนนเพชรเกษมอีกด้วย
นอกจากนี้ยังมีโครงการพัฒนาการผลิตน้ำตาลสดแท้ 100% ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ เพื่อให้ได้สินค้าที่มีคุณภาพดีขึ้น สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มได้ พร้อมทั้งจะมีการปั้นแบรนด์ใหม่น้ำตาลเพชรบุรี ปรับเปลี่ยนแพ็กเกจจิ้ง และจำหน่ายสินค้าผ่านออนไลน์อีกด้วย รวมไปถึงการพัฒนาขนมหวาน ซึ่งเป็นของฝากขึ้นชื่อของจังหวัดเพชรบุรี โดยเฉพาะขนมหม้อแกง จะมีการปรับสูตรเป็นไขมันต่ำรับกระแสคนรักสุขภาพและปรับปรุงแพ็กเกจจิ้งใส่ถ้วย เพื่อสะดวกต่อการพกพา
ขณะเดียวกันยังเตรียมพัฒนางานจักสานใบตาล ให้มีดีไซน์ที่ทันสมัย สามารถใช้งานได้หลากหลาย เหมาะกับพฤติกรรมผู้บริโภคคนรุ่นใหม่ เช่น การสานใบตาลเป็นแจกันดอกไม้ เป็นต้น ล่าสุดได้นำนักออกแบบหรือดีไซเนอร์ มาอบรมให้เกษตรกรแล้ว
บูมรูตทัวร์แหลมผักเบี้ย-ถ้ำรงค์
สำหรับด้านการท่องเที่ยว จะเร่งส่งเสริมการท่องเที่ยวชุมชน เพื่อกระจายรายได้สู่เศรษฐกิจฐานราก ขณะนี้ชู 2 พื้นที่คือ ตำบลแหลมผักเบี้ย อำเภอบ้านแหลม และตำบลถ้ำรงค์ อำเภอบ้านลาด โดยจะร่วมมือกับสมาคมการตลาดท่องเที่ยวไทย นำเสนอบริษัททัวร์ขายเส้นทางท่องเที่ยวชุมชน เชื่อมโยงกับท่องเที่ยวเชิงเกษตร เนื่องจากทั้ง 2 ชุมชนนี้มีศักยภาพเป็นพื้นที่ปลูกผลไม้หลายชนิด ล่าสุดได้โรดโชว์ที่สิงคโปร์และมาเลเซีย มีบริษัททัวร์มาเลเซียสนใจเข้ามาศึกษาเส้นทางท่องเที่ยว
"แผนการตลาดทั้งหมดได้วางไว้เป็นอย่างดี เช่น สินค้าประมง ขณะนี้กำลังเจรจากับเดอะมอลล์ เพื่อนำสินค้าประมงจังหวัดเพชรบุรีขึ้นไปจำหน่าย ส่วนขนมหม้อแกงและน้ำตาลสดแท้ 100% กำลังเตรียมขึ้นเซ็นทรัลเร็ว ๆ นี้ และยังได้ร่วมมือกับสมาคมภัตตาคารไทยสนับสนุนการถ่ายภาพสินค้า สมาคมการตลาดท่องเที่ยวไทย สนับสนุนการเชื่อมโยงการขายแพ็กเกจเส้นทางท่องเที่ยวโดยชุมชน ตั้งเป้าภายใน 6 เดือนจะให้ชุมชนมีรายได้เพิ่มขึ้น 15%" ดร.กรัณย์กล่าว
ปั้นสับปะรดภูเก็ตลูกละ 1,500
นางอรสา โตสว่าง เลขานุการ บริษัท ประชารัฐรักสามัคคีภูเก็ต จำกัด กล่าวว่า ได้จดทะเบียนตั้งบริษัทเมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2559 โดยมีโครงการยกระดับสับปะรดภูเก็ตให้สามารถจำหน่ายได้ลูกละ 1,500 บาท ซึ่งราคาขายในตลาดตอนนี้อยู่ที่ลูกละ 35 บาท หรือ 3 ลูก 100 บาท ซึ่งจะเริ่มปลูกสับปะรดในช่วงฤดูฝนนี้ มีเกษตรกรลงทะเบียนแล้ว 4 ชุมชน รวมกันปลูกจำนวน 50 ลูกเท่านั้น เมื่อได้ผลผลิตจะขายนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีคนละลูก เพื่อช่วยประชาสัมพันธ์ผลผลิตประชารัฐของภูเก็ต นอกจากนี้ยังมีเจ้าของโรงแรมของคนภูเก็ต 20 แห่งรับซื้อสับปะรดภูเก็ตทั่วไป ราคาลูกละ 50-60 บาท และรับซื้อนมแพะด้วย
สำหรับกุ้งมังกรจะจัดงานภูเก็ตล็อบสเตอร์เฟสติวัลหรืองานกินกุ้งมังกร วันที่ 1-31 ส.ค.นี้ โดยความร่วมมือจากสมาคม ชมรมผู้ประกอบการร้านอาหารในภูเก็ต จำนวน 23 ร้านเข้าร่วมโครงการ ส่วนผ้าบาติกจะให้ชุมชนผลิตสินค้าบาติกหลายอย่าง เช่น ร่มบาติกกันแดดเคลือบยูวีและกันน้ำ จำนวน 5,000 คัน ราคา 450 บาท/คัน และกระเป๋าบาติก สมุดไร้เส้นบาติก เป็นต้น สิ่งที่ต้องการคือความร่วมมือของคนภูเก็ตช่วยกันอุดหนุนเพื่อภูเก็ต
ข้อมูลจาก prachachat.net