data-ad-format="autorelaxed">
ดินเหนียวสู่งานอาชีพชุมชน
ตุ๊กตาชาววังเป็นประดิษฐกรรมจากดินเหนียวงานฝีมือของชาวบ้านวัดท่าสุทธาวาส บ้านบางเสด็จ อำเภอป่าโมก จังหวัดอ่างทอง เป็นงานปั้นขนาดเล็กจิ๋วเท่าปลายนิ้วก้อย ทว่าใส่รายละเอียด นับตั้งแต่ ตา จมูก ปาก นิ้วมือ ได้อย่างสวยงามและสมจริง
โดยปั้นเป็นชุดต่าง ๆ ที่สื่อถึงวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คน และวัฒนธรรมประเพณีไทย อาทิ การละเล่นท้องถิ่นของเด็กไทย เช่น มอญซ่อนผ้า กระโดดเชือก การแสดงดนตรีไทย เช่น วงมโหรีปี่พาทย์ นอกจากนี้ยังมีการปั้นแบบร้อยเรื่องราวตามวรรณคดีไทยเป็นตอน ๆ เช่น ชุด พระอภัยมณี ตอน หนีนางยักษ์มากับเงือก ชุด สังข์ทอง ตอน รจนาเลือกคู่ เป็นต้น รวมทั้งการปั้นรูปผลไม้ไทยหลากหลายชนิด ซึ่งล้วนมีความสวยงาม น่ารัก และเหมาะต่อการซื้อเป็นของฝากหรือของที่ระลึกเป็นอย่างยิ่ง ที่สำคัญนับเป็นการอนุรักษ์ประดิษฐกรรมไทยที่เกี่ยวเนื่องกับเรื่องของวัฒนธรรมได้เป็นอย่างดี
“ตุ๊กตาชาววัง” ถือกำเนิดขึ้นครั้งแรกสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 มีหลักฐานที่บันทึกปรากฏสืบต่อกันมาว่า เถ้าแก่กลีบ ข้าราชการฝ่ายในในพระราชสำนัก เป็นผู้ริเริ่มผลิตขึ้น โดยปั้นตุ๊กตาชาววังออกจำหน่ายให้แก่ข้าราชบริพารภายในพระบรมมหาราชวัง ด้วยชาววังสมัยก่อนนิยมซื้อสะสมเป็นของรักของชอบ หรือไว้สำหรับตกแต่งประดับบ้านเรือน แต่ได้สูญหายไปในช่วงเวลาหนึ่ง เนื่องจากเป็นตุ๊กตาที่ทำยาก บางตัวเล็กเท่าหัวไม้ขีด การปั้นจำต้องอาศัยฝีมือที่ประณีตบรรจงและมีความตั้งใจเป็นอย่างมาก
ตุ๊กตาชาววังได้รับการฟื้นฟูอีกครั้งหนึ่ง โดยฝีมือของชาวบ้านที่หมู่บ้านบางเสด็จ อำเภอป่าโมก จังหวัดอ่างทอง อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากเมื่อวันที่ 4 มกราคม พ.ศ. 2519 สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมราษฎรที่ตำบลบางเสด็จ อำเภอป่าโมก ทรงพระราชดำริที่จะหาอาชีพเสริมเพื่อเป็นการเพิ่มพูนรายได้ให้แก่ราษฎรนอกเหนือจากการทำนา โดยใช้เวลาว่างเรียนรู้และฝึกฝนการทำตุ๊กตาชาววัง ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้อาจารย์จุลทรรศน์ พยามรานนท์ จากวิทยาลัยเพาะช่าง มาเป็นผู้ฝึกสอนการปั้นตุ๊กตาชาววังให้โดยใช้พื้นที่บริเวณศาลาการเปรียญหลังเก่าริมแม่น้ำเจ้าพระยา ในพื้นที่ตำบลบางเสด็จ เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวมีดินเหนียวที่เหมาะสมต่อการใช้ปั้นตุ๊กตา
การปั้นตุ๊กตาชาววังในหมู่บ้านบางเสด็จแห่งนี้ จึงได้ใช้วัสดุอุปกรณ์ที่มีอยู่ตามพื้นบ้าน ดินเหนียวที่มีอยู่ตามทุ่งนา มีการพัฒนารูปแบบตุ๊กตาชาววังให้เข้ากับสภาพการณ์ด้านศิลปกรรมสมัยใหม่มากยิ่งขึ้น แต่ยังคงไว้ซึ่งกรรมวิธีในการปั้นแบบโบราณ ที่เป็นฝีมือชาวบ้าน และสะท้อนวิถีชีวิตของชาวบ้านอย่างเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น อาทิ ชุดตุ๊กตาตามประเพณีนิยมต่าง ๆ เช่น ชุดแต่งงาน ชุดดนตรีไทย การละเล่นไทย การค้าขายในตลาดน้ำ การจับสัตว์น้ำด้วยวิธีการสุ่ม และการเกี่ยวข้าว เป็นต้น
ตุ๊กตาชาววังของไทย จึงนับเป็นอีกภูมิปัญญาหนึ่งที่คนไทยได้สรรค์สร้างขึ้นมา ที่สามารถบ่งบอกถึงคุณค่าแห่งศิลปวัฒนธรรมไทยและภูมิปัญญาของคนไทยได้อย่างงดงาม สมจริง และน่าสนใจ นับเป็นการสานต่อพระราชปณิธานในสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถที่ได้ส่งเสริมงานอาชีพ ตลอดจนสืบสานงานศิลปหัตถกรรมภูมิปัญญาไทยให้สร้างชื่อเสียงทั่วโลกต่อไป
นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอันล้นพ้นที่สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้พระราชทานน้ำพระราชหฤทัยที่เปี่ยมด้วยพระเมตตาต่อพสกนิกร ในการส่งเสริมงานอาชีพการปั้นตุ๊กตาดินเหนียวของชาวบางเสด็จ ซึ่งไม่เพียงแต่เป็นการสร้างอาชีพใหม่ให้แก่ชาวบ้าน แต่นำมาซึ่งความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น กินดีอยู่ดี มีชีวิตแบบพอเพียง คนในชุมชนได้มีโอกาสอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข โดยไม่ต้องออกไปทำงานต่างถิ่น ที่สำคัญนับเป็นการสืบสานนวัตกรรมด้านศิลปะของไทยแท้แต่ดั้งเดิมให้ได้คงอยู่และสืบทอดต่อไปสู่รุ่นลูกหลานอย่างมีคุณค่าทั้งทางเศรษฐกิจและวัฒนธรรมของชาติสืบต่อไป.
อ้างอิง:www.dailynews.co.th