data-ad-format="autorelaxed">
การเพาะขยายพันธุ์หอยหลอด กรมประมง ได้จัดทำ “แผนการดำเนินงานเพื่อฟื้นฟูทรัพยากรสัตว์น้ำประเภทหอยที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย” ขึ้น โดยได้ดำเนินการเพาะขยายพันธุ์หอยชนิดต่างๆ เพื่อปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ ซึ่งล่าสุด ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงชายฝั่งประจวบคีรีขันธ์ กรมประมง ได้ทำการเพาะขยายพันธุ์หอยหลอด ซึ่งเป็นหอยประจำถิ่นของจังหวัดสมุทรสงครามที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากปัญหาการเปลี่ยนแปลงคุณภาพน้ำ
นางสาวจินตนา นักระนาด ผู้อำนวยการศูนย์ วิจัยและพัฒนาประมงชายฝั่งประจวบคีรีขันธ์ กรมประมง บอกว่า ทางศูนย์ได้รับพ่อแม่พันธุ์มาจาก ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงชายฝั่งสมุทรสงคราม โดยนำมารวบรวมและ ทำการขุนเลี้ยงไว้ในถังไฟเบอร์กลาส ที่ปูพื้นถัง ด้วยทรายละเอียดปนเลนหนาประมาณ 10 เซนติเมตร เพื่อให้หอยฝังตัวอยู่ และให้ สาหร่ายเซลล์เดียวชนิดต่างๆ ได้แก่ Isochrysis, Chaetoceros และ Tetraselmis เป็นอาหารวันละ 2 มื้อ เช้า–เย็น ระยะเวลา ประมาณ 2–3 สัปดาห์ เพื่อให้หอยมีความสมบูรณ์แล้ว
จากนั้น จึงทำการเพาะพันธุ์ โดยนำหอยหลอดขึ้นมาจากถังที่ขุนเลี้ยงล้างโคลนออกจากเปลือกหอยให้สะอาด ก่อนจะ ใช้เทคนิคกระตุ้นให้หอยปล่อยเซลล์สืบพันธุ์ โดยวิธีการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อม หรือ การฉีดกระตุ้นด้วยสาร Serotonin ทั้งนี้ วิธีการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมโดยการเปลี่ยนถ่ายน้ำร่วมกับการปล่อยให้ตัวหอยสัมผัสอากาศจะเป็นวิธีที่ประหยัด และ ไม่ยุ่งยาก การเพาะพันธุ์หอยหลอดครั้งนี้ทางศูนย์ได้ทดลองใช้ทั้ง 2 วิธี ซึ่งสามารถกระตุ้นให้หอยปล่อยเซลล์สืบพันธุ์ออกมาได้จากทั้ง 2 วิธี…
นางสาวจินตนา บอกอีกว่า…เมื่อ หอยหลอดปล่อยเซลล์สืบพันธุ์ออกมาแล้วต้องสังเกตและจำแนกว่าเป็นน้ำเชื้อหรือไข่ แยกพ่อแม่พันธุ์หอยที่ปล่อยเซลล์สืบพันธุ์ออกมาใส่ภาชนะไว้ โดยแยกเพศผู้เพศเมียออกจากกัน ตรวจดูความสมบูรณ์ของไข่และน้ำเชื้อ โดยนำไป ส่องดูภายใต้กล้องจุลทรรศน์ แล้วจึงรวบรวมไข่และน้ำเชื้อมาผสมกันในอัตราส่วนที่เหมาะสม ก่อนจะนำ ไข่ที่ได้รับการผสมแล้วลงฟักในถังใช้ระยะเวลาประมาณ 17 ชั่วโมง ลูกหอยหลอดจึงฟักเป็นตัว แล้วจึง ทำการอนุบาลโดยให้สาหร่ายเซลล์เดียวชนิด Isochrysis และ Chaetoceros เป็นอาหาร
จากนั้น เริ่ม ถ่ายน้ำออกไป 100% ของถังวันเว้นวัน ในระยะแรกลูกหอยจะดำรงชีวิตโดยว่ายน้ำกรองกินอาหารอยู่ในมวลน้ำ ใช้ระยะเวลาประมาณ 7 วัน ลูกหอยจึงเริ่มลงพื้น และจะ พัฒนาต่อไปจนมีรูปร่างคล้ายตัวเต็มวัย โดยจะใช้เวลา อนุบาลในโรงเพาะฟักประมาณ 3–4 เดือน จึงจะได้ หอยขนาดความยาวเปลือกโดยเฉลี่ยประมาณ 1 เซนติเมตร
ทั้งนี้..หาก กรมประมง สามารถทำการเพาะขยายพันธุ์หอยหลอดได้ในปริมาณมาก ก็จะนำลูกพันธุ์หอยหลอดที่ได้จากการเพาะพันธุ์ไป ปล่อยคืนสู่แหล่งอาศัยในธรรมชาติในบริเวณอ่าวไทย เพื่อช่วยฟื้นฟูทรัพยากรหอยหลอด หลังจากที่ได้รับความเสียหายจากอุทกภัย…ให้กลับมาคงความอุดมสมบูรณ์ดังเดิม…!!
อ้างอิง:http://news.enterfarm.com