data-ad-format="autorelaxed">
มะละกอปากช่อง 2 -พันธุ์มะละกอปากช่อง 2 สายพันธุ์ใหม่ สถานีวิจัยปากช่อง ได้ทำการปรับปรุงพันธุ์มะละกอปากช่อง 2 เป็นผลสำเร็จ ในระหว่างปี พ.ศ.2540–2549 สถานีวิจัยปากช่อง สถาบันอินทรีจันทรสถิตย์เพื่อการค้นคว้าและพัฒนาพืชศาสตร์ อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา ได้ทำการปรับปรุงพันธุ์มะละกอปากช่อง 2 เป็นผลสำเร็จ จากพันธุ์พ่อพันธุ์แม่ ระหว่างมะละกอพันธุ์แขกดำกับปากช่อง 1 ผ่านการคัดเลือก 7 รอบ พบว่าลักษณะมะละกอปากช่อง 2 ผลขนาดปานกลาง น้ำหนักผล 1,000–1,200 กรัม ลักษณะใบมี 7 แฉก ใบสีเขียวเข้ม ใบกว้าง 65–70 ซม. ใบยาว 65–70 ซม. ก้านใบสีเขียว ยาว 80–89 ซม. น้ำหนักผลสุก 900–1,100 กรัม สีผิวผลสุกสีเหลือง สีเนื้อสุกส้มแดง ความหนาเนื้อ 3 ซม. ความหวาน 12-14 องศาบริกซ์ เริ่มเก็บเกี่ยวผลผลิตหลังจากปลูกประมาณ 8 เดือน ผลผลิต 40–50 กก. ต่อต้น ในระยะ 18 เดือน
การปรับปรุงพันธุ์ดำเนินการโดยวิธีผสมด้วยมือ จากนั้นเก็บผลผลิตเอาเมล็ดมาเพาะในถุงพลาสติกดำ ขนาด 35 นิ้ว คัดเลือกต้นกล้าที่แข็งแรงปลูกลงแปลงได้ 26 แถว แถวละ 21 ต้น จำนวน 3 ต้น ต่อหลุม หลังจากปลูก 4 เดือน คัดต้นที่เป็นดอกสมบูรณ์เพศเหลือเพียง 1 ต้น ศึกษาลักษณะลูกผสมเพื่อคัดเลือกลักษณะดีได้ตามต้องการที่ออกดอกและติดผล หลังจากปลูก 8 เดือน คู่ผสมที่ดีที่คัดไว้มีคุณภาพของผลที่ดี มีเนื้อหนา สีส้มและรสชาติดี
หลังจากปลูกทดสอบพันธุ์ในแปลง พบว่าให้ผลมีคุณภาพและผลผลิตสูง ใบมี 7 แฉก สีเขียวเข้ม กว้าง 85–70 เซนติเมตร ยาว 66–70 เซนติเมตร ก้านใบสีเขียวยาว 80–89 เซนติเมตร น้ำหนักผลดิบ 1,000 –1,200 กรัม น้ำหนักผลสุก 900–1,100 กรัม สีผิวผลสุกสีเหลือง สีเนื้อสุกสีส้มแดง ความหนาเนื้อประมาณ 3 เซนติเมตร น้ำหนักเนื้อ 810 กรัม น้ำหนักเปลือก 50 กรัม น้ำหนักเมล็ด 40 กรัม คิดเป็นเปอร์เซ็นต์เนื้อ เปอร์เซ็นต์เปลือก เปอร์เซ็นต์เมล็ด ความหนาเปลือก 0.16 เซนติเมตร ความหวาน 15 องศาบริกซ์ กลิ่นหอมรสชาติดี หลังจากปลูก 18 เดือน ให้น้ำหนักผลผลิต 40–50 กิโลกรัมต่อต้น ค่อนข้างทนต่อโรคไวรัสจุดวงแหวน
มะละกอเป็นผลไม้ที่นิยมรับประทานผลสุกทั้งในประเทศและต่างประเทศ แต่ในต่างประเทศนิยมรับประทานมะละกอที่มีผลขนาดเล็ก มีน้ำหนักต่อผลไม่เกิน 600 กรัม จากมูลค่าการค้ามะละกอในแต่ละปีมีมูลค่าเพิ่มขึ้นประมาณ 11 เปอร์เซ็นต์ ประเทศที่มีการส่งออกมะละกออันดับหนึ่งคือ เม็กซิโก มีมูลค่าการค้า 40 เปอร์เซ็นต์ของทั้งหมด อันดับสองคือ มาเลเซีย 25 เปอร์เซ็นต์ของทั้งหมด ประเทศอื่น ๆ ได้แก่ บราซิล และอเมริกา ส่วนประเทศไทยยังมีการผลิตมะละกอเพื่อส่งออกน้อย และพันธุ์ที่ปลูกส่วนมากเป็นพันธุ์ที่มีผลขนาดใหญ่ จึงไม่เหมาะสำหรับตลาดต่างประเทศ
มะละกอ นอกจากใช้บริโภคเป็นอาหารในชีวิตประจำวันแล้ว ผลของมะละกอดิบและสุก และส่วนของยางยังใช้เป็นประโยชน์ทางด้านอุตสาหกรรมได้อีกหลายด้าน เช่น เนื้อมะละกอดิบทำมะละกอเชื่อม แช่อิ่ม ดองเค็ม หรือใช้ในโรงงานปลากระป๋อง มะละกอสุกสามารถใช้ทำน้ำผลไม้ ซอส ผลไม้กระป๋อง แยม ลูกกวาด เปลือกใช้ทำอาหารสัตว์ หรือสีผสมอาหาร ยางใช้ในโรงงานผลิตเบียร์ ผลิตน้ำปลา อาหารกระป๋อง อุตสาหกรรมเคมีและเครื่องสำอาง เป็นต้น.
อ้างอิง : www.dailynews.co.th