เคอร์ริงก้า ฟาร์ม ต่อยอดฟาร์มสู่ธุรกิจท่องเที่ยว
จากตำนานของฟาร์มเกษตรที่มีการพัฒนาแบบยั่งยืนแห่งหนึ่งในถิ่นจิงโจ้ได้แปลงสู่ธุรกิจท่องเที่ยวที่สามารถสร้างรายได้ให้กับ "เคอร์ริงก้า ฟาร์ม" จนสามารถพลิกต้นแบบ "ฟาร์มคันทรี" ของหนุ่มคาวบอยด้วยการออกแบบธุรกิจแบบ "พึ่งพาตนเอง"
การสร้างสรรค์ธุรกิจให้มีความแปลกใหม่เพื่อความอยู่รอดโดยใช้ปรัชญาของการพึ่งพาตนเองเป็นจุดยืนหนึ่งที่ "ทิม พาร์สัน" หนุ่มเจ้าของฟาร์มแกะในเมืองแฮมมิลตัน รัฐทาสมาเนีย (Tasmania) ประเทศออสเตรเลียได้ออกแบบแนวทางการทำธุรกิจของตนที่ผสมผสานการทำฟาร์มเกษตร รีสอร์ทสไตล์คันทรี จนกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่แปลกใหม่และยอดนิยมแห่งหนึ่งในแดนจิงโจ้
เคอร์ริงก้า ฟาร์ม ตั้งอยู่ท่ามกลางหุบเขาเดอร์เวนท์ (Derwent Valley) ใจกลางของรัฐทาสมาเนียซึ่งเป็นรัฐทางตอนล่างของออสเตรเลีย ทาสมาเนียมีเมืองหลวงที่ชื่อโฮบาร์ต (Hobart) และยังมีเมืองต่างๆ ที่เต็มไปด้วยธรรมชาติที่สวยงาม โดยเฉพาะอุทยานแห่งชาติหลายแห่ง
ฟาร์มเกษตรของทิม ไม่ได้เพิ่งมี แต่เกือบจะเรียกได้ว่าเป็น "ตำนาน" ของการสืบทอดมรดกมาตั้งแต่บรรพบุรุษซึ่งตัวของเขาเองเป็นเจเนอเรชั่นที่ 6 ที่สามารถประคับประคองความเป็นฟาร์มเกษตรที่มีความสมดุลทางชีววิทยาและสามารถดัดแปลงให้มีรายได้เพิ่มเติมจากธุรกิจท่องเที่ยว
"ผมเป็นเจเนอเรชั่นที่ 6 ที่ต้องซื้อที่ดินมาจากคุณพ่ออีกทีครับ เพราะคุณพ่อต้องการเกษียณจากการทำงาน ไม่ต้องแปลกใจครับเพราะวัฒนธรรมของการสืบทอดมรดกเราจะเป็นแบบนี้ ที่ดินผืนนี้ที่ผมซื้อมาจึงมีขนาดเล็กลงกว่าฟาร์มที่คุณพ่อเคยทำ เพราะว่าที่ดินอีกครึ่งหนึ่งได้ตกเป็นของพี่ชายของผมเอง" ทิม พาร์สัน กรรมการผู้จัดการ เคอร์ริงก้า ฟาร์ม ถ่ายทอดถึงวัฒนธรรมการสืบทอดธุรกิจมรดกให้ฟัง
หนุ่มคาวบอย ต้องรับผิดชอบฟาร์มที่มีพื้นที่กว่า 300 เอเคอร์ ซึ่งประกอบไปด้วยไร่กะหล่ำปลีที่มีผลผลิต 1,500 กิโลกรัมต่อปี ฟาร์มเลี้ยงแกะจำนวน 3,000 ตัว รวมทั้งบ้านพักสไตล์คันทรีจำนวน 2 หลัง ซึ่งได้กลายเป็นธุรกิจครอบครัวที่เคยได้รับรางวัล "Family Business Australia Awards Fourth generation and over category State Winner, 2005" มาแล้ว
"นักท่องเที่ยวที่มารัฐทาสมาเนียมักจะคาดหวังเห็นธรรมชาติที่สวยงาม ต้นไม้ ภูเขา ทะเลสาบ แต่ว่าธรรมชาติในทาสมาเนียก็ไม่ได้เหมือนแต่ก่อน กลับมีความแห้งแล้งเพิ่มขึ้น ถ้านักท่องเที่ยวเข้ามาเห็นขั้นตอนการทำฟาร์มเกษตรของเราจะรู้สึกได้ว่ามีสภาวะที่สมดุลตลอดปี เช่น การให้อาหารแกะที่มีการเก็บเสบียงอาหารไว้ทั้งปี พืชพรรณธัญญาหารและน้ำที่เพาะปลูกได้เองอย่างอุดมสมบูรณ์" ทิม อธิบาย
รายได้ของเคอร์ริงก้าฟารม์มาจาก 3 ส่วน ได้แก่ รายได้จากการจำหน่ายขนแกะ การจำหน่ายพืชผลทางการเกษตร และส่วนสุดท้ายการท่องเที่ยวที่มีนักท่องเที่ยวเข้าพักในรีสอร์ทปีละ 500 คน และนักท่องเที่ยวที่เป็นกรุ๊ปทัวร์ประมาณ 2,000 คนต่อปี
อย่างไรก็ตาม ในอีก 2 ปีข้างหน้าเขาตั้งเป้าไว้ว่ารายได้จากฟาร์มทัวร์จะเพิ่มขึ้นโดยมีสัดส่วนถึง 2 ใน 3 ของรายได้ทั้งหมด ซึ่งรายได้ส่วนนี้มาจากนักท่องเที่ยวชาวออสเตรเลียราว 90% และนักท่องเที่ยวต่างชาติอีก 10% ได้แก่ชาวสิงคโปร์ อังกฤษ อเมริกาเหนือ และสแกนดิเนเวีย
เคอร์ริงก้า ฟาร์ม เป็นธุรกิจครอบครัวที่ทิม และเจน พาร์สัน ภรรยา ได้แบ่งงานทำตามความถนัดและความชอบ
ทิมเองจะดูแลในส่วนของการเลี้ยงแกะ ดูแลพืชสวนให้มีความสมดุลตามธรรมชาติและมีความชุ่มชื้นตลอดปี รวมถึงดูแลกิจกรรมต่างๆ ในฟาร์ม
ในขณะที่เจนจะดูแลบ้านพักที่มี 2 หลังด้วยกัน ได้แก่ บ้านพักริมทะเลสาบ "Back Lake Side Cottage" และบ้านบนเรือ "The Hamilton Houseboats" และเธอยังเป็นแม่ครัวใหญ่ดูแลร้านอาหารที่มีเมนูเด็ดเป็นสเต๊กเนื้อไก่ เนื้อวัวและแพะ และเมนูของหวานเค้กสวีเดนสูตรดั้งเดิมที่ได้รับรางวัลอินเตอร์การันตีความอร่อย "International Acclaim in 2003 for production of Royal Danish Sweetheart Cake"
นอกจากนี้เคอร์ริงก้า ฟาร์ม ยังได้รับรางวัลการันตีของการทำฟาร์มเกษตรอย่างยั่งยืนด้วยรางวัล "Ministers Awards for Environmental Excellence in Sustainable Farming State Winner, 2004" และ "FAAST Farmer Awards for Sustainable Farming in Tasmania State Winner, 1994"
จุดเด่นตรงนี้เองที่ทำให้ เคอร์ริงก้า ฟาร์ม มีความแตกต่างจากฟาร์มทั่วๆ ไปในรัฐทาสมาเนียที่บ้างก็ทำเฉพาะการเกษตรเพียงอย่างเดียว หรือ บางแห่งก็ไม่ได้ปรับสภาวะแวดล้อมในฟาร์มให้สมดุลอย่างที่ควรจะเป็น
ขณะที่ทิม และภรรยา พยายามสร้างสรรค์ให้เคอร์ริงก้าเป็นฟาร์มเกษตรแบบพึ่งพาตนเอง ปรับปรุงฟาร์มให้ดีขึ้น ทำให้ธุรกิจครอบครัวนี้มีการปรับตัวตามสภาวการณ์ตลาดท่องเที่ยวอยู่เสมอ
อาทิ เช่น บ้านพักในรีสอร์ทได้ถูกสร้างขึ้นตั้งแต่สมัยของคุณพ่อของทิมประมาณ 20 ปีก่อนและได้ทำการปรับปรุงให้มีสภาพดีอยู่เสมอ และทิมเองก็เรียนรู้เทคนิคการบริหารฟาร์มมาจากประสบการณ์ในฟาร์มตั้งแต่เล็กๆ จนวันนี้เขาและภรรยามีลูกชายและลูกสาวอย่างละหนึ่งคน และมีความหวังว่าลูกชายจะได้สืบทอดธุรกิจนี้ให้เติบโตขึ้นอีกเป็นเจเนอเรชั่นที่ 7
"การที่ฟาร์มสืบทอดกันมารุ่นต่อรุ่นทำให้ รุ่นลูกๆ และรุ่นต่อๆ ไปจะได้ผืนที่ดินน้อยลง เพราะต้องแบ่งทอนให้กับพี่น้องในครอบครัวเดียวกันด้วย ผมเองก็ได้ผืนที่ดินจำนวนเล็กลงกว่าฟาร์มทั้งหมดที่คุณพ่อเคยทำงาน ผมจึงต้องหาทางออกด้วยการหารายได้เพิ่มขึ้นจากธุรกิจท่องเที่ยว หวังว่าเราจะสามารถเก็บเงินเพื่อไปซื้อที่ดินเพิ่มเติมให้กว้างขึ้นกว่านี้" ทิม กล่าว
ความกดดันจากสภาวะที่เผชิญ ย่อมทำให้หนุ่มคาวบอยทิมมีทางออกในเส้นทางธุรกิจที่เลือกเดิน และมีไอเดีย "ความคิดสร้างสรรค์" ในการปรับสภาพฟาร์มเกษตรให้มีสีสันน่าสนใจจนเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร (Agrotourism) และการท่องเที่ยวธรรมชาติอย่างยั่งยืน (Ecotourism) หรืออาจจะเรียกได้ว่าเป็นธุรกิจสำนึกรักบ้านเกิดก็คงไม่ผิดนัก
วันที่: 2006-07-24 00:00:00