data-ad-format="autorelaxed">
กวาวเครือ
กวาวเครือในตำรายาโบราณว่ากันว่ามีถึง 4 ชนิด คือ กวาวเครือขาว กวาวเครือแดง กวาวเครือดำ และกวาวเครือมอ กวาวเครือที่กำลังอยู่ในความสนใจ ของนักวิจัยและประชาชนทั่วไปโดยเฉพาะที่มีการนำไปใช้ขยายขนาดหน้าอกสตรี คือ กวาวเครือขาว มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Pueraria candollei Grah.var.mirifica (Airy Shaw et Suvatabandhu) Niyomdham เป็นพืชในวงศ์ Fabaceae กวาวเครือขาวไม้เลื้อย ผลัดใบ หัวใต้ดินมีขนาดใหญ่ ค่อนข้างกลมและคอดยาวเป็นตอน ๆ ต่อเนื่องกัน ใบประกอบแบบขนนกมีใบย่อยสามใบ เรียงสลับ ดอกออกเป็นช่อตามปลายกิ่ง ยาว 20 - 30 ซม. ดอกรูปดอกถั่วกลีบสีม่วงน้ำเงินอ่อน ออกดอกในระยะผลัดใบช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงมีนาคม และติดฝักในเดือนเมษายน
ในตำรายาของหลวงอนุสารสุนทร กล่าวว่า กวาวเครือมีสรรพคุณเป็นยาอายุ วัฒนะของผู้หญิงและผู้ชาย ใช้หัวบดเป็นผงผสมน้ำผึ้ง 1 ต่อ 1 ปั้นกินวันละ 1 เม็ด ขนาดเท่าเม็ดพริกไทย และเน้นว่าคนหนุ่มสาวไม่ควรรับประทาน สำหรับกวาวเครือแดงมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Butea superba
Roxb. เป็นพืชในวงศ์เดียวกับกวาวเครือขาวมีลักษณะต้นและใบคล้ายกวาวเครือขาวแต่ใบใหญ่กว่าและมีดอกสีส้มคล้ายดอกทองกวาว ลักษณะที่แตกต่าง กันอย่างเห็นได้ชัดคือหัวใต้ดินของกวาวเครือแดงจะมีลักษณะยาวคล้ายหัวมันสำปะหลัง ฝานดูจะมียางแดง ซึ่งหัวกวาวเครือขาวค่อนข้างกลม เนื้อในสีขาว ส่วนกวาวเครือดำ และกวาวเครือมอยังไม่ทราบชื่อวิทยาศาสตร์ที่แน่นอน
กวาวเครือขาวและสารกลุ่มไฟโตเอสโตรเจนเกี่ยวข้องอย่างไร องค์ประกอบทางเคมีของหัวกวาวเครือขาวเป็นสารกลุ่มไฟโตเอสโตรเจน (phytoestrogen) ซึ่งเป็นสารเคมีจากพืชที่มีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาเหมือนฮอร์โมนเพศหญิงเอสโตรเจน สารกลุ่มนี้ได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก เนื่องจากไฟโตเอสโตรเจนสามารถพบได้ในถั่วเหลือง
กวาวเครือขาวปลอดภัยจริงหรือ กวาวเครือขาวเมื่อให้ในปริมาณสูงพบว่าทำให้สัตว์ทดลองตายได้ ในนกกระทาพบว่าลดภูมิคุ้มกันทำให้เกิดฝีหนองขึ้นตามตัว กระดูกเปราะและหักง่าย ในหนูทดลองพบว่าจำนวนเม็ดเลือดแดงลดลง เซลล์ตับเล็กลง ขนาดและน้ำหนักของต่อมหมวกไตเพิ่มขึ้นและมีฤทธิ์ก่อกลายพันธุ์ ไมโรเอสทรอล เมื่อให้ในคนขนาด 1 หรือ 5 มิลลิกรัมต่อวัน พบอาการ ปวดศีรษะ คลื่นไส้อาเจียน
กวาวเครือขาวมีศักยภาพจริงหรือ จะเห็นได้ว่าไฟโตเอสโตรเจนปริมาณต่ำที่ได้รับจากการบริโภคถั่วเหลืองและผักผลไม้ที่มีเส้นใย มีประโยชน์ต่อการลดอัตราเสี่ยงในการเกิดมะเร็งเต้านม ลำไส้ใหญ่ ต่อมลูกหมาก โรคหัวใจและหลอดเลือด รวมถึงลดอาการ เนื่องจากภาวะหมดประจำเดือน กวาวเครือขาวก็น่าจะมีศักยภาพในการพัฒนาเป็นยาเพื่อเสริมไฟโตเอสโตรเจนให้ผู้สูงอายุได้
แต่อย่างไรก็ดีปัญหาสำคัญของการนำกวาวเครือขาวมาใช้ประโยชน์ คือ ขาดข้อมูลของขนาดใช้ยาที่เหมาะสม และความเป็นพิษระยะยาว แม้ว่ากวาวเครือจะมีสารไฟโตเอสโตรเจน 5 ชนิดคล้ายกับที่พบในถั่วเหลือง แต่สาร 5 ชนิดนี้มีฤทธิ์คล้ายฮอร์โมนเพศหญิงที่อ่อนมาก เพราะฉะนั้นการนำกวาวเครือขาวมาใช้ประโยชน์เป็นยาหรือผลิตภัณฑ์เสริมอาหารยังต้องการการศึกษาวิจัยเพิ่มเติมทั้งในด้านเภสัชวิทยาและทดลองในคน นอกจากนี้จะต้อง พิสูจน์ให้ได้ว่าไม่มีความเป็นพิษในระยะยาว เพื่อความเชื่อมั่นในการนำกวาวเครือขาวมาใช้ประโยชน์อย่างปลอดภัย
ขณะนี้กระแสความต้องการใช้สมุนไพรของสังคมไทยสูงมาก แต่การนำกวาวเครือขาวมาใช้โดยขาดข้อมูลด้านประสิทธิภาพและความปลอดภัยที่ชัดเจนมารองรับนั้น หากเกิดความเป็นพิษเนื่องจากการใช้กวาวเครือขาวขึ้น จะไม่เพียงทำลายศักยภาพในการพัฒนากวาวเครือเพื่อใช้เป็นยาเท่านั้น แต่ยังเป็นการฆ่าภาพลักษณ์ของสมุนไพรไทยโดยรวมอีกด้วย
อ้างอิง:
http://www.bloggang.com/viewblog.php? id=marquez&date=18-03-2005&group=2&gblog=7
http://www.pharm.chula.ac.th/ physiopharm/2542_sem2/g2/c4.html