data-ad-format="autorelaxed">
โครงการพัฒนาพื้นที่บริเวณหนองอึ่งอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตั้งอยู่ในบริเวณพื้นที่สบกันของแม่น้ำชี และลำน้ำยัง เป็นที่ลุ่มต่ำและเป็นเส้นทางน้ำไหลผ่าน ทำให้ประสบกับปัญหาน้ำท่วมในช่วงฤดูฝน ราษฎรจำนวน 7 หมู่บ้าน ประสบกับปัญหาน้ำท่วมมาอย่างยาวนานเส้นทางสัญจรถูกตัดขาดติดต่อไม่ได้
พื้นที่การเกษตรเพาะปลูกข้าวนาปีมีความเสียหาย ปัญหาน้ำท่วมเกิดขึ้นซ้ำซากทุกๆ ปี ขณะเดียวกันเมื่อถึงช่วงฤดูแล้งน้ำแห้งไม่มีน้ำเพียงพอเพื่อการอุปโภค บริโภคทำการเกษตรไม่ได้ผล ป่าไม้ที่เคยอุดมสมบูรณ์ก็ถูกแผ้วถางเพื่อทำไร่เลื่อนลอย นำไม้มาทำฟืนและใช้สอย ทำให้สภาพป่าเสื่อมโทรมราษฎรยากลำบากการเก็บหาของป่าเพื่อบริโภคและจำหน่วยเป็นไปไม่ได้เหมือนเดิม ราษฎรต้องอพยพออกไปรับจ้างย้ายถิ่นฐานไปอยู่หัวเมืองใหญ่เพื่อหารายได้เลี้ยงตัวเองและครอบครัว
ภายหลังจากที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถและสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมราษฎรบ้านคำน้ำสร้าง ต.ค้อเหนืออ.เมือง จ.ยโสธร เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2543 ทรงรับทราบถึงปัญหาความทุกข์ยากเดือดร้อน ได้พระราชทานพระราชดำริให้หน่วยราชการให้การช่วยเหลือดูแลราษฎรให้อยู่ดีกินดี
ได้พระราชทานพระราชดำริให้พัฒนาและปรับปรุงพื้นที่ ด้วยการขุดลอกหนองอึ่งที่เป็นพื้นที่สาธารณประโยชน์ พร้อมการพัฒนาปรับปรุงดินและพื้นที่แห้งแล้งด้วยการปลูกป่าและหญ้าแฝก รวมถึงการฟื้นฟูสภาพป่าโดยรอบหนองอึ่งในพื้นที่กว่า 3,006 ไร่ โดยราษฎรได้เข้ามามีส่วนร่วมและร่วมใจกันพัฒนาพื้นที่โดยรอบหนองอึ่ง ซึ่งต่อมาได้จัดตั้งเป็น “ป่าชุมชนดงมัน” ในปี 2546 เพื่อสนองพระราชดำริ “ฟื้นฟูสภาพป่าเพื่อให้คนอยู่กับป่าได้อย่างเกื้อกูล” โดยได้รับการส่งเสริมสนับสนุนจากหน่วยงานราชการต่างๆ อาทิ จังหวัดยโสธร กรมป่าไม้ และสำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ(สำนักงาน กปร.)เป็นต้น
ปัจจุบันชาวบ้านโดยรอบจำนวน 7 หมู่บ้านมีรายได้จากการเก็บหาของป่าขายมีรายได้ไม่ต่ำกว่า 3 ล้านบาทในแต่ละปี ซึ่งรายได้หลักที่เกิดขึ้นจากป่าชุมชนดงมันมีมากมายที่สำคัญได้แก่ เห็ดโคน เห็ดเผาะ เห็ดระโงก เห็ดตะไค เห็ดก่อ จินูน จิ้งโก่ง ไข่มดแดง มันป่า โดยเฉพาะเห็ดโคนสามารถเก็บได้ประมาณ 5-6 ตันต่อปี ทั้งนี้เป็นผลมาจากการร่วมมือของประชาชนและหน่วยงานภาครัฐในการฟื้นฟูสภาพป่า รวมถึงการป้องกันรักษาป่าโดยองค์กรป่าชุมชนทำให้ราษฎรมีรายได้จากป่าดงมันอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปี
มีการจัดตั้งสหกรณ์การเกษตรในโครงการพัฒนาพื้นที่บริเวณหนองอึ่งอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จำกัด ขึ้นมาเพื่อบริหารจัดการผลผลิตจากป่ามาผลิตเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อการจำหน่ายสร้างรายได้ให้กับสมาชิกและประชาชนในพื้นที่โดยผลิตภัณฑ์แปรรูปจากป่า จะใช้ชื่อว่า “วนาทิพย์” ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ดีเด่นของจังหวัดยโสธร และรางวัลโอทอป ระดับ 5 ดาว หลายปีติดต่อกัน ภายใต้การสนับสนุนการดำเนินงานในเบื้องต้นจากสำนักงาน กปร.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และคณะอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
ผลสำเร็จของการฟื้นฟูป่าไม้ ของพื้นที่หนองอึ่งได้กลับคืนความอุดมสมบูรณ์เช่นดังเดิม ด้วยพระมหากรุณาธิคุณของทั้งสองพระองค์ที่ได้พระราชทานความช่วยเหลือในการพัฒนาในด้านต่าง ๆ จนประชาชนในพื้นที่สามารถดำรงชีวิตอยู่ในท้องถิ่นของตนเอง มีความอยู่ดีกินดีขึ้นกว่าเมื่อก่อนอย่างเห็นได้ชัด นั่นเพราะเกิดจากการฟื้นฟูป่าไม้และพัฒนาแหล่งน้ำ โดยมีประชาชนในชุมชนมีส่วนร่วมจนทำให้สภาพป่าไม้และน้ำมีความสมบูรณ์ ส่งผลให้เกิดความชุ่มชื้นและเอื้อต่อความสมบูรณ์ของแผ่นดิน ที่เป็นปัจจัยพื้นฐานในการเพาะปลูก เป็นแหล่งอาหารที่สำคัญของคนในชุมชน และสร้างงานเพิ่มรายได้อย่างมหาศาลให้แก่ชุมชนดงมันและราษฎรใกล้เคียง ที่สำคัญชุมชนมีความรัก ความสามัคคี เกิดความรักและหวงแหนทรัพยากรป่าไม้อันมีค่าที่ได้สร้างชีวิตและผืนป่าให้มีความอุดมสมบูรณ์อย่างยั่งยืน
อ้างอิง : dailynews.co.th