data-ad-format="autorelaxed">
เอกชนมั่นใจปี54ราคาสินค้าเกษตรสูงยกแผง “ข้าว-มัน-ยางพารา”ต่างชาติแย่งซื้อดันราคาพุ่ง
สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย มันใจปี 54 ปีทองเกษตรไทย คาดจีดีพี เกษตรโต 4-5% ระบุ ราคาน้ำมันโลกปีหน้าเฉียด 100 เหรียญสหรัฐ ฉุดราคาธัญพืชขึ้นทั้งแผง โดยเฉพาะ “มันสำปะหลัง-อ้อย” แนะรัฐอุดหนุนเกษตรรักษาสิ่งแวดล้อมรับมือมาตรฐานโลกที่จะเข้มข้นขึ้น ด้านศูนย์วิจับกสิกรไทย คาดปี 54 ราคาข้าวเฉลี่ยทั้งปีจะอยู่ที่ 1.15 หมื่นบาทต่อตัน จับตาอินเดียตัวแปลสำคัญจะส่งออกข้าวหรือไม่ ขณะที่ราคายางพาราจะสูงกว่า 100 บาทต่อกิโลกรัมทั้งปี รับอุตสาหกรรมรถยนต์ขยายตัวแรง ในขณะที่มันสำปะหลังต่างชาติ “อียู - จีน” แย่งซื้อ ดันราคาพุ่งเกิน 3 บาทต่อกิโลกรัม ห่วงภัยธรรมาชาติ ศัตรูพืช กดผลผลิตลดฮวบ
ภาคเอกชนมั่นใจปี54ปีทองเกษตรไทย
พรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล ประธานคณะกรรมการธุรกิจเกษตรและอาหาร สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ภาวะการค้าในกลุ่มสินค้าเกษตรในปี 2554 คาดว่าในภาพรวมราคาจะอยู่ในเกณฑ์ที่ดี นับได้ว่าเป็นปีทองของเกษตรกรไทย โดยคาดว่าอัตรา จีดีพี ภาคการเกษตร จะขยายตัวประมาณ 4-5% และยังมีแนวโน้มที่ยังอยู่ในขึ้นต่อไปอีก 2-3 ปี เนื่องจากปัญจัยในการต้องการพลังงาน และราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้นจนคาดว่าในปี 2554 ราคาน้ำมันจะอยู่ที่ 80-90 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล และจะขึ้นไปแตะ 100 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรลในอนาคตอันใกล้ ก็จะทำให้อุตสาหกรรมพลังงานทดแทนทั่วโลกขยายตัวมากขึ้น ประกอบกับภัยพิบัติที่เกิดขึ้นกับพื้นที่เพาะปลูกทั่วโลก ทำให้ฉุดราคาธัญพืชทุกชนิดสูงขึ้นตามทั้งหมด
“มัน-อ้อย”ราคาพุ่งตามน้ำมัน
อย่างไรก็ตามในส่วนของสินค้าข้าวนั้น แม้ว่าหลายประเทศจะต้องการข้าวเพิ่มขึ้น แต่ไทยก็ยังมีคู่แข่งที่น่ากลัวคือเวียดนามที่ได้ก้าวขึ้นมาจนมีศักยภาพการส่งออกใกล้เคียงกับไทย แต่ก็ไม่น่ากังวงมากเท่าไร เพราะคู่แข่งประเทศอื่นๆล้วนแต่ชะลอการส่งออก โดยเฉพาะอินเดียที่คาดว่าในปีนี้คงไม่เปิดส่งออกในสินค้าข้าวขาว ในส่วนพืชหลักชนิดอื่นๆนั้นคาดว่าราคายังอยู่ในเกณฑ์ที่สูง เพราะเกี่ยวพันกับราคาน้ำมันแทบทั้งสิ้น โดยเฉพาะมันสำปะหลัง และอ้อย ที่ราคาจะยังคงอยู่ในเกณฑ์ที่สูง เป็นห่วงแต่เรื่องของศัตรูพืชที่เข้ามาคุกคามจนทำให้ผลผลิตไม่เพียงพอที่จะขาย
แนะรัฐอุดหนุนเกษตรรับมือมาตรฐานโลก
ทั้งนี้แม้ว่าสินค้าเกษตรไทยจะมีอนาคตที่สดใส แต่จากสภาวะสิ่งแวดล้อมโลกที่เสื่อมโทรมลงอย่างรวดเร็ว ทำให้ประเทศที่พัฒนาแล้วโดยเฉพาะในยุโรปต่างตั้งกฎเกณฑ์ในเรื่องสิ่งแวดล้อมและสุขอนามันสูงขึ้นเรื่อยๆ เช่น การปล่อยก๊าซคาร์บอนใดออกไซด์ การใช้น้ำ การทำลายสิ่งแวดล้อม จะเป็นตัวกีดกันสินค้าเกษตรของไทย ซึ่งถ้าประเทศคู่แข่งทำได้ตามมาตรฐานไทยก็จะเสียตลาดส่วนนี้ไป โดยการที่จะปรับปรุงการเกษตรของทั้งประเทศให้ได้มาตรฐานใหม่นี้เป็นสิ่งที่ทำได้ยาก ดังนั้นรัฐบาลจะต้องเป็นตัวหลักในการชักจูงให้เกษตรกรหันมาเดินในแนวทางนี้ เช่นการปรับระบบให้เงินอุดหนุนเกษตรกรใหม่ แทนการชดเชยราคาให้ได้เงินมากเพียงอย่างเดียว เปลี่ยนเป็นการให้เงินอุดหนุนกับเกษตรกรที่ปลูกพืชตามมาตรฐาน จีเอ็มพี การให้เงินอุดหนุนกับเกษตรกรที่ปลูกพืชปลอดสารพิษ เป็นต้น เพราะในระยะแรกของการปลูกพืชแนวทางนี้ผลผลิตจะลดลง ซึ่งถ้ารัฐเข้ามาช่วยเหลือ เช่น เงินทุนในการซื้อเครื่องจักร อุปกรณ์ต่างๆ ก็จะทำให้เกษตรกรมีกำลังใจ และพัมนาการเพาะปลูกจนได้ผลผลิตที่ดีขึ้น ซึ่งถ้าหากมีแนวทางเช่นนี้ เกษตรกรทั้งประเทศ ก็จะค่อยๆหันมาเพาะปลูกในแนวทางอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ทำให้ไทยก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมการเกษตรของโลก แต่ถ้าหากรัฐบาลไม่เริ่มผลักดัน ความได้เปรียบในด้านการเกษตรของไทยจะลดลงเรื่อยๆ และตามไม่ทันประเทศคู่แข่ง
คาดจีดีพีเกษตรปี54โต3%
ในขณะที่ ภคอร ทิพยธนเดชา ผู้จัดการฝ่ายวิจัยเศรษฐกิจจุลภาค ศูนย์วิจัยกสิกรไทย กล่าวถึงแนวโน้มราคาผลผลิตภาคการเกษตรในปีหน้าไปในทิศทางเดียวกันว่า ในปี 2554 จะเป็นปีหนึ่งที่เกษตรกรไทยจะลืมตาอ้าปากได้ โดยในภาพรวมของภาคการเกษตรคาดว่าจีดีพีเกษตรจะขยายตัวประมาณ 2%-3% สูงกว่าในปีนี้ที่ขยายตัว 0% เนื่องจากภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้นทั้งปี แต่อย่างไรก็ตาม การที่ภาคการเกษตรจะโตได้ตามที่คาด จะต้องอยู่บนพื้นฐานที่ไทยจะไม่ประสบกับภัยแล้ง และน้ำท่วมอย่างรุนแรง และไม่มีปัญหาสัตรูพืชระบาดอย่างหนักหน่วง ซึ่งถ้าเกิดเหตุดังกล่าวแล้วการขยายตัวอาจจะต่ำกว่า 2%
คาดราคาข้าวปี54ทะลุ1.15หมื่นบาท
ในส่วนของราคาข้าวนั้น แนวโน้มราคาข้าวในช่วงที่เหลือของปี 2553 นั้น คาดว่า ราคาในตลาดโลกยังคงมีแนวโน้มปรับขึ้น โดยได้รับแรงหนุนจากความต้องการข้าวในตลาดโลก และผลจากสภาพอากาศที่แปรปรวน ซึ่งอาจทำให้ปริมาณการผลิตข้าวลดลง และส่งผลต่อเนื่องให้ราคาข้าวไทยมีแนวโน้มปรับขึ้นเช่นกัน
สำหรับแนวโน้มสถานการณ์ข้าวในปี 2554 คาดการณ์ว่า ราคาข้าวของไทยยังขยับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องถึงช่วงไตรมาสแรกปี 2554 หลังจากนั้นต้องรอดูปริมาณผลผลิตข้าวนาปรัง ซึ่งคาดว่าจะมีปริมาณเพิ่มขึ้นอย่างมาก ส่วนหนึ่งเนื่องจากการปลูกชดเชยข้าวนาปีที่เสียหายจากภาวะน้ำท่วม โดยจะกระทบต่อราคาข้าวขาว แต่คาดว่าราคาข้าวหอมมะลิและข้าวเหนียวยังอยู่ในเกณฑ์สูงต่อเนื่องทั้งปี 2554 โดยคาดว่าเกษตรกรจะขายข้าวได้ราคาเฉลี่ยทั้งปีที่ 11,000-11,500 บาทต่อตัน ขณะที่ราคาในปี 2553 จะเฉลี่ยอยู่ที่ 10,500 บาทต่อตัน ส่วนราคาส่งออกในปีหน้าจะอยู่ที่ 14,500 - 15,000 บาทต่อตัน สูงกว่าในปีนี่ที่อยู่ในระดับ 14,000 บาทต่อตัน โดยปริมาณการส่งออกจะใกล้เคียงกับปีนี้คือประมาณ 8 ล้านตัน ส่วนราคาข้าวเหนียว และข้าวหอมมะลิ จะยังคงอยู่ในขาขึ้นต่อไปจนถึงไตรมาส 3 ปีหน้า
ส่วนปัจจัยที่ยังต้องจับตามอง คือ ผลผลิตข้าวของเวียดนามซึ่งจะกระทบภาวะการแข่งขันในการส่งออกข้าวในตลาดโลก ซึ่งสถาณการณ์ขณะนี้คาดว่าในปีหน้าปริมาณข้าวเวียดนามจะเพิ่มขึ้น เพราะพื้นที่ปลูกข้าวหลักในภาคใต้ไม่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย โดยบริเวณที่ได้รับผลกระทบจะอยู่ในภาคเหนือและภาคกลางที่ปลูกข้าวไม่มาก ซึ่งเวียดนามจะเป็นตัวแปรสำคัญสำหรับข้าวไทย
จับตาอินเดียมีโอกาสส่งออกแข่งไทย
นอกจากนี้ต้องติดตามาการตัดสินใจของอินเดียว่าจะกลับเข้ามาเป็นผู้ส่งออกข้าวหรือไม่ หลังจากที่อินเดียประกาศงดการส่งออกข้าวขาวมาตั้งแต่ปี 2551/52 ในกรณีที่อินเดียกลับเข้าตลาดจะส่งผลกระทบต่อการส่งออกข้าวนึ่งของไทย และส่งผลกระทบให้ราคาข้าวในประเทศไทยมีความผันผวนมากขึ้น อย่างไรก็ตามจากการติดตามสต็อกข้าวของอินเดียพบว่ามีปริมาณสูงขึ้น คาดว่าแนวโน้มที่อินเดียจะส่งออกหรือไม่อยู่ที่ 50:50 ซึ่งถ้าหากอินเดียส่งออกอีกครั้งก็ไม่น่าจะเกิน 2 ล้านตัน ซึ่งจะกระทบกับตลาดข้างนึ่งของไทยในแอฟริกา และตะวันออกกลาง ส่วนผู้ส่งออกข้าวอย่างปากีสถานในปีหน้าก็ไม่น่าเป็นห่วง เพราะประสบภาวะน้ำท่วมอย่างหนัก
คาดราคายางปี54พุ่งได้อีก30%
ในส่วนของยางพารา ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2554 ราคายางน่าจะยังมีทิศทางเป็นขาขึ้น และคาดว่าราคายางเฉลี่ยทั้งปี 54 ไม่ต่ำกว่าระดับ 100 บาท/กก.แน่นอน จากปัจจัยการขยายการลงทุนของกลุ่มบริษัทผู้ผลิตยางรถยนต์ เช่น มิชลิน กู๊ดเยียร์ ซึ่งมีการขยายโรงงานในแหล่งตลาดและแหล่งที่เป็นที่ผลิตยาง รวมถึงประเทศไทย อีกปัจจัยหนึ่งคือการที่ประเทศจีนต้องซื้อยางเพื่อเก็บเข้าสต็อก ซึ่งอาจจะทำให้ราคาเฉลี่ยทั้งปีสูงกว่าปี 2553 ประมาณ 20-30% แต่จะไม่สูงแบบก้าวกระโดดแบบในปีนี้
นอกจากนี้ในปัจจุบันราคายางธรรมชาติ ไม่ได้ถูกกดดันจากราคายางสังเคราะห์แบบในอดีต ที่เมื่อราคายางพาราจะมีขีดจำกันไม่เกินราคายางสังเคราะห์ แต่ในขณะนี้เทคโนโลยีการกลั่นน้ำมันก็เปลี่ยนไป ทำให้ผลิตวัตถุดิบของยางสัมเคราะห์น้อยลงเรื่อยๆ ทำให้ราคายางสังเคราะห์แพงมาก ทำให้เพดานราคายางพาราสูงขึ้นเรื่อยๆ นอกจากนี้สัดส่วนต้นทุนของยางรถยนต์ 1 เส้น คิดเป็นราคายางธรรมชาติเพียง 10% ดังนั้นจึงยังยังมีช่องที่พอจะขึ้นราคาได้อีกแต่ทั้งนี้หากราคายางธรรมชาติเพิ่มขึ้นไปอีกถึง40% ก็จะทำให้ขายยางพาราได้ลดลง
“จีน-อียู”แย่งซื้อมันสำปะหลังดันราคาพุ่ง
สำหรับมันสำปะหลังนั้น ขณะนี้ไทยประสบปัญหามีตลาดแต่ไม่มีของจะขาย เนื่องจากในช่วงตั้งแต่ปี 2552 ไทยประสบปัญหาในการปลูกมันสำปะหลังมาโดยตลอด ซึ่งในปี 2552 เกษตรกรมันสำปะหลังเผชิญกับปัญหาเพลี้ยอย่างหนัก ทำให้ผลผลิตรวมทั้งประเทศลดลงได้ผลผลิตเพียง 21-22 ล้านตันจากที่คาดการณ์ไว้ว่าจะมีผลผลิตสูงถึง 30 ล้านตัน พอมาปี 2553 ก็ประสบทั้งภัยแล้งในช่วงครึ่งปีแรก ครึ่งปีหลังก็ประสบภัยน้ำท่วม และยังมีโรคเพลี้ยระบาดอีกด้วย ทำให้คาดว่าผลผลิตปีนี้จะมีไม่ถึง 20 ล้านตัน ในขณะที่ตลาดมีความต้องการสูงถึง 30 ล้านตัน
ส่วนราคามันสำปะหลังนั้นขึ้นอยู่กับประเทศจีนว่าจะสู้ได้แค่ใหน เพราะปริมาณการส่งออกของไทยกว่า 70% ไปยังประเทศจีน และต้องดูด้วยว่าจีนมีสินค้าอื่นมาผลิตเอทานอลทดแทนมันสำปะหลังหรือไม่ แต่ทั้งนี้หลังจากวิกฤติอาหารในปี 2551 จีนได้ประกาศว่าโรงงานผลิตเอทานอลที่สร้างขึ้นมาใหม่จะต้องใช่มันสำปะหลัง หรือพืชที่ไม่ใช่พืชอาหารมนุษย์ เพื่อป้องกันผลกระทบจากการขาดแคลนอาหาร จึงเป็นโอกาสที่ดีของมันสำปะหลังไทย โดยในปีหน้าคาดว่าราคาธัญพืชทุกตัว โดยเฉพาะข้าวโพด และข้าวฟ้างแดงที่สามารถผลิตเอทานอลได้จะยังคงมีราคาสูงกว่ามันสำปะหลัง จึงทำให้ราคามันสำปะหลังทั้งปียังอยู่ในเกณฑ์ที่สูง แต่จะสูงได้ถึงเท่าไรขึ้นกับผู้ซื้อ แต่ถ้าราคาข้าวโพดยังสูงอยู่ราคามันสำปะหลังก็อาจขยับขึ้นได้อีก จากในปี 2553 ที่ทำลายสถิติสูงที่สุดกิโลกรัมละกว่า 3 บาท
ทั้งนี้คาดว่าในช่วงต้นปีหน้าโรงผลิตแป้งมันสำปะหลังจะเข้ามากว้านซื้อหัวมัน เพื่อผลิตแป้งมันส่งตามออเดอร์ที่รับไว้ ทำให้ราคามันสำปะหลังยังคงมีราคาที่ดีไปจนถึงช่วงกลางปี จากนั้นจะค่อยๆมีผลผลิตรอบใหม่เข้าสู่ตลาด ส่วนการส่งออกมันอัดเม็ดไปยังยุโรปก็คาดว่ายังคงมีราคาที่ดี เพราะในยุโรปหลายประเทศรวมทั้งรัสเซ้ยประสบกับปัญหาคลื่นความร้อนทำให้ผลผลิตทางการเกษตรเสียหาย จึงยังคงนำเข้ามันสำปะหลังของไทยในระดับสูงอยู่ แต่ปัญหาของไทยไม่สามารถให้ความแน่ใจกับผู้ซื้อในยุโรปได้ว่าจะมีปริมาณมันสำปะหลังอัดเม็ดส่งมอบได้ตามออเดอร์ ทำให้ต้องเสียตลาดบางส่วนไป
อ้างอิง: http://th.ke-rice.com