data-ad-format="autorelaxed">
นายสุชัย กิตตินันทะศิลป์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 6 จังหวัดชลบุรี (สศท.6) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรส่วนภูมิภาค ได้บูรณาการศึกษาวอเตอร์ฟุตพริ้นท์ของการผลิตข้าวหอมมะลิ การผลิตข้าว กข การผลิตทุเรียน และการผลิตปาล์มน้ำมันในพื้นที่ส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ โดยพบว่า
ข้าวหอมมะลิ พื้นที่ส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ อ.พร้าว จ.เชียงใหม่ มีปริมาณการใช้น้ำต่อไร่ 995.24 ลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) ต่อไร่ หรือเท่ากับปริมาณการใช้น้ำต่อตันข้าว 1,972.14 ลบ.ม. และในพื้นที่ส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ อ.ห้วยทับทัน จ.ศรีสะเกษ ปริมาณการใช้น้ำต่อไร่ 1,024.80 ลบ.ม. หรือเท่ากับปริมาณการใช้น้ำต่อตันข้าว 2,590.97 ลบ.ม. โดยพื้นที่ อ.ห้วยทับทัน จ.ศรีษะเกษ มีปริมาณการใช้น้ำต่อตันข้าวสูงกว่า อ.พร้าว จ.เชียงใหม่ เนื่องจากพื้นที่ส่งเสริมเกษตรแบบแปลงใหญ่ จ.ศรีสะเกษ มีปริมาณผลผลิตข้าวค่อนข้างน้อย ส่งผลให้ปริมาณการใช้น้ำของพื้นต่อไร่และต่อตันผลผลิตสูงตามไปด้วย
การผลิตข้าว กข พื้นที่ส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ อ.บ้านหมี่ จ.ลพบุรี ปริมาณการใช้น้ำต่อไร่ 1,075.09 ลบ.ม. หรือเท่ากับปริมาณการใช้น้ำต่อตันข้าว 1,378.32 ลบ.ม. และในพื้นที่ส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ อ.บางปลาม้า จ.สุพรรณบุรี ปริมาณการใช้น้ำต่อไร่ 1,053.23 ลบ.ม. หรือเท่ากับปริมาณการใช้น้ำต่อตันข้าว 1,406.46 ลบ.ม. ส่วน อ.ระโนด จ.สงขลา ปริมาณการใช้น้ำต่อไร่ 1,188.14 ลบ.ม. หรือเท่ากับปริมาณการใช้น้ำต่อตันข้าว 1,721.94 ลบ.ม. ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบวอเตอร์ฟุตพริ้นท์ของการผลิตข้าว กข ในพื้นที่ส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ทั้ง 3 แปลง พบว่า แปลงใหญ่ อ.บ้านหมี่ จ.ลพบุรี มีปริมาณการใช้น้ำต่อตันข้าวน้อยที่สุดเพราะมีปริมาณผลผลิตข้าวในพื้นที่ส่งเสริมเกษตรแบบแปลงใหญ่ค่อนข้างมาก
การผลิตทุเรียน พื้นที่ส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ อ.เขาสมิง จ.ตราด ปริมาณการใช้น้ำต่อไร่ 1,525.86 ลบ.ม. หรือเท่ากับปริมาณการใช้น้ำต่อตันผลผลิต 868.45 ลบ.ม. และการผลิตปาล์มน้ำมัน พื้นที่ส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ อ.ท่าแซะ จ.ชุมพร ปริมาณการใช้น้ำต่อไร่ 2,157.34 ลบ.ม. หรือเท่ากับปริมาณการใช้น้ำต่อตันผลผลิต 831.28 ลบ.ม.
ดังนั้น เกษตรกรควรมีการวางแผนการเก็บกักน้ำ และการใช้น้ำให้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ เช่น การขุดสระเพื่อกักเก็บน้ำไว้ใช้ในช่วงขาดแคลนน้ำ และการนำเทคนิคการผลิตสมัยใหม่มาช่วยเพื่อเพิ่มประสิทธิการผลิต เช่น การใช้เทคนิคการปลูกแบบเปียกสลับแห้ง เพื่อใช้น้ำในปริมาณลดลง หรือเลือกวิธีการให้น้ำที่มีประสิทธิภาพและปริมาณที่เหมาะสม เพื่อให้มีประสิทธิภาพการใช้น้ำสูงสุดและคุ้มค่าต่อการลงทุน
source: naewna.com/local/300189