data-ad-format="autorelaxed">
โครงการเกษตรทฤษฎีใหม่ เป็นโครงการตามนโยบายสำคัญในการขับเคลื่อนงานของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ด้วยการส่งเสริมให้เกษตรกร น้อมนำหลักเกษตรทฤษฏีใหม่ไปปรับใช้ในพื้นที่ตนเองได้จริง และเห็นผลเชิงประจักษ์อย่างชัดเจน จำนวน 70,000 ราย โดยเน้นเกษตรกรที่มีความสมัครใจและยังไม่ดำเนินกิจกรรมทฤษฏีใหม่มาก่อน เพื่อดำเนินกิจกรรม ตามแนวทางทฤษฏีใหม่มาปรับใช้ในการดำเนินกิจกรรมทางการเกษตรในพื้นที่ตนเองตามความเหมาะสมและสอดคล้องกับพื้นที่
กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ เป็นอีกหนึ่งหน่วยงานที่ได้ร่วมขับเคลื่อนการดำเนินงานตามโครงการฯ โดยร่วมให้องค์ความรู้การจัดทำบัญชีให้แก่เกษตรกร เกิดความรู้ ความเข้าใจและสามารถจัดทำบัญชีต้นทุนอาชีพได้ พร้อมกับการนำข้อมูลทางบัญชีไปวิเคราะห์วางแผนในการประกอบอาชีพได้อย่างยั่งยืน สามารถพึ่งพาตนเอง ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ สู่คุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
นางบริสุทธิ์ เปรมประพันธ์ อธิบดีกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ กล่าวว่า บุคลากรของกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ในระดับจังหวัด ซึ่งเป็นหนึ่งในคณะกรรมการ Single Command มีภารกิจต้องเข้าสอนแนะนำการจัดทำบัญชีแก่เกษตรกรเป้าหมายทั้งหมด 70,000 ราย และรับผิดชอบในการติดตามเยี่ยมเยียนให้คำแนะนำปรึกษาแก่เกษตรกรในความรับผิดชอบ ในพื้นที่ 62 จังหวัด จำนวน 2,750 ราย มีแนวทางโดยให้มีการจัดพบปะหารือ 5 ประสาน เพื่อให้ปราชญ์เกษตรสร้างแรงผลักดันในการปรับแนวคิดเปลี่ยนวิธีทำ สร้างแรงบันดาลใจให้เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการนำมาปรับทำเกษตรตามแนวทฤษฎีใหม่ พูดคุยหารือร่วมจัดทำแผนผังแปลง จัดทำรายละเอียดแผนการผลิตตามความพร้อมและตามความต้องการของเกษตรกร ประสานขอรับการสนับสนุนจากหน่วยงานภาครัฐในพื้นที่ ภาคเอกชนและสถาบันการศึกษา พร้อมทั้งจัดทำแฟ้มประวัติเกษตรกร เป็นต้น
ขณะนี้อยู่ระหว่างการติดตามความก้าวหน้าของเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการฯ และให้ความรู้เกี่ยวกับการจัดทำบัญชีเพิ่มเติมแก่เกษตรกรที่ยังไม่เข้าใจหรือยังจัดทำบัญชีไม่ได้ พร้อมทั้งให้คำแนะนำ ปรึกษา แลกเปลี่ยนความคิดเห็น แก้ไขปัญหาในการดำเนินกิจกรรมทางการเกษตรของเกษตรกร เพื่อให้เกษตรกรสามารถนำข้อมูลทางบัญชีไปใช้เป็นเครื่องมือในการวิเคราะห์หาแนวทางการลดต้นทุนการผลิต ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ และมีเงินออม อีกทั้งมีการดำเนินกิจกรรมในแปลงตามความเหมาะสมกับพื้นที่ของเกษตรกร เพื่อให้เกิดผลตามแนวทางเกษตรทฤษฎีใหม่
นายประกอบ ศรีวะรมย์ เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการเกษตรทฤษฎีใหม่
ด้าน นายประกอบ ศรีวะรมย์ เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการเกษตรทฤษฎีใหม่ ในพื้นที่จังหวัดนครนายก เป็นตัวอย่างของเกษตรกรที่มีการนำแนวทางเกษตรทฤษฎีใหม่ ไปปรับใช้ในพื้นที่การเกษตรของตนเอง และมีการวางแผนการผลิตให้เหมาะสม โดยใช้ประโยชน์จากข้อมูลการจดบันทึกบัญชีอย่างสม่ำเสมอ เล่าว่า แต่ก่อนที่จะประสบความสำเร็จในอาชีพเกษตรกร เดิมเคยเป็นผู้บริหารบริษัทประกันภัยแห่งหนึ่ง ในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งจากเหตุการณ์อุทกภัยครั้งใหญ่ ทำให้ได้รับผลกระทบจากความเสียหายที่เกิดขึ้นกับบริษัท และยังมีโรคประจำตัว จึงได้ตัดสินใจซื้อที่ดินของญาติพี่สะใภ้จำนวน 1 ไร่ ในพื้นที่อำเภอปากพลี จังหวัดนครนายก ซึ่งเป็นพื้นที่รกร้าง มีต้นยาง และไม้ป่าต่างๆ จึงได้ปรับปรุงพื้นที่และสร้างที่อยู่อาศัยอยู่กับบิดาและมารดา ในช่วงแรกได้ใช้พื้นที่ทั้งหมดปลูกผักไฮโดรโปรนิค โดยใช้น้ำในบ่อของเพื่อนบ้าน ก็ได้ผลดีแต่เกิดปัญหาด้านการตลาดไม่สามารถจำหน่ายในพื้นที่ได้ ต้องนำไปส่งที่ร้านอาหารในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา จำหน่ายได้ราคาที่ถูกกว่าท้องตลาดเพราะไม่มีอำนาจต่อรอง จึงได้ปรับเปลี่ยนพื้นที่มาปลูกพืชผักสวนครัวและผักพื้นบ้าน เช่น ผักกูด ชะมวง ติ้ว มะม่วงหิมพานต์ สะเดา มะนาว ผักหวานป่า ผักหวานบ้าน เพาะเห็ด เลี้ยงจิ้งหรีด เลี้ยงกบ เลี้ยงเป็ดไข่ 100 ตัว เลี้ยงไก่ไข่ 100 ตัว โดยจำหน่ายในชุมชน และตลาดนัดเกษตรกรที่ศาลากลางจังหวัดนครนายก
“การทำเกษตรก็ต้องใช้ระบบการจัดการในรูปลักษณ์เหมือนกับบริษัท หลังจากกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ ได้เข้ามาให้ความรู้ด้านการจัดทำบัญชี ทำให้เรารู้ต้นทุนการผลิต รู้รายรับ รายจ่าย สามารถวางแผนการผลิตในอนาคตได้ว่า รายรับ รายจ่ายเท่าใด จะต่อยอดผลิตภัณฑ์ในแนวทางอย่างไร มีการจดบัญชีให้เป็นระบบมากขึ้น รู้จักวางแผนการจัดการแปลงเกษตร พัฒนาในสิ่งที่เรามีอยู่แล้วให้มีคุณภาพยิ่งขึ้น เป็นเกษตรกรที่รู้จักการจัดการมากยิ่งขึ้น”
หลังจากเข้าร่วมโครงการเกษตรทฤษฎีใหม่ ได้นำแนวทางไปปรับเปลี่ยนรูปแบบการดำเนินกิจกรรมในแปลงให้ลงตัวและเหมาะสมกับพื้นที่ ซึ่งกิจกรรมที่ทำนั้น สามารถที่จะพึ่งพาตนเองได้ในองค์รวม และได้เข้ากลุ่ม Yong Smart Farmer และกลุ่มตลาดเกษตรกรที่มีอยู่ทุกจังหวัด เป็นการขยายเครือข่ายและเพิ่มช่องทางตลาดในการกระจายสินค้าได้มากขึ้น พร้อมทั้งมีการจัดทำบัญชีเป็นประจำ บันทึกรายรับ รายจ่าย เพื่อให้รู้ต้นทุน กำไร ในการประกอบอาชีพ ช่วยในการวางแผนการผลิต สามารถวิเคราะห์ข้อมูลจากรายจ่ายแล้วนำผลิตเอง เพื่อลดรายจ่ายที่เกิดขึ้น เช่น การเลี้ยงไส้เดือนเพื่อนำมาเป็นปุ๋ย โดยสามารถจำหน่ายตัวและขายมูลไส้เดือนให้กับเกษตรกรที่สนใจ หรือการนำผลผลิตจากแกลบ รำ ปลายข้าว ไว้ใช้ในการเลี้ยงสัตว์ ทำให้ลดต้นทุนการเลี้ยงสัตว์ได้ เป็นต้น โดยมีกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ โดยสำนักงานตรวจบัญชีสหกรณ์นครนายก เป็นพี่เลี้ยง คอยดูแล ให้คำปรึกษาและช่วยเหลือตั้งแต่เข้าร่วมโครงการฯ
นางสาวนิลาวรรณ์ ศรีวะรมย์ เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการเกษตรทฤษฎีใหม่
ขณะที่ นางสาวนิลาวรรณ์ ศรีวะรมย์ เกษตรกรอีกหนึ่งรายที่เข้าร่วมโครงการเกษตรทฤษฎีใหม่ ในพื้นที่จังหวัดนครนายก เล่าว่า เดิมเคยเป็นพนักงานบริษัทผลิตอุปกรณ์สำนักงาน ต่อมาได้ทำธุรกิจส่วนตัว คือ เปิดสำนักงานประกันวินาศภัย ซึ่งรายได้ก็ถือว่า ดีพอประมาณ แต่เนื่องด้วยอยู่ในเขตอุสาหกรรมทำให้เรื่องของสุขภาพมีปัญหา จึงทำให้เกิดความคิดที่จะมาใช้ชีวิตอยู่ที่บ้านเกิด สำหรับการเริ่มต้นเป็นเกษตรกร เริ่มจากขุดบ่อน้ำ และปลูกต้นไม้ไว้บางส่วนแต่ก็ยังทำงานควบคู่ไปด้วย จะกลับมาในวันเสาร์และอาทิตย์ ซึ่งทำให้เห็นผลช้า จึงตัดสินใจกลับมาเป็นเกษตรกรเต็มตัว โดยช่วงแรกยังทำแบบลองผิดลองถูก โดยมีข้อมูลจากการไปศึกษาดูงานตามแหล่งเรียนรู้ต่างๆ และข้อมูลทางอินเตอร์เน็ต แต่ก็ยังประสบปัญหาเนื่องจากสภาพอากาศ สภาพดินของแต่ละพื้นที่ไม่เหมือนกัน จึงได้พูดคุย สอบถาม เกษตรกรรุ่นเก่าๆ ในพื้นที่ และเริ่มปรับตัวและเปลี่ยนวิธีการเพื่อให้เข้ากับพื้นที่มากขึ้น โดยทำร่องน้ำเพื่อให้ดินมีการระบายน้ำมากขึ้นในช่วงฤดูฝน ทำเกษตรเป็นแบบเกษตรผสมผสาน คือ ทำนาข้าว 3 ไร่ ทำสวน 2 ไร่ ต่อมาได้เข้าร่วมโครงการเกษตรทฤษฎีใหม่ ดำเนินกิจกรรมในแปลงด้านพืช ประมง และปศุสัตว์ โดยมีกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ โดยสำนักงานตรวจบัญชีสหกรณ์นครนายก เป็นพี่เลี้ยงคอยดูแล ให้คำปรึกษา และช่วยเหลือตั้งแต่เข้าร่วมโครงการ จนถึงปัจจุบันและได้ดำเนินกิจกรรมตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์กำหนด
“การทำเกษตร ไม่ใช่ว่าอยู่ดีๆ จะมาทำได้เองเลย เราต้องศึกษาจากเกษตรกรผู้มีความรู้ หรือ cell ต้นแบบ หรือปราชญ์ชาวบ้าน ผู้ที่เขามีความรู้ในแต่ละเรื่องที่เราอยากรู้ เสร็จแล้วจึงมาลงมือทำในพื้นที่ของตนเอง โดยปรับเปลี่ยนให้เหมาะสม ให้เข้ากับพื้นที่ เพื่อให้เกิดผลผลิตที่ดี สำหรับโครงการเกษตรทฤษฎีใหม่ ที่ได้มีการส่งเสริมในเรื่องการทำบัญชีรายรับ-รายจ่าย ทำให้เราวางแผนการผลิตให้มีคุณภาพมากขึ้น โดยเอาบัญชีมาอ้างอิงว่าเราประสบความสำเร็จหรือยัง ซึ่งถ้ารายรับ รายจ่ายเรายังไม่สมดุลกัน ก็ต้องมีการปรับแผนในการทำการเกษตรของเราให้มีมูลค่ามากขึ้น สิ่งสำคัญคือ ต้องมีการทำเกษตรแบบใหม่ ไม่ยึดติดกับเกษตรแบบเดิม ซึ่งกินใช้ไปวันๆ อาจทำให้คนอื่นมองว่าทำอาชีพเกษตรทำอย่างไรก็ไม่รวย จึงต้องมีการนำบัญชีรายรับ รายจ่าย มาทำให้เพิ่มมูลค่าของเกษตรกรให้มีคุณค่ามากขึ้น ไม่อยากให้เด็กรุ่นหลังมองว่า อย่าไปทำเลยอาชีพเกษตรเลย เพราะทำอย่างไรก็ไม่มีทางรอด จึงอยากจะทำให้อาชีพเกษตรกรติดอยู่ในหัวของเด็กรุ่นใหม่ว่า อาชีพเกษตร เป็นอาชีพหนึ่งที่เลี้ยงตนเอง เลี้ยงครอบครัวได้”
นับเป็นเสียงตอบรับที่ดีของเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการเกษตรทฤษฎีใหม่ ซึ่งไม่เพียงแต่ช่วยปรับเปลี่ยนแนวทางการผลิตให้เหมาะสมมากยิ่งขึ้น ยังช่วยเพิ่มมูลค่าของผลผลิตได้ โดยมีข้อมูลจากบัญชีช่วยนำทาง ต่อยอดสู่ความสำเร็จ
source: siamrath.co.th/n/14171