data-ad-format="autorelaxed">
จากการที่ประเทศไทยประสบปัญหากับภาวะภัยแล้งซ้ำซากปีแล้วปีเล่า โดยเฉพาะในปีนี้ดูเหมือนว่าจะรุนแรงกว่าหลายปีที่ผ่านมา จะเห็นได้ชัดจากการยืนยันของนายชลิต ดำรงศักดิ์ อธิบดีกรมชลประทานเมื่อต้นปีที่ผ่านมา
ที่ระบุชัดว่าปริมาณน้ำ ต้นทุนที่เก็บกักได้ในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั้งประเทศกว่า 400 เขื่อน มีประมาณ 35,000 ล้านลูกบาศก์เมตร จากความจุทั้งหมดทั่วประเทศ 95,640 ล้านลูกบาศก์เมตร จึงสามารถจัดสรรน้ำในช่วงฤดูแล้งของปี 2553 ไว้เพียง 20,720 ล้านลูกบาศก์เมตร จึงถือว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับความต้องการน้ำในภาคเกษตร
ที่ผ่านมาการปล่อยน้ำของกรมชลประทานเพื่อภาคเกษตรนั้นส่วนใหญ่จะเป็นการ จ่ายน้ำเฉพาะในพื้นที่เขตชลประทาน อาทิ พื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ขณะที่ภาคอีสานซึ่งเป็นพื้นที่การเกษตรมีจำนวนมาก และประสบปัญหาภัยแล้งทุกปี กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมชลประทานจึงเสนอโครงการ "การบริหารจัดการน้ำโขง-เลย-ชี-มูล" และขณะนี้โครงการดังกล่าวผ่านความเห็นชอบระดับนโยบายเรียบร้อยแล้ว ทั้งคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ที่มี พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธาน รวมถึงนายธีระ วงศ์สมุทร รมว.เกษตรและสหกรณ์ นายเกษมสันต์ จิณณวาโส อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำและเลขาธิการคณะกรรมการน้ำโขงแห่งชาติ และนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ที่เห็นด้วยต่อแนวคิดเชิงยุทธศาสตร์ในการผันน้ำโขงมาใช้ในภาคอีสาน
โครงการบริหารจัดการน้ำโขง-เลย-ชี-มูล เป็นโครงการผันน้ำจากแม่น้ำโขงที่ปากน้ำเลย อ.เชียงคาน จ.เลย เพื่อนำเอาน้ำเข้ามาใช้ในพื้นที่ภาคอีสาน ผ่านลำน้ำชี และมูล ทั้งนี้เพื่อเป็นการแก้ปัญหาภัยแล้งที่มีอยู่ในพื้นที่ โดยจะมีการทำอุโมงค์ผันน้ำ และคลองส่งน้ำ แต่จะไม่มีการสร้างฝาย หรือ เขื่อนขนาดใหญ่ โดยโครงการนี้มีระยะเวลาดำเนินการ 30 ปี ใช้งบประมาณตลอดโครงการถึง 2 แสนล้านบาท ขณะนี้อยู่ในขั้นการศึกษาความเหมาะสม
เพื่อให้โครงการนี้เดินหน้าต่อไป กรมชลประทานจัดโครงการเดินสายจัดประชุมเพื่อเปิดรับฟังความคิดเห็นของคนใน ภาคอีสานทุกกลุ่ม เพื่อดำเนินตามกรอบโครงการศึกษาความเหมาะสมและผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรืออีไอเอ ( EIA) และการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ หรือเอสอีเอ (SEA) อย่างล่าสุด ได้เชิญนักวิชาการ หัวหน้าหน่วยราชการต่างๆ ในพื้นที่กลุ่มจังหวัดภาคอีสานจัดประชุมเพื่อแสดงความคิดเห็นเป็นครั้งที่ 2 ที่ จ.ขอนแก่น ที่ก่อนหน้านี้ได้จัดประชุมครั้งแล้วที่ จ.นครราชสีมา
นายมนตรี ตันตระกูล วิศวกรใหญ่ที่ปรึกษาด้านวิศวกรรมโยธา กรมชลประทาน ระบุว่า การจัดประชุมขอแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับโครงการบริหารจัดการน้ำโขง-เลย-ชี-มูล ในภาคอีสานก็เพื่อต้องการเปิดตัวโครงการศึกษาความเหมาะสมและผลกระทบสิ่ง แวดล้อม (EIA) และการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (SEA)ของโครงการบริหารจัดการน้ำโขง-เลย-ชี-มูล ให้แก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้รับทราบ ซึ่งต่อไปจะตระเวนไปให้ครบทุกกลุ่มจังหวัดเพื่อนำเสนอโครงการและรับฟังความ คิดเห็นจากทุกกลุ่มในภาคอีสาน
ด้านนายชูลิต วัชรสินธุ์ ผู้จัดการโครงการศึกษาความเหมาะสมและผลกระทบสิ่งแวดล้อม และการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ โครงการบริหารจัดการน้ำโขง-เลย-ชี-มูล โดยแรงโน้มถ่วง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เปิดเผยว่า เบื้องต้นการศึกษาโครงการผันน้ำโขง-เลย-ชี-มูลนั้น จะผันน้ำจากแม่น้ำโขงด้วยอุโมงค์ผันน้ำโดยแรงโน้มถ่วงของโลก ให้น้ำไหลลงสู่ลำพะเนียง และต้นน้ำพอง มีการกระจายน้ำเข้าสู่พื้นที่ชลประทานด้านท้ายอุโมงค์ผันน้ำ พื้นที่ในลุ่มน้ำชี ลุ่มน้ำมูล และพื้นที่ตามคลองชลประทานที่ขุดขึ้นใหม่ จะทำให้สามารถพัฒนาเป็นพื้นที่ชลประทานในลุ่มน้ำชีและลุ่มน้ำมูลได้ประมาณ 17.90 ล้านไร่ นอกจากนี้ในเบื้องต้นพบว่าการผันน้ำโขงโดยแรงโน้มถ่วง สามารถพัฒนาพื้นที่การเกษตรในโขงอีสานได้อีกประมาณ 4 ล้านไร่ รวมเป็นพื้นที่ประมาณ 21.90 ล้านไร่ และโครงการนี้หวังเพิ่มรายได้ต่อครัวเรือนของเกษตรกรภาคอีสานจาก 6 หมื่นบาทต่อครัวเรือนมาเป็น 1.2 แสนบาทเมื่อโครงการสิ้นสุดลง
ส่วนนายอภิชาติ สิงคลีบุตร ประธานเครือข่ายอาสาสมัครทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดขอนแก่น แสดงความคิดเห็นว่า เมื่อรับฟังโครงการก็เห็นด้วยในการดำเนินการเพราะเป้าหมายคือแก้ปัญหาภัย แล้งให้แก่ภาคอีสาน เมื่อมีน้ำใช้จะสามารถแก้ปัญหาภัยแล้งได้ เพราะปัจจุบันเขื่อนอุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น สามารถส่งน้ำให้แก่เกษตรกรใน จ.ขอนแก่น ใช้ได้แค่ 3 อำเภอเท่านั้นจากทั้งหมด 26 อำเภอ โดยพื้นที่ จ. ขอนแก่นเหนือและใต้แทบจะไม่มีน้ำใช้เลย ดังนั้นหากโครงการนี้เป็นไปได้อยากจะให้นำเอาน้ำที่ได้มาไปช่วยเหลือเกษตรกร ในพื้นที่ที่ไม่มีน้ำ แต่ระยะเวลาดำเนินโครงการ 30 ปีถือว่ายาวนานไป หวั่นจะมีผลกระทบหลายด้าน ทั้งด้านสิ่งแวดล้อม ปัญหาชาวบ้านไม่ยอมให้พื้นที่ เพราะการเวนคืนที่ดินยากลำบาก ตรงนี้จะทำอย่างไร
ขณะที่นายวัฒนา วิชิตจันทร์ ตัวแทนจากเขื่อนอุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น กล่าวว่า ปัจจุบันเขื่อนอุบลรัตน์มีการจัดการน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้ง แต่หากมีโครงการนี้เกิดขึ้นจริงจะสามารถระบายน้ำให้เกษตรกรใช้อย่างเต็มที่ แต่ปัญหาตรงที่ว่าข้อมูลปริมาณน้ำโขงที่นำเสนอนั้นเป็นปริมาณน้ำในช่วงปี 2547-2549 แต่ในปีนี้น้ำโขงเกิดวิกฤติแห้งแล้งไม่มีการนำเสนอตรงนี้ จะมีปัญหาหรือไม่ เพราะเมื่อน้ำโขงแห้งขอดจะผันน้ำมาใช้ได้อย่างไร
ก็ นับเป็นอีกโครงการหนึ่งที่น่าสนใจ หากมีการศึกษารอบคอบ โดยไม่กระทบต่อสิ่งแวดล้อม การจ่ายค่าชดเชยที่เป็นธรรม และไม่ลายทำวิถีชีวิตของบ้าน เชื่อว่าโครงการจะช่วยชุบชีวิตชาวอีสานได้เป็นอย่างดี
วิกฤติแล้งยางวพาราอีสานกระทบหนัก
นายทรงศักดิ์ ประจงจัด นายกสมาคมชาวสวนยางจังหวัดเลย กล่าวถึงสถานการณ์ภัยแล้งในปีนี้ว่า ส่งผลกระทบอย่างหนักต่อชาวสวนยางพาราในปัจจุบัน โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคเหนือและภาคอีสาน ซึ่งเกษตรกรชาวสวนยางต้องเผชิญกับปัญหาสภาวะภัยแล้งอย่างหนัก ทำให้ต้นยางพาราที่กำลังผลิใบอ่อนยืนต้นตายเป็นจำนวนมาก ซึ่งสาเหตุที่ทำให้ต้นยางไม่สามารถทนทานต่อสภาวะแวดล้อมดังกล่าวได้ คือลักษณะปลายฝนในแต่ละพื้นที่มีปริมาณน้ำฝนที่ตกลงมาไม่สม่ำเสมอและเกิด ความไม่แน่นอน ทำให้ต้นยางพาราช่วงอายุระหว่าง 1-4 ปี มาเจอสภาพแวดล้อมที่แห้งแล้งและฝนไม่ตก ทำให้ต้นยางใบเหี่ยวแห้ง ร่วงโรยเหลือแต่ลำต้นและเริ่มตายตั้งแต่กิ่งกระโดงกลางลงมา เนื่องจากขาดน้ำไปหล่อเลี้ยงลำต้นและใบอ่อน
ด้านนายพนัส แพชนะ นักวิชาการเกษตร ชำนาญการพิเศษ (8ว) ศูนย์วิจัยยางสุราษฎร์ธานี กล่าวว่า ภาคใต้เองถึงแม้จะมีสภาพแวดล้อมที่เหมาะสำหรับการประกอบอาชีพสวนยางพารา แต่เนื่องจากปีนี้สภาพอากาศไม่ค่อยเอื้ออำนวย การกระจายตัวของฝนก็ไม่ดีเท่าที่ควร ซึ่งภาคใต้ เกษตรกรชาวสวนยางก็ได้รับผลกระทบจากภัยแล้งเช่นเดียวกับเกษตรกรในภาคเหนือ และอีสาน ซึ่งโดยปกติแล้วภาคใต้จะมีฝนตกประปรายในช่วงฤดูแล้งทุกปี จึงทำให้สภาพของพื้นดินโดยทั่วไปมีความชื้น ประกอบธรรมชาติของต้นยางพาราจัดเป็นพืชที่สามารถหลบหนีจากสภาพธรรมชาติที่ โหดร้ายได้เป็นอย่างดี ดังนั้นภาคใต้จึงมักไม่ค่อยมียางพารายืนต้นตาย แต่ปีนี้นับว่าเจอภัยแล้งที่รุนแรงหนัก ซึ่งเริ่มต้นแล้งมาตั้งแต่ปลายเดือนตุลาคมปีที่แล้ว
สุมาลี สุวรรณกร
อ้างอิง : www.komchadluek.net