data-ad-format="autorelaxed">
โรคขาดธาตุเหล็ก (Iron deficiency)
ธาตุเหล็กเป็นแร่ธาตุอาหารที่มีความสำคัญโดยเป็นส่วนประกอบของเอนไซม์ ซึ่งอยู่ในขบวนการของการสร้างคลอโรฟิลล์และเป็นส่วนประกอบของโปรตีน ธาตุเหล็กเป็นธาตุที่ไม่เคลื่อนย้ายในต้นพืช ดังนั้นอาการขาดธาตุเหล็กจึงมักปรากฏหรือเกิดขึ้นที่ใบอ่อน นอกจากนี้พบว่าการขาดธาตุเหล็กพบมากในมะนาวที่ปลูกในดินที่เป็นด่างพบในส้มเขียวหวาน ส้มโอ และส้มตรามะนาว
สาเหตุของโรค : เกิดเนื่องจากการขาดธาตุเหล็กหรือต้นมะนาวไม่สามารถใช้ธาตุเหล็กที่มีอยู่ในดินให้เป็นประโยชน์ได้
ความสัมพันธ์กับดิน : พบอาการขาดธาตุเหล็กกับส้มที่ปลูกในดินค่อนข้างเป็นด่าง (pH มากกว่า 6.5) ดินทรายหรือดินปูนที่ขาดการใส่ปุ๋ยอินทรีย์หรือปุ๋ยคอก ดินที่มีการปลูกพืชต่างๆติดต่อกันเป็นเวลานานโดยไม่มีการฟื้นดินหรือปรับปรุงสภาพดินและในดินที่น้ำทะเลท่วมถึง
ลักษณะอาการ : อาการขาดธาตุเหล็กของส้มนี้จะคล้ายๆกับการขาดธาตุแมงกานีส แมกนีเซียม และสังกะสี โดยทำให้ใบเกิดอาการด่างเหลือง การแยกความแตกต่างว่าเกิดจากการขาดธาตุใดต้องสังเกตให้ดี กล่าวคือ เมื่อมะนาวเกิดการขาดธาตุเหล็กในระยะแรกๆจะพบว่าใบอ่อนตรงเนื้อใบระหว่างเส้นใบจะค่อยๆเหลือง เส้นใบแขนงเริ่มเป็นสีเขียวจางจนเปลี่ยนเป็นสีเหลือง เมื่อใบแก่ขึ้นอาการนี้อาจหายได้ถ้าขาดธาตุเหล็กเพียงเล็กน้อย แต่ถ้าขาดธาตุนี้มากใบจะมีสีเหลืองมากขึ้นจนกลายเป็นเหลืองซีด ใบส้มค่อนข้างบางกว่าปกติ ขนาดอาจเล็กลงและมักเปราะใบร่วงเร็วกว่ากำหนด และปลายกิ่งมักเกิดอาการแห้งตาย ผลส้มมีขนาดเล็กลงหรืออาจไม่ติดผลเลย และมีเนื้อฟ่าม หยาบโดยส่วนใหญ่การขาดธาตุเหล็กมักเกิดรวมกับการขาดธาตุอื่นๆด้วย
การป้องกันหรือแก้ไข
- ในกรณีที่ดินเป็นด่างจัด การแก้ไขทำได้ค่อนข้างยากและต้องการเวลามาก อาจแก้ไขได้โดยการใช้สารเคมีบางชนิด หรือการใช้ปุ๋ยวิทยาศาสตร์ ซึ่งมีผลตกค้างในดินเป็นกรด เช่น การใช้ปุ๋ยพวกไอออนซัลเฟต (SO4) แต่ต้องระมัดระวังเพราะอาจมีผลทำให้โครงสร้างของดินเปลี่ยนไปจนเกิดความไม่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของพืชได้
- หากต้นมะนาวแสดงอาการขาดธาตุเหล็กเพียงเล็กน้อย การใช้ปุ๋ยทางใบหรือธาตุอาหารเสริมทางใบซึ่งประกอบด้วยเกลืออนินทรีย์ของเหล็ก หรือการให้เหล็กซัลเฟต (FeSO4) สามารถช่วยให้ต้นมะนาวมีอาการดีขึ้น
- การใช้เหล็กคีเลท (chelated iron) ใส่ในดินโดยตรงสามารถช่วยแก่ปัญหานี้ได้แต่ต้องใส่ให้ทีละน้อย เพราะอาจเป็นพิษทำอันตรายต่อรากมะนาวได้ถ้าใส่มากเกินไป การให้เหล็กคีเลทต้องเว้นระยะห่างนานพอสมควร คือ ประมาณไม่เกิน 0.5 - 1 กิโลกรัม / ต้น / ปี สำหรับต้นมะนาวขนาดใหญ่
- แนวปฏิบัติประการหนึ่งซึ่งสามารถป้องกันการขาดธาตุเหล็กในมะนาวได้ คือ การปรับความเป็นกรดเป็นด่างของดินให้เหมาะสม (ประมาณ5.6 - 6.5) ในกรณีของดินด่างควรแก้ไขโดยการใช้ปูนยิปซัมและดินกรดควรแก้ไขโดยการใช้ปูนขาว
source: kasetkawna.com/article/163/โรคขาดธาตุเหล็ก