data-ad-format="autorelaxed">
ปลูกไผ่ซาง แทนพืชเชิงเดี่ยว
คณะจิตอาสาในโครงการปลูกป่าเฉลิมพระเกียรติฯ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ( กฟผ. ) ได้เดินทางไปยังจังหวัดอุตรดิตถ์ เพื่อร่วมกับประชาชนในพื้นที่ ปลูกป่าด้วยการน้อมนำพระราชดำริพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมาดำเนินการ โดยการปลูกไม้ 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่างในพื้นที่
คณะจิตอาสาในโครงการปลูกป่าเฉลิมพระเกียรติฯ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ( กฟผ. ) ได้เดินทางไปยังจังหวัดอุตรดิตถ์ เพื่อร่วมกับประชาชนในพื้นที่ ปลูกป่าด้วยการน้อมนำพระราชดำริพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมาดำเนินการ โดยการปลูกไม้ 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่างในพื้นที่
พร้อมกันนี้คณะยังได้เดินทางเยี่ยมชมต้นยางนา ซึ่งเป็นพันธุ์ไม้พระราชทานประจำหน่วยงาน กฟผ. จากสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เพื่อปลูกเป็นปฐมฤกษ์ ในโครงการปลูกป่าถาวรเฉลิมพระเกียรติ กฟผ. ซึ่งปลูกโดย ฯพณฯ พลอากาศเอกกำธน สินธวานนท์ องคมนตรี เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2537 ที่ผ่านมา ณ บริเวณเหนือเขื่อนสิริกิติ์ ซึ่งปัจจุบันได้เจริญเติบโต สร้างความสมบูรณ์ให้ผืนป่า การนี้คณะได้ร่วมกันสร้างฝายชะลอความชุ่มชื้นเพิ่มเติมในลำธารของพื้นที่ใกล้เคียงกับต้นยางนาพระราชทานอีกด้วย
จากนั้นคณะได้เดินทางไปยังพื้นที่ต้นน้ำ ลำน้ำสาขาแม่น้ำน่านในพื้นที่ บ้านงอมมด ตำบลท่าแฝก อำเภอน้ำปาด จังหวัดอุตรดิตถ์ โดยมีดร.สุเทพ เลิศศรีมงคล ผู้อำนวยการเขื่อนสิริกิติ์ พร้อมสื่อมวลชนพันธมิตร ให้การต้อนรับคณะ และนำคณะ ร่วมปลูกป่าเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเนื่องในโอกาสมหามงคลเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติครบ 70 ปี วันที่ 9 มิถุนายน 2559 และเนื่องในโอกาสที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถทรงเจริญพระชนมพรรษา 84 พรรษา 12 สิงหาคม 2559 ในโครงการ “ปลูกป่าถาวรเฉลิมพระ เกียรติ” ภายใต้แนวทาง ปลูกไม้ 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง
ดร.สุเทพ เลิศศรีมงคล ผู้อำนวยการเขื่อนสิริกิติ์ เปิดเผยว่าการปลูกป่าครั้งนี้ได้ใช้พื้นที่ 27 ไร่ที่เมื่อก่อนเป็นพื้นที่ปลูกพืชเชิงเดี่ยว คือ ปลูกข้าวโพด ที่ต้องมีการแผ้วถางป่า ตอนนี้ได้เชิญชวนชาวบ้านให้ปรับเปลี่ยนมาเป็นพืช 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่างแทน เพื่อที่จะให้เกิดประโยชน์แก่ท้องถิ่นสูงสุด ด้วยการนำไม้ไผ่ซางนวล ซึ่งทางสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถได้พระราชทานให้กับทางเขื่อนสิริกิติ์ และทางเขื่อนสิริกิติ์ได้ทำการเพาะพันธุ์และนำมาแจกจ่ายแก่ชาวบ้าน เพื่อปลูกทดแทนการปลูกพืชเชิงเดี่ยว
สำหรับไผ่ในสกุลซางจะนิยมปลูก และพบมากในป่าทางภาคเหนือของประเทศไทย มีเส้นผ่าศูนย์ กลางลำ 3-8 นิ้ว ลำสูง 15-25 เมตร หน่อรับประทานได้ดี ถ้าหน่อใต้ดินจะมีรสหวาน แต่ถ้าถูกอากาศหรือเก็บไว้ข้ามวันจะมีรสขม นิยมนำไปต้มแล้วจิ้มน้ำพริก หรือทำยำหน่อไม้ ส่วนลำใช้ประโยชน์ได้มากมาย เช่น ทำไม้ค้างสำหรับไม้เลื้อยทางการเกษตร การก่อสร้าง ทำตะเกียบ ไม้เสียบอาหารสำหรับปิ้งย่าง ทำเฟอร์นิเจอร์ไม้ไผ่ตั้งแต่ชิ้นเล็กจนถึงชิ้นใหญ่ ปัจจุบันมีการผลิตส่งออกไปต่างประเทศ บางพื้นที่นำมาทำบ้านไม้ไผ่ ส่วนเศษซากจากการแปรรูป เช่น ข้อไม้ไผ่จะนำไปเผาถ่านหรือทำชีวมวลให้โรงไฟฟ้า และทำกระดาษ เป็นต้น
อุตสาหกรรมจากไม้ไผ่ที่เกิดขึ้นจะใช้ไผ่ซางมากที่สุด ปัจจุบันมีโรงงานขนาดเล็กที่ใช้แรงงานในครัวเรือนทำตะเกียบและไม้เสียบอาหารที่ จ.แพร่ จ.ลำปาง จ.อุตรดิตถ์ จ.พะเยา และ จ.น่าน เป็นจำนวนมาก ซึ่งไผ่ซางสามารถขยายพันธุ์ได้โดยการตอนกิ่งแขนงข้างของกอ และประมาณ 3 ปีนับจากวันปลูก ก็จะตัดไปใช้ประโยชน์ได้ขณะที่ระบบรากของไผ่ซางจะอุ้มน้ำได้ดี ถ้ามีป่าไผ่ซางขึ้นที่ใดพื้นที่ตรงนั้นก็จะมีความชุ่มชื้น และเมื่อไผ่ซางเจริญเติบโตก็สามารถตัดไปจำหน่ายเลี้ยงชีพได้
และการปลูกไผ่ครั้งนี้ได้มีการแซมด้วยมะม่วงหิมพานต์ ซึ่งเป็นพืชที่เหมาะสมกับสภาพอากาศของท้องถิ่น เป็นการปลูกทดแทนพืชเชิงเดี่ยวที่ชาวบ้านทำกันอยู่ และในการดำเนินโครงการครั้งนี้มีราษฎรในพื้นที่เข้าร่วมกว่า 398 ครอบครัวและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
source: http://www.dailynews.co.th/agriculture/520977