data-ad-format="autorelaxed">
แคลเซียม (Calcium)
แคลเซียม เป็นแร่ธาตุที่พบในเปลือกโลกประมาณ 5.4 % โดยมวล พบอยู่ในรูปของสารประกอบของ CaCO3 ที่เป็นองค์ประกอบของหินปูน หินงอก หินย้อย ดินมาร์ล เปลือกหอย และพบในสารประกอบซัลเฟต เช่น ยิปซั่ม
แคลเซียม ถือเป็นแร่ธาตุสำคัญที่มีต่อมนุษย์ สัตว์ พืช และสิ่งแวดล้อม จัดเป็นแร่ธาตุหลักที่เป็นส่วนประกอบในร่างกายของมนุษย์ซึ่งจำเป็นมากต่อการเจริญเติบโต ส่วนพืชจัดเป็นธาตุอาหารรองที่เกี่ยวข้องกับการเจริญเติบโตเช่นกัน ในด้านสิ่งแวดล้อม แร่แคลเซียมนั้นพบมากในหินต่างๆตามธรรมชาติ สามารถแตกตัว ละลายน้ำ และทำปฏิกิริยากับธาตุอื่น ทำให้เกิดสภาวะความเป็นกรด-ด่างของสภาพแวดล้อมนั้นๆ
บทบาทแคลเซียมในพืช
พืชจะใช้ประโยชน์จากแคลเซียมในรูปไดวาเลนต์แคลเซียมไอออน เมื่ออยู่ในเซลล์พืช แคลเซียมจะเคลื่อนย้ายทางท่ออาหารได้ยาก พืชใบเลี้ยงคู่ต้องการแคลเซียมสำหรับการเจริญเติบโตมากกว่า พืชใบเลี้ยงเดี่ยวตามขนาดลำต้น และลักษณะเนื้อเยื่อที่แน่นกว่า
ปริมาณแคลเซียมที่พืชต้องการอยู่ในช่วง 300-500 มิลลิกรัม/ลิตร บทบาทแคลเซียมที่มีความสำคัญต่อพืช คือ ช่วยในการแบ่งเซลล์ ช่วยให้เซลล์พืชทำงานเป็นปกติ เป็นองค์ประกอบโครงสร้างของผนังเซลล์ใน middle lamella ซึ่งจะอยู่ในรูปแคลเซียมเพคเตท (calcium pectate) ช่วยให้ท่อน้ำ และท่ออาหารของพืชแข็งแรง ช่วยในการสร้างฮอร์โมนของพืช เช่น ฮอร์โมนไซโตไคนินเพื่อให้เกิดตาดอก
Brewbaker and Kwack (1963) ได้ศึกษาเลี้ยงละอองเกสรของพืชในสารละลายธาตุแคลเซียมร่วมกับสารเคมีต่างๆ พบว่า แคลเซียมมีส่วนสำคัญต่อการงอกของละอองเกสร ช่วยให้หลอดละอองเกสรที่งอกแล้วยืดตัวได้ดี
Hepler and Wayne (1985) รายงานว่า แคลเซียมมีส่วนสำคัญช่วยให้ membrane ทำหน้าที่ได้อย่างปกติ นอกจากนี้ ยังช่วยในการยืดตัวของเซลล์ขณะผสมเกสรเพื่อนำเชื้อสืบพันธุ์เพศผู้เข้าไปผสมเกิดได้เร็วขึ้น ช่วยในการเคลื่อนย้าย และสะสมของคาร์โบไฮเดรต และโปรตีนในพืช เป็นส่วนประกอบของโครงสร้างในลำต้น กิ่ง และใบ ช่วยเพิ่มการติดผล ป้องกันผลร่วง และแตก
นอกจากนี้กฤษณา และคณะ (2543) พบว่า การให้สารละลายแคลเซียมด้วยการพ่นทางใบสามารถเพิ่มปริมาณแคลเซียมในช่อดอกได้ และทำให้การติดผลของมะม่วงเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด
โดยปกติในดินมักไม่ขาดแคลเซียม ยกเว้นในดินที่เป็นกรด ส่วนสภาพดินที่เป็นด่างจะมีปริมาณแคลเซียมมากเกินไป และดินที่เป็นด่างมักมีฟอสฟอรัสสูงซึ่งจะทำให้แคลเซียมรวมตัวกับฟอสฟอรัสเป็นแคลเซียมฟอสเฟตทำให้พืชนำฟอสฟอรัสไปใช้ประโยชน์ไม่ได้ นอกจากนั้น ในดินที่เป็นด่างสูงจะมีผลทำให้พืชนำแร่ธาตุธาตุที่สำคัญบางอย่างไปใช้ประโยชน์ได้ลดลง เช่น เหล็ก ที่ีเป็นธาตุช่วยให้การดูดแคลเซียมดีขึ้น หากขาดธาตุเหล็กจะทำให้เกิดการขาดแคลเซียมในพืช
Source: siamchemi.com