data-ad-format="autorelaxed">
พัฒนากร
พัฒนากร ..ฟันเฟืองตัวเล็กๆในเครื่องจักรใหญ่ แล้วพัฒนากรคือใคร? ทำอะไร?
“ขอบใจมาก ที่ต้องเหน็ดเหนื่อยทำงานในหมู่บ้านชนบท และต้องประสบปัญหาต่าง ๆ มากมาย ขอให้ช่วยกันพัฒนาคนให้มีความ ฉลาด สามารถช่วยตัวเองได้ ให้รู้จักใช้และเห็นคุณค่าความเจริญในด้านวัตถุ เช่น รู้จักนำพลังงานไฟฟ้าจากเขื่อนน้ำพุงนี้ใช้ในบ้าน เรือน และการอุตสาหกรรมขนาดย่อม ในการปฏิบัติงาน ชาวบ้านมักมีความหวาดระแวง และเกรงกลัวเจ้าหน้าที่ข้าราชการ ถือว่าเป็นบุคคลภายนอกหมู่บ้าน ไม่ใช่พวกเดียวกัน การเชื่อถือหรือยอมทำตามคำแนะนำส่งเสริมจึงมีน้อย ดังนั้นจะต้องทำให้ชาวบ้านรู้สึกรักและเชื่อถือว่าเราเป็นพวกเดียว กับเขา มีความปรารถนาจะช่วยเขาอย่างแท้จริง เช่น ให้ความรัก ช่วยเหลือเมื่อเดือดร้อน ทำงานให้จริงจัง ซึ่งต้องใช้ความ พยายาม ความอดทน เป็นอย่างมาก ในการแนะนำส่งเสริมอาชีพ หรือให้คำแนะนำเรื่องต่าง ๆ ต้องทำให้บ่อย ๆ ไม่ใช่พูดหรือทำหนเดียว เพราะชาวบ้านมีประเพณีความเคยชินมานาน และเมื่อแนะนำให้ทำอะไรได้แล้ว ต้องช่วยให้เขาขายได้ด้วย มิฉะนั้นเขาจะเสื่อมศรัทธา ไม่เชื่อถือทำต่อไป ขอให้ช่วยกันแนะนำชาวบ้านราษฎรให้ขยันขันแข็ง มีความฉลาด สร้างความมั่นคงให้แก่ครอบครัว ทำงานหารายได้ และเก็บออม ไว้เมื่อถึงคราวจำเป็น ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการประกันสังคม การสร้างความมั่นคงเป็นปึกแผ่นแก่ครอบครัวชนบทเป็นการป้องกัน ประเทศชาติด้านหนี่ง อย่าเข้าใจว่าการป้องกันประเทศชาติเป็นหน้าที่ของทหารเช่นสมัยก่อน ความมั่นคงของประชาชนชนบท เป็นส่วนที่จะสร้างชาติและป้องกันประเทศอย่างดี ขอบใจ ขอให้สบายดี โชคดีทุกคน และมีความสำเร็จในการงาน”
พระบรมราโชวาทพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวให้แก่ “พัฒนากร” ในวโรกาสเสด็จไปทรงกระทำพิธีเปิดเขื่อนและการพลังงานไฟฟ้า แม่น้ำพุง จังหวัดสกลนคร เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2508
พัฒนากร คือ ข้าราชการสังกัดกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย ซึ่งเดิมทีปฏิบัติหน้าที่ในการรับมอบภารกิจ จากรัฐบาล ให้รับผิดชอบงานด้าน สตรี เด็ก เยาวชน งานหนึ่งที่เคยสำคัญมาก และเป็นที่จดจำของกลุ่มคนบางกลุ่มหรือคนรุ่นเก่าๆ ที่จำได้ว่า ครั้งหนึ่ง เคยมีศูนย์พัฒนาเด็กเล็กในหมู่บ้าน หน่วยงานที่รับผิดชอบคือ “กรมการพัฒนาชุมชน” โดยมี “พัฒนากร” เป็นผู้ขับเคลื่อนการดำเนินงานร่วมกับคนในหมู่บ้านช่วยกันจัดตั้ง “ศูนย์เด็กเล็ก” ขึ้น อาศัยศาลาวัดบ้าง ศาลากลางบ้านบ้าง ให้ “ผู้ดูแลเด็ก”ซึ่งเป็นคนในหมู่บ้าน ได้ช่วยกันดูแลเด็กเล็ก และฝึกวินัยเด็ก ดูแลสุขภาพเด็ก อบรมกล่อมเกลาเด็กก่อนวัยเรียน มีค่าตอบแทนบ้าง ไม่มีบ้าง แต่อาศัยว่า เป็นคนในหมู่บ้าน ดูแลลูกหลานตัวเอง เพื่อให้พ่อแม่เด็กได้มีเวลาไปทำงานเลี้ยงชีพ “พัฒนากร”สร้างชาวบ้าน ให้ทำหน้าที่ครู “เด็กเล็ก” สร้างชุมชนให้เอื้ออาทรซึ่งกันและกัน และเมื่อโตขึ้นมาเป็นเยาวชน “พัฒนากร”ยังตามไปฝึกฝน อบรม “เยาวชน” ในหมู่บ้าน ตำบล ผ่านการจัดค่าย “เยาวชน”สำหรับงานด้านสตรี จัดให้มีการรวมตัวกันของสตรีผ่านการจัดตั้ง “คณะกรรมการพัฒนาสตรี” ระดับหมู่บ้าน ตำบล อำเภอ และจังหวัด
ด้วยการเปลี่ยนแปลงตามยุคสมัย ทำให้ภารกิจที่เคยได้รับมอบจึงถูกเปลี่ยนแปลงไปตามสภาพการณ์ปัจจุบัน อีกทั้งการเปลี่ยนแปลงไปตามวิสัยทัศน์ของหน่วยงานอยู่หลายครั้งหลายครา ทำให้ “พัฒนากร” ต้องปรับเปลี่ยนบทบาทของตนเองตลอดเวลาเพื่อให้พร้อมรับต่อการเปลี่ยนแปลง แต่สิ่งหนึ่งที่ไม่เคยเปลี่ยนไป คือบุคลิกเฉพาะตนของพัฒนากร นั่นคือ “ความอ่อนน้อม” และ “การเสียสละความสุขส่วนตัวเพื่อความสุขส่วนรวม” และปัจจุบันบทบาทที่สำคัญอย่างหนึ่งซึ่ง “พัฒนากร” จะต้องทำหน้าที่อย่างเร่งด่วน คือ การขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจ “ฐานราก”ของประเทศไทย ถือเป็นหน้าที่ที่จะต้องใช้ความพยามยามและความสามารถในการที่จะกระตุ้นและส่งเสริมให้ประชาชนเกิดการสร้างกลุ่มอาชีพเพื่อสร้างรายได้ นับตั้งแต่การจัดเก็บข้อมูลพื้นฐาน (จปฐ.) เพื่อสำรวจความเป็นอยู่ระดับครัวเรือน ข้อมูล กชช.๒ ค ซึ่งเป็นข้อมูลระดับหมู่บ้าน โครงการแก้ไขปัญหาความยากจน (กข.คจ.) การสนับสนุนให้เกิดการจัดตั้ง“กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต” ให้คนในหมู่บ้านช่วยเหลือกันเอง และโครงการหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงต้นแบบ ล้วนผ่านการปูพื้นฐานของ “พัฒนากร”ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ความยากลำบากที่ เหล่า “พัฒนากร”ต้องพบเจอ ต้องเคี่ยวเข็ญในการดำเนินงานครั้งแรกๆ อย่างเช่นนโยบาย “หนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์” และกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง กองทุนพัฒนาบทบาทสตรี และล่าสุดคือ การดำเนินงานสานพลังประชารัฐ ที่สนองตอบนโยบายรัฐบาลเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก
“พัฒนากร” อาจไม่ได้สำคัญถึงขนาดที่ “ชาวบ้าน” จะขาดไม่ได้ แต่ “พัฒนากร” ถือเป็นข้าราชการหัวใจแกร่งที่มีความสามารถในการทำงานภายใต้บริบทที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา เพราะมุ่งหวังที่จะสร้างให้ “ชุมชนเข้มแข็ง เศรษฐกิจฐานรากมั่นคง”
ขอบคุณข้อมูลจาก กรมการพัฒนาชุมชน