การเลี้ยงปลาในกระชัง หมายถึง การเลี้ยงปลาในภาชนะกักขัง ตั้งแต่ลูกปลาไปจนถึงปลาขนาดใหญ่ น้ำสามารถถ่ายเทได้รอบด้านของภาชนะกักขัง
การเลี้ยงปลาแบบนี้สามารถดำเนินการได้ในแหล่งน้ำทั่วไป ในแม่น้ำ อ่างเก็บน้ำ คลองส่งน้ำ แม้แต่ในบ่อที่ขุดแร่ ซึ่งมีน้ำขัง หรือแหล่งน้ำที่เต็มไปด้วยตอไม้ก็ใช้ได้ การเลี้ยงปลาในกระชังเป็นวิธีการหนึ่งที่เหมาะสมทั้งทางเศรษฐกิจและการ ปฏิบัติ นอกจากนั้น วิธีนี้อาจจะนำไปใช้ในแหล่งน้ำกร่อยหรือในทะเลก็ได้การเลี้ยงปลาในกระชัง สามารถปล่อยปลาได้หนาแน่น การให้อาหารสมทบที่สมดุลจะทำให้ปลาเจริญเติบโตเร็ว และให้ผลผลิตสูงในระยะเวลาอันสั้น
ส่วนประกอบอย่างอื่นของตัวกระชัง ก็คือ
๑. ทุ่นสำหรับลอยกระชังชนิดที่ลอยผิวน้ำ ประกอบด้วยทุ่นโลหะหรือพลาสติก หรือท่อพีวีซี (PVC) ปิดหัวท้าย
๒. ฝาปิด ฝาปิดส่วนบนจะช่วยป้องกันศัตรูโดยเฉพาะพวกนก ป้องกันสาหร่ายเกาะตัวกระชัง และป้องกันขโมยและบางโอกาสทำให้ปลาไม่ตื่นตกใจ กินอาหารดีขึ้น ฝาปิดอาจทำด้วยอวน ไม้หรือตาข่ายโลหะ และผักตบชวา
๓. ที่ให้อาหารควรจะต้องมี มิฉะนั้นจะสูญหาย ที่ให้อาหารอาจเป็นแป้นสี่เหลี่ยมมีเนื้อที่ ๑ ตารางเมตร หรือถ้าให้อาหารลอยก็ ควรมีกรอบป้องกันอาหารไหลตามน้ำ
รูปร่างลักษณะของกระชัง ส่วนใหญ่มีรูป สี่เหลี่ยมผืนผ้าหรือสี่เหลี่ยมด้านเท่า บางแห่งสร้างรูปกลมหรือหกเหลี่ยม ขนาดของกระชังมีปริมาตร ตั้งแต่ ๑-๑๐๐ ลูกบาศก์เมตร ขนาดเล็ก๐.๗-๑๐ ลูกบาศก์เมตร ส่วนใหญ่ใช้สำหรับทดลอง แต่ที่ทำเป็นการค้า เช่น ในอินโดนีเซีย อาจมีขนาดถึง ๑๖-๑๕๐ ลูกบาศก์-เมตร การเลี้ยงปลาในกระชังไม่ควรจะทำกระชังขนาดใหญ่เพราะมีข้อเสียหายและความไม่ สะดวกหลายประการในการจัดการ ขนาดกระชังที่เหมาะกับการเลี้ยงปลา ควรมีขนาดความจุ๒๐ ลูกบาศก์เมตร
การเลี้ยงปลาในกระชังมิใช่ของใหม่ แต่มีมาแล้วไม่น้อยกว่า ๑๐๐ ปี การเลี้ยงปลาดังกล่าวกระทำกันตามทะเลสาบ แม่น้ำโขง และสาขาของแม่น้ำโขง ปลาที่เลี้ยงส่วนใหญ่ ได้แก่ ปลาสวาย ปลาเทโพ และปลาดุก การเลี้ยงปลาในกระชังของไทยกระทำกันอยู่ในแม่น้ำน่าน จังหวัดนครสวรรค์ และแม่น้ำสะแกกรัง จังหวัดชัยนาท