สูตรสำเร็จในเจาะตลาดการค้า โดยมองข้างคู่แข่งหันมาชูใบตองไทยสู่ต่างประเทศ พร้อมหาจุดอ่อนเพื่อพัฒนากระบวนการผลิต ไปพร้อมกับปรับกระบวนการทำงานให้เต็มขีดความสามารถ ที่ไม่ส่งผลต่อการความสูญเสีย จนทำให้รายได้เพิ่มจากเดิม 7-8% เป็น 20% อีกทั้งมีผลพลอยได้ซึ่งทำให้คนรู้จักแบรนด์สินค้านี้เพิ่มมากขึ้น
จากใบตองธรรมดา ๆ ได้กลายเป็นสินค้าส่งออกทำรายได้มหาศาล เกือบปีละร้อยล้านบาท โดย ดร.นงนุช อธิพันธุ์อำไพ ทายาทธุรกิจ บริษัท โอชาฟูดแพ็ค จำกัด ซึ่งครอบครัวของเธอแต่เดิมทำธุรกิจเกี่ยวกับอาหารส่งออกมายาวนาน โดยเฉพาะค้าข้าว กระทั่งปีพ.ศ.2551 ได้ลงทุน 70 ล้านบาท เพื่อขยายกิจการสร้างโรงงานอาหารแช่แข็งส่งออกสินค้าเกษตรไทยนานาชนิด ไม่ว่าจะเป็นพืช ผัก และผลไม้ไทย เพื่อต้องการขายให้แก่ชาวเอเชียที่ย้ายถิ่นฐานไปอยู่ในหลาย ๆ ประเทศ รวมไปถึงการส่งออกไปยังร้านอาหารไทยในต่างแดน ที่กำลังได้รับความนิยมมีเปิดใหม่จำนวนมากอีกด้วย
สำหรับการส่งออกผลผลิตเกษตรนั้น ได้ใช้เทคโนโลยี Air Blast โดยแช่เยือกแข็งในอุณหภูมิ -40 องศาเซลเซียส และเก็บรักษาไว้ในห้องเย็นที่อุณหภูมิ -25 องศาฯ เพื่อคงคุณสมบัติความสดไว้ และเมื่อจะนำมาใช้ก็แค่ปล่อยให้ละลายในอุณหภูมิปกติก็สามารถใช้งานได้แล้ว ซึ่งสินค้าส่งออกมีทั้ง ผักแช่เยือกแข็งแทบทุกชนิด เช่น ชะอม กระเพรา สะเดา ใบเตย ฯลฯ และในเวลาต่อมาได้ขยายธุรกิจสู่การแปรรูปขนมหวานไทยแช่แข็งด้วย แต่สินค้าส่งออกมากที่สุดตอนนั้นคือใบตอง แต่ด้วยได้กำไรที่น้อยมาก เฉลี่ยแค่ 7-8% น้อยจนไม่อยากทำ รวมไปถึงก็ใช้แรงงานคนจำนวนมากเช่นกัน ก็เลยคิดจะเลิกทำดีกว่า แต่เมื่อมาดูปริมาณการสั่งที่ยังมีอยู่สม่ำเสมอ อีกทั้งเป็น 1 ใน 3 ของสินค้าที่ส่งออกมากที่สุดด้วย อีกทั้งลูกค้าก็หาซื้อสินค้านี้ได้ยาก เพราะคู่แข่งรายอื่นๆ เลิกทำไปเกือบหมดแล้ว ดร.นงนุช เลยตัดสินใจจะส่งออกใบตองต่อ แต่ต้องหาวิธีจะลดต้นทุน เพื่อเพิ่มกำไรอีกทาง
เพราะฉะนั้นวิธีที่จะทำให้ใบตองกลับมามีกำไรเพิ่มขึ้น ดร.นงนุช ได้ปรับกระบวนการผลิตจากเดิมที่ไม่ค่อยให้ความสำคัญในรายละเอียดมากนัก มองแค่ “ขาเข้า” ที่เกษตรกรนำใบตองมาส่งเป็นม้วนๆ ว่าราคาเท่าไร กับ “ขาออก” ที่แช่แข็งบรรจุเป็นแพคแล้ว ส่งออกได้กำไรเท่าไร จนกระทั่งเจอจุดอ่อนขั้นตอนระหว่างกลางในกระบวนการผลิต โดยเฉพาะเรื่องแรงงานคน ที่ยังไม่สามารถทำงานได้เต็มขีดความสามารถสูงสุด จึงเริ่มปรับมาตรฐานการทำงานให้รวดเร็วขึ้น ควบคู่ไปกับการลดความสูญเสีย ถึงแม้ดร.นงนุช จะเรียนทางด้านวิทยาศาสตร์อาหาร ไม่มีความรู้เรื่องการผลิตในโรงงานเลย ฉะนั้นต้องหาความรู้ใหม่ทั้งหมด โดยเฉพาะเรื่องเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ซึ่งจากเดิมที่คิดว่าใบตองแค่ตัดแต่งทำความสะอาดแล้วแพคแช่แข็งส่งออกก็จบ แต่ไม่เจาะลึกไปว่าพนักงานแต่ละคนมีวิธีหยิบอย่างไร ล้างอย่างไร ตัดอย่างไร พอดูในรายละเอียดถึงได้รู้ว่า แต่ละคนมีวิธีทำไม่เหมือนกัน ดังนั้นจึงค่อย ๆ ปรับทีละจุด เช่น วางใบตองอย่างไรจะตัดได้เร็วขึ้น เป็นต้น และจากที่กระบวนการบรรจุใบตอง 1 ชุด เคยใช้เวลา 191 วินาทีให้เหลือแค่ 90 วินาที เมื่อผลิตได้เร็วขึ้น ค่าใช้จ่ายก็ลดลง ทำให้ผลกำไรได้มากขึ้นตามมา ดังนั้นวิธีนี้ช่วยในการวางแผนจัดการสินค้า และที่สำคัญลดกระบวนการผลิตจาก 3 ขั้นตอนเหลือ 2 ขั้นตอน ประหยัดเวลาการผลิตลงจาก 3 วันเหลือ 2 วัน ลดคนงานส่วนนี้จาก 35 คน เหลือเพียง 23 คน และเมื่อทำงานเสร็จแล้ว ก็ไม่ต้องเปิดโอที ช่วยให้ลดค่าใช้จ่ายเฉพาะส่วนนี้กว่า 1,300,000 บาท ต่อปี ทั้งนี้ปริมาณการส่งสินค้าตอนนี้อยู่เท่าเดิม แต่ได้ผลกำไรมากขึ้น จาก 7-8% ปัจจุบันเพิ่มเป็นกว่า 20%
ส่วนสำหรับใบตองที่ผลิตส่งออกนั้นดร.นงนุชเจาะจงเป็นพันธุ์ตานีเท่านั้น เพราะใบใหญ่และแข็งแรง ซึ่งแหล่งที่มาจะรับซื้อจากกลุ่มเกษตรกรที่รวบรวมมาขายให้โรงงานสัปดาห์ละ 16 ตัน โดยกำหนดทั้งขนาด สี และตรวจเชื้อโรค เพื่อความปลอดภัยให้ได้มาตรฐานการส่งออกด้วย ซึ่งตลาดส่งออกหลัก คือ สหรัฐฯ แคนาดา ออสเตรเลีย และทวีปยุโรป พร้อมทั้งผ่านทางร้านค้าขายส่งสินค้าไทย และร้านอาหารไทยในต่างประเทศที่จะนำใบตองไปใช้ห่อขนมไทย และตกแต่งจานอาหาร นอกจากนี้ทางบริษัทยังส่งออกอาหารแช่แข็งอีกหลากหลายชนิด ทั้งหมวดผัก ผลไม้ และขนมหวาน รวมกว่า 35 รายการ ภายใต้แบรนด์ Ocha และ Red-Drago ทั้งนี้รายได้เมื่อปีที่ผ่านมารวมกว่า 300 ล้านบาท ถ้าเจาะจงเฉพาะใบตองก็ประมาณ 40-50 ล้านบาท แต่ในความเป็นจริงแล้ว สินค้าใบตองที่ส่งไปยังต่างประเทศมีไม่มากนัก ซึ่งกลุ่มลูกค้าค่อนข้างจะเท่าเดิมขายได้เรื่อยๆ แต่อย่างที่ได้กล่าวไปข้างต้น เนื่องจากมีผู้ส่งออกสินค้าชนิดนี้น้อย การแข่งขันจึงไม่สูง ทำให้เราเป็นที่รู้จักของลูกค้าทั่วไป หากต้องการจะสั่งใบตองมักจะนึกถึงบริษัทของเรา อีกทั้งยังมีประโยชน์พลอยได้อีก เช่น สร้างแบรนด์ให้ลูกค้ารู้จัก และเวลาส่งใบตองสามารถสอดแทรกสินค้าอื่นๆ ไปขายต่อได้อีกด้วย
ที่มา
smart sme
smartsme.tv