เพื่อประโยชน์ทางด้านการเกษตร
“…ควรทำเป็นการศึกษาจุลินทรีย์ในพื้นที่ดินพรุ ในพื้นที่ที่ยังไม่ถูกทำลาย เพื่อหาชนิดของจุลินทรีย์ชนิดใหม่ๆ...”
“…ให้นำจุลินทรีย์ที่คัดแยกได้ไปทดลองในพื้นที่ดินเปรี้ยวจัดที่ยังไม่ถูกรบกวน เพื่อเปรียบเทียบผลการทดลองกับการดำเนินงานในพื้นที่แปลงทดลองของศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองฯ...”พระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เมื่อวันที่ 13 มกราคม 2554 ณ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองอันเนื่องมาจากพระราชดำริ
จากพระราชดำริดังกล่าว กรมพัฒนาที่ดินได้ทำการเก็บตัวอย่างดินจากพื้นที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองฯ ดินอินทรีย์บริเวณเส้นทางศึกษาธรรมชาติศูนย์ฯ สิรินธร และดินอินทรีย์บริเวณใจกลางพรุโต๊ะแดง เพื่อศึกษาจุลินทรีย์ทนกรดในพื้นที่พรุ จ.นราธิวาส โดยดำเนินการแยก คัดเลือกจุลินทรีย์ย่อยสลายสารอินทรีย์ และจุลินทรีย์สร้างสารเสริมการเจริญเติบโตของพืช สรุปผลการศึกษาถวายรายงานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จำนวน 4 ครั้ง เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555 17 มกราคม พ.ศ. 2556 14 มกราคม พ.ศ. 2557 และ 25 กุมภาพันธ์ 2558
ดร.อภิชาต จงสกุล อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน กล่าวว่า จากการศึกษา พบว่า พื้นที่พรุเส้นทางศึกษาธรรมชาติศูนย์ฯ สิรินธร และใจกลางพรุโต๊ะแดง พบปริมาณ ชนิด และความหลากหลายของจุลินทรีย์มากกว่าพื้นที่ศูนย์ศึกษาพิกุลทอง ทั้งกลุ่มจุลินทรีย์ย่อยอินทรีย์สารและกลุ่มจุลินทรีย์สร้างสารเสริมการเจริญเติบโตพืช โดยเฉพาะแบคทีเรียตรึงไนโตรเจน แบคทีเรียสร้างฮอร์โมนออกซิน และจิบเบอเรลลิน จะพบมากในดินบริเวณรากพืชสูงกว่าดินนอกอาณาเขตรากพืช นอกจากนั้นยังพบว่าจุลินทรีย์ดินบริเวณรากต้นมะฮังใบใหญ่ และต้นมะฮังใบเล็กซึ่งเป็นพืชเบิกนำมีปริมาณ และกิจกรรมสูงกว่าดินบริเวณรากต้นตังหนใบใหญ่ ซึ่งเป็นพืชที่พัฒนาภายหลัง อีกทั้ง พื้นที่แปลงทดลองของศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองฯ แปลงที่ใส่ปัจจัยต่างๆ ในการจัดการดิน เช่น การใส่หินปูนฝุ่นปรับความเป็นกรดเป็นด่างของดิน การใส่ปุ๋ยหมักเป็นแหล่งคาร์บอนและพลังงานให้กับจุลินทรีย์ และการใส่ปุ๋ยเคมีเพิ่มธาตุอาหาร ส่งผลให้ปริมาณจุลินทรีย์ในดินเพิ่มขึ้นกว่าแปลงที่ไม่ได้ใส่ปัจจัย นอกจากนี้ จุลินทรีย์ย่อยอินทรีย์สารที่มีกิจกรรมสูงส่วนใหญ่เป็นเชื้อรา โดยที่เชื้อราย่อยเซลลูโลส ได้แก่ Trichoderma harzianum, Trichoderma asperellum, Gliocladium viride, Talaromyces sp. และPenicillium janthinellum เชื้อราย่อยอินทรีย์ฟอสฟอรัส ได้แก่ Aspergillus sp. และ Aspergillus fumigates ส่วนจุลินทรีย์ย่อยโปรตีนเป็นแบคทีเรีย ได้แก่ Bacillus subtilis และ Serratia marcescens
จุลินทรีย์ที่คัดเลือกได้จากพื้นที่กลางพรุโต๊ะแดง พบว่า เชื้อรามีประสิทธิภาพและโดดเด่นในการย่อยสลายเซลลูโลส และอินทรีย์ฟอสฟอรัส โดยเฉพาะการผลิตเอนไซม์คาร์บอกซีเมทธิลเซลลูเลส ซึ่งย่อยโครงสร้างเซลลูโลสที่ย่อยสลายง่ายมีกิจกรรมสูงกว่าเชื้อราที่คัดเลือกได้จากโครงการแกล้งดินในศูนย์ศึกษาพิกุลทองและพื้นที่พรุเส้นทางศึกษาธรรมชาติศูนย์ฯสิรินธร ส่วนการผลิตเอนไซม์ เซลลูเลสย่อยกระดาษกรอง ซึ่งเป็นเอนไซม์ย่อยโครงสร้างที่ย่อยยากมีกิจกรรมไม่แตกต่างกันมากนัก ส่วนจุลินทรีย์ย่อยโปรตีนเป็นแบคทีเรียผลิตเอนไซม์โปรตีนเอสสูง ใกล้เคียงกับพื้นที่พรุเส้นทางศึกษาธรรมชาติศูนย์ฯสิรินธร
นอกจากนี้ แบคทีเรียผลิตฮอร์โมนออกซินที่คัดเลือกได้จากศูนย์ศึกษาพิกุลทอง สามารถผลิตออกซินสูงกว่าที่คัดเลือกได้จากพื้นที่พรุเส้นทางศึกษาธรรมชาติศูนย์ฯสิรินธรและกลางพรุโต๊ะแดง ส่วนแบคทีเรียผลิตฮอร์โมนจิบเบอเรลลินสูงคัดเลือกได้จากพื้นที่กลางพรุโต๊ะแดง นอกจากนั้นยังพบว่าเฉพาะพื้นที่กลางพรุโต๊ะแดงเท่านั้นสามารถคัดเลือกแบคทีเรียที่ผลิตฮอร์โมนได้ทั้งออกซินและจิบเบอเรลลิน จำแนกได้เป็น Bacillus sp. ส่วนจุลินทรีย์ทนกรดที่คัดเลือกได้จะนำมาทดสอบประสิทธิภาพ
โรงเรือนกระจก และภาคสนาม ศึกษาการเจริญเติบโตและผลผลิตของข้าว การดูดใช้ธาตุอาหารของข้าว และการเปลี่ยนแปลงสมบัติทางเคมีของดิน และพัฒนาเป็นนวัตกรรมผลิตภัณฑ์จุลินทรีย์ใช้ประโยชน์ในพื้นที่ดินเปรี้ยว เพื่อเพิ่มศักยภาพการผลิตพืช
อย่างไรก็ตาม สำหรับเชื้อจุลินทรีย์บริสุทธิ์สายพันธุ์ต่างๆ ที่คัดแยกได้จากพื้นที่พรุ และข้อมูลที่ได้จากการศึกษาจะเก็บรวบรวมเป็นฐานข้อมูลเพื่อนำไปพัฒนาใช้ประโยชน์ในด้านต่างๆ โดยเฉพาะทางการเกษตรต่อไป
จาก naewna.com