data-ad-format="autorelaxed">
ผู้เขียน: รศ.สุชาตา ชินะจิตร
คาร์โบฟูแรน (Carbofuran)
เป็นยาฆ่าแมลง ซึ่งใช้กันแพร่หลายทั่วไป แต่อาจจะไม่รู้จัก แต่ถ้าพูดถึง คูราแทร์ 3% จี หรือฟูราดาน แล้วทุกคนจะต้องร้องอ๋อทันที โดยเฉพาะชาวนาน ชาวสวน ชาวไร่ เนื่องจากชื่อดังกล่าวเป็นชื่อทางการค้าของคาร์โบพูแรน
ชาวนาใช้คาร์โบฟูแรนกำจัดแมลงบั่วในนาข้าวหลังการหว่านข้าว หรือหลังการปักดำ ขณะที่ชาวสวน-ชาวไร่ ใช้คาร์โบฟูแรนกำจัดพวกหนอนและด้วงหลายชนิดที่ทำลายพืชไร่ของพวกเขา เช่น หนอนกระทู้ หนอนเจาะลำต้นข้าวโพด หนอนเจาะยอดข้าวฟ่าง หนอนแมลงวันเจาะต้นถั่วเหลืองและถั่วฝักยาว ด้วงงวงมันเทศ ด้วงหลอดยาวมันสำปะหลัง เป็นต้น
วิธีการใช้ส่วนมากจะใช้หยอดหลุม หรือโรยตามร่องตอนปลูก ที่สำคัญต้องพยายามอย่าทำให้ผงเกิดการฟุ้งกระจาย เนื่องจากผลิตภัณฑ์ที่มีขายอาจผสมคาร์โบฟูแรนอยู่ในตัวทำละลาย ที่อาจไวไฟได้
อย่างไรก็เมื่อเกิดไฟไหม้ตัวมันเองจะให้ควันพิษ รวมทั้งไนโตรเจนออกไซด์ ซึ่งเป็นก๊าซพิษตัวหนึ่ง เมื่อเข้าสู่ร่างการโดยการสูดดม หรือกลืนกินเข้าไป จะเกิดอาการวิงเวียน เหงื่อแตก อาเจียน กล้ามเนื้อเกร็ง น้ำลายฟูมปาก และอาจหมดสติได้ ดังนั้นเวลาใช้คาร์โบฟูแรนจึงควรระมัดระวัง อย่าสูดเข้าไป อย่ากินอาหารหรือดื่มน้ำและเครื่องดื่มต่าง ๆ ระหว่างการใช้สารตัวนี้ ต้องล้างมือก่อนกินหรือหยิบอะไรใส่ปาก อีกประการหนึ่งในการขนส่งจะต้องไม่ขนส่งไปพร้อมกับอาหารและของกินได้อย่างเด็ดขาด เนื่องจากอาจเกิดอุบัติเหตุปนเปื้อนได้...
หมายเหตุ
คาร์โบฟูแรน
เป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 ตามพรบ. วัตถุอันตราย ควบคุมโดยกรมวิชาการเกษตร
กระบวนการ แบนคาร์โบฟูราน ในอเมริกา: การต่อสู้เพื่อปกป้องสุขภาวะของสังคม
โดย.... ฝ่ายข้อมูล มูลนิธิชีววิถี
ความสำเร็จของการแบนคาร์โบฟูราน ในอเมริกาเป็นอุทาหรณ์สำหรับการต่อสู้เพื่อระงับการขึ้นทะเบียนในประเทศไทยในช่วงปี 2554 และให้บทเรียนถึงความยากลำบากในการท้าทายอำนาจบรรษัทเคมีเกษตรระดับโลก ที่แม้แต่ EPA (Environmental Protection Agency) หน่วยงานรัฐซึ่งมีข้อมูลการวิจัยถึงความอันตรายร้ายแรงของสารเคมีชนิดนี้กว่า 10 ปี ต้องผ่านการต่อสู้ทางกฎหมายหลายครั้งจนได้รับชัยชนะในศาลฎีกาเมื่อพฤษภาคม 2554 ที่ผ่านมา
การประเมินความเสี่ยงของสารเคมีกำจัดศัตรูพืชในอเมริกามีขึ้นทุก 10 ปี[1]เพื่อปรับค่าการตกค้างสูงสุดของสารเคมีในอาหารหรือ MRL (Maximum Residue Limit) ให้เหมาะสมกับการพัฒนาทางเลือกเพื่อควบคุมศัตรูพืชที่ปลอดภัยกว่า สำหรับคาร์โบฟูราน การประเมินได้เริ่มต้นขึ้นกลางค.ศ. 2005 และในปีถัดมา EPA มีข้อสรุปว่าการตกค้างของคาร์โบฟูรานในอาหารมีความเสี่ยงร้ายแรงเกินกว่าจะยอมรับได้[2] แต่การวิจัยยังคงดำเนินต่อไปเพื่อยืนยันผลการศึกษาดังกล่าว พร้อมกับมีการประเมินข้อมูลความปลอดภัยเพิ่มเติมจากบริษัท FMC Corporation ซึ่งเป็นเจ้าของทะเบียนการค้าคาร์โบฟูรานเพียงแห่งเดียวในอเมริกา
จนกระทั่งปี 2008 EPA ได้ข้อสรุปว่าผลการวิจัยทั้งหมดชี้ชัดถึงความอันตรายของสารคาร์โบฟูรานที่ตกค้างในอาหารไม่ว่าจะอยู่ในระดับใดก็ตาม (โดยเฉพาะเมื่อผู้บริโภคไม่ได้รับประทานอาหารที่มีสารเคมีตกค้างเพียงมื้อเดียว) จึงได้ยื่นเรื่องเข้าสู่กระบวนการพิจารณาเพื่อแบนคาร์โบฟูรานเมื่อ 31 กรกฎาคม 2008[3] ต่อมา EPA มีมติยกเลิกค่า MRL ของคาร์โบฟูรานในผลผลิตทางการเกษตรทั้งหมด (ซึ่งเทียบเท่ากับการห้ามใช้สารเคมีชนิดนี้) ในวันที่ 15 พฤษภาคม 2009 (กฎเกณฑ์มีผลบังคับใช้เมื่อ 31 ธันวาคม 2009)[4] พร้อมกับสนับสนุนให้เกษตรกรใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่มีความเสี่ยงน้อยกว่าหรือวิธีการอื่นที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
อย่างไรก็ตาม บริษัท FMC Corporation ได้แสดงข้อคิดเห็นต่อมติดังกล่าวซึ่งมีการโต้ตอบจาก EPA ดังต่อไปนี้
1. FMC ยื่นผลการวิเคราะห์ความเสี่ยง (risk analysis) เพิ่มเติมที่ระบุว่าการบริโภคอาหารที่มีคาร์โบฟูรานตกค้างหลายๆมื้อมีความปลอดภัยสำหรับเด็ก แต่ไม่ได้แนบข้อมูลและรายละเอียดของการประเมิน และ EPA ไม่สามารถทำการวิเคราะห์ที่มีผลลัพธ์ที่คล้ายคลึงกันได้ จึงนับว่าผลวิเคราะห์ไม่มีความสมบูรณ์และไม่สามารถเชื่อถือได้
2. การวิเคราะห์ความเสี่ยงของทางบริษัทเคมีเกษตรยังมีข้อบกพร่องสำคัญในการสันนิษฐานว่าในสภาวะปกติ ผลลัพธ์ต่างๆมีความแน่นอนและจะเกิดขึ้นตามสมมุติฐาน เช่น การตอบสนองต่อสารเคมีสำหรับเด็กและผู้ใหญ่ใกล้เคียงกัน หรือผลกระทบทางสุขภาพของคาร์โบฟูรานสามารถแก้ไขได้ง่าย เป็นต้น แต่ในความเป็นจริง ข้อมูลและการสันนิษฐานเหล่านี้ไม่สามารถรับประกันความปลอดภัยของผู้บริโภคโดยเฉพาะเด็กได้
3.ความเสี่ยงเฉียบพลันต่อเด็กเป็นความกังวลสำคัญของ EPA การพิจารณาปริมาณสารเคมีที่สามารถตกค้างได้ในอาหารจึงเป็นเรื่องที่ต้องการการวิเคราะห์ที่ละเอียด รอบคอบ และสามารถสร้างความมั่นใจได้ในสถานการณ์ต่างๆ โดยเฉพาะเมื่อคาร์โบฟูรานมีความเป็นพิษสูง หลักปฏิบัติที่ยึดในการระมัดระวังไว้ก่อนจึงเป็นส่วนหนึ่งของการตัดสินใจแบนคาร์โบฟูราน
นอกเหนือจากข้อคิดเห็นดังกล่าว FMC พร้อมด้วย 3 สมาคม (สมาคมผู้ปลูกข้าวโพด ทานตะวัน และมันฝรั่ง) ได้ยื่นคัดค้านมติการแบนคาร์โบฟูรานและขอให้มีการไต่สวน (administrative hearing) การวิจัยของ EPA ในประเด็น
1. การเลือกปัจจัยด้านความปลอดภัยที่เหมาะสมของเด็ก
2.การประเมินโอกาสการสัมผัสคาร์โบฟูรานที่ตกค้างในแหล่งน้ำดื่ม
3.การประเมินความเสี่ยงจากการบริโภคอาหาร และ4.อำนาจของ EPA ในการจำกัดข้อมูลสนับสนุนที่ถูกยกขึ้นในการคัดค้านและการแสดงความคิดเห็นของบริษัทในอดีต
เนื่องจากผลการศึกษาวิจัยที่มีอยู่มีหลักฐานเพียงพอและเชื่อถือได้ EPA จึงมีคำตัดสินไม่รับพิจารณาคำค้านและคำขอดังกล่าว และให้ความเห็นว่าประเด็นที่ทางบริษัทและสมาคมทั้ง 3 ค้านไม่เกี่ยวข้องกับการปกป้องความปลอดภัยของผู้บริโภคโดยเฉพาะเด็กและทารกแต่อย่างใด ในเวลาต่อมา FMC และสมาคมที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินการทางกฎหมายและยื่นขออุทธรณ์คำสั่งแบนต่อศาล US Federal Court of Appeals โดยในกรกฎาคม 2010 มีคำตัดสินสนับสนุนการแบนคาร์โบฟูรานในผลผลิตทุกประเภท ยกเว้นสินค้าเกษตรนำเข้า 4 ชนิดได้แก่ ข้าว อ้อย กล้วย และกาแฟ
การอุทธรณ์ดำเนินต่อไปในศาล DC Circuit Court of Appeals จนกระทั่งมาถึงศาลฎีกาซึ่งมีคำตัดสินสุดท้ายไม่รับคำร้องเพื่อยกเลิกการแบนคาร์โบฟูรานในเดือนมีนาคม 2011 ซึ่งนับว่าเป็นชัยชนะของการปกป้องคุ้มครองพลเมืองอเมริกันจากสารเคมีที่มีความอันตรายและความเสี่ยงมากที่สุดชนิดหนึ่ง
สำหรับประเทศไทยซึ่งไม่มีการเฝ้าระวังและจัดการกับปัญหาสารเคมีตกค้างในอาหารและแหล่งน้ำที่เข้มงวดเพียงพอ แต่ในปี 2553 ยังมีการนำเข้าคาร์โบฟูรานมากถึง 5,301,161กิโลกรัม (มูลค่า 148,870,091 บาท) ซึ่งมากกว่าอเมริกาถึง 12 เท่า (การใช้ประมาณ 4.5 แสนกิโลกรัมต่อปี) และได้เพิ่มมากขึ้นเกือบเท่าตัวภายในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2554 จึงเป็นเรื่องยากที่จะหลีกเลี่ยงผลกระทบอันร้ายแรงจากสารเคมีกำจัดแมลงชนิดนี้
ประสบการณ์จากอเมริกาชี้ให้เห็นว่า การแบนคาร์โบฟูรานมีความจำเป็นเพื่อปกป้องสุขภาพของเกษตรกรและผู้บริโภคเนื่องจากผลการศึกษาทั้งหมดที่ปราศจากอคติจากผู้มีผลประโยชน์ทับซ้อนระบุอย่างชัดเจนถึงความอันตรายและความเสี่ยงจากคาร์โบฟูราน อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยยังมีสารเคมีกำจัดศัตรูพืชอีกหลายชนิดทั้งในและนอกบัญชีเฝ้าระวังของกรมวิชาการเกษตรที่ยังต้องการการพิจารณายกเลิกหรือควบคุมการใช้ ภาครัฐซึ่งมีอำนาจทางกฎหมายโดยตรงมีหน้าที่บรรเทาความเสี่ยงจากสารเคมีกำจัดศัตรูพืชด้วยการแบนสารเคมีที่หลายประเทศห้ามใช้ จำกัดการนำเข้าสารเคมีที่มีความอันตรายสูง เปิดเผยข้อมูลความปลอดภัยที่ครบถ้วนต่อสาธารณะ พร้อมกับสนับสนุนทางเลือกเพื่อการจัดการศัตรูพืชที่ปลอดภัยกว่า ที่สำคัญ ผู้ได้รับผลกระทบหรือเกษตรกรและผู้บริโภคมีหน้าที่ผลักดันให้การทำงานของภาครัฐดำเนินไปอย่างมีประสิทธิภาพและโปร่งใส เพราะสารเคมีเป็นปัญหาเชิงระบบที่ต้องการความตระหนักและความร่วมมือจากทุกคนในสังคม
ข้อมูลจาก
chemtrack.org/News-Detail.asp?TID=1&ID=32
biothai.net/node/9962