data-ad-format="autorelaxed">
ผลิตก๊าซชีวภาพ จากผักตบชวา ด้วยจุลินทรีย์ ศักยภาพสูงจากธรรมชาติ
ผักตบชวา เป็นวัชพืชน้ำอันก่อปัญหาสิ่งแวดล้อมที่สำคัญ ทาง รศ.วุฒิชัย กปิลกาญจน์ อธิการบดี มหาวิทยาลัยเกษตร ศาสตร์ รศ.ดร.สมบัติ ชิณะวงศ์ รองอธิการบดี วิทยาเขตกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม ผศ. ดร. ชานันก์ สุดสุข คณบดี ดร.อนามัย ดำเนตร ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายการศึกษาและวิเทศสัมพันธ์ มอบหมายให้ รศ.ดร.จุรีย์รัตน์ ลีสมิทธิ์ หัวหน้าโครงการวิจัยด้านทรัพยากรจุลินทรีย์ โครงการจัดตั้งสายวิชาจุลชีววิทยา และทีมงานวิจัย ประกอบด้วย รศ.จิตราภรณ์ ธวัชพันธุ์ สาขาพฤกษศาสตร์ สายวิชาวิทยาศาสตร์ นายขวัญชัย นิ่มอนันต์ โครงการจัดตั้งสายวิชาจุลชีววิทยา และนายกิตติเดช โพธิ์นิยม วิศวกร ประจำศูนย์เครื่องจักรกลการเกษตรแห่งชาติ สถาบันวิจัยและพัฒนา กำแพงแสน ร่วมกันทำงานวิจัยเพื่อชุมชน เรื่อง การผลิตก๊าซชีวภาพจากผักตบชวาด้วยจุลินทรีย์ศักยภาพสูงจากธรรมชาติ ซึ่งขณะนี้พร้อมเปิดอบรมและถ่ายทอดเทคโน โลยีสู่ชุมชนที่สนใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งชุมชนที่ประสบปัญหาจากผักตบชวา
รองศาสตราจารย์ ดร.จุรีย์รัตน์ เปิดเผยว่าห้องปฏิบัติการวิจัย “ทรัพยากรจุลินทรีย์” ของคณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ ศึกษาจุลินทรีย์ที่เก็บตัวอย่างมาจากแหล่งธรรมชาติ อาทิ ดิน ทราย น้ำ น้ำทะเล สิ่งแวดล้อม นำจุลินทรีย์ธรรมชาติสายพันธุ์ต่าง ๆ จากคลังจุลินทรีย์ มาศึกษาคุณสมบัติและศักยภาพของจุลินทรีย์ และทำงานวิจัยด้านการใช้ประโยชน์จากจุลินทรีย์ธรรมชาติในแง่มุมต่าง ๆ ได้แก่ ด้านการเกษตร อาทิ จุลินทรีย์ช่วยเพิ่มผลผลิตในผัก จุลินทรีย์ช่วยต่อต้านโรคพืช จุลินทรีย์ช่วยต่อต้านเพลี้ยชนิดต่าง ๆ จุลินทรีย์ช่วยต่อต้านหนอนผักหลายชนิด ด้านอุตสาหกรรม อาทิ จุลินทรีย์ที่สร้างเอนไซม์ชนิดต่าง ๆ สำหรับอุตสาหกรรมกระดาษ อุตสาหกรรมอาหารสัตว์ และ ด้านสิ่งแวดล้อม อาทิ จุลินทรีย์ ที่ย่อยสลายน้ำมัน จุลินทรีย์ที่บำบัดสารมลพิษ เป็นต้น
สำหรับงานวิจัยเรื่องการผลิตก๊าซชีวภาพจากผักตบชวา ด้วยจุลินทรีย์ศักยภาพสูงจากธรรมชาตินั้น ทีมวิจัยได้ศึกษาคุณสมบัติของจุลินทรีย์ธรรมชาติ จากจำนวนหมื่น ๆ สายพันธุ์ พบจุลินทรีย์ธรรมชาติบางสายพันธุ์ที่มีความสามารถย่อยสลายเส้นใยผักตบชวาซึ่งเป็นวัชพืชได้ ในกลุ่มจุลินทรีย์ธรรมชาติบางสายพันธุ์ที่สามารถย่อยสลายเส้นใยผักตบชวาได้ เหล่านี้มีลักษณะการย่อยและผลผลิตที่เกิดขึ้น จำนวน 3 แบบ ได้แก่
1. ย่อยสลายผักตบชวา โดยไม่เกิดผลผลิตเป็นก๊าซ 2. ย่อยสลายผักตบชวา โดยมีผลผลิตเป็นก๊าซ แต่เป็นก๊าซชนิดไม่ติดไฟ และ 3. ย่อยสลายผักตบชวา โดยมีผลผลิตเป็นก๊าซ และเป็นก๊าซติดไฟ ทีมวิจัยจึงได้นำกลุ่มจุลินทรีย์ที่เกิดผลผลิตลักษณะที่ 3 มาศึกษาวิจัยเปรียบเทียบ ศักยภาพในการผลิตก๊าซติดไฟ จากการย่อยสลายผักตบชวา และได้คัดเลือกจุลินทรีย์ธรรมชาติจำนวน 2 สายพันธุ์ ที่มีศักยภาพสูงในการผลิตก๊าซติดไฟจากการย่อยสลายผักตบชวานี้ มาประยุกต์ใช้ในการย่อยสลายผักตบชวา แล้วเก็บก๊าซชีวภาพที่เกิดขึ้น นำมาใช้เป็นแหล่งพลังงาน สำหรับครัวเรือนและชุมชนขนาดเล็ก อาทิ ใช้หุงต้ม ใช้เป็นเชื้อเพลิงอุปกรณ์การเกษตร เช่น เครื่องสูบน้ำ เป็นต้น
ขณะนี้ทีมวิจัย พร้อมเผยแพร่ผลงานวิจัยสู่ชุมชน โดยคณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน จะจัดการเปิดอบรม ให้แก่ผู้นำชุมชนที่มีปัญหาสิ่งแวดล้อมจากผักตบชวา และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กำลังดำเนินการร่วมมือกับองค์กรการกุศล เพื่อนำโครงการนี้ เป็นประโยชน์สู่สาธารณะ ในอนาคตอันใกล้นี้
ผู้สนใจติดต่อ รศ.ดร.จุรีย์รัตน์ ลีสมิทธิ์ หัวหน้าโครงการวิจัยด้านทรัพยากรจุลินทรีย์ โครงการจัดตั้งสายวิชาจุลชีววิทยา คณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม 73140 โทรศัพท์ 0-3428-1105-6 ต่อ 7653-7654, 08-3559-8448 อีเมล [email protected] เฟซบุ๊ก : jureeratku ไลน์ ไอดี : ajmaew ได้ในวันเวลาราชการ.
ข้อมูลจาก dailynews.co.th